การลงประชามติเอกราชติมอร์ตะวันออก ปี 1999 นับเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ของชาวติมอร์ตะวันถึงการเป็นเอกราชจากอินโดนีเซีย หลังการตกเป็นอาณานิคมของหลายชาติ โดยเฉพาะช่วงประธานาธิบดีซูฮาร์โต ซึ่งได้ใช้ความรุนแรงและกดขี่ติมอร์ตะวันออกอย่างหนักหนวง ต่อมาสถานการณ์ต่างๆ เริ่มดีขึ้นหลังการก้าวลงจากอำนาจของ ซูฮาร์โต หลังอินนีเซียเผชิญกับวิกฤตการเงินเอเชีย
การลงประชามติเอกราชติมอร์ตะวันออก เกิดขึ้นจากการดำเนินการของบาคารุดดิน ยูซุฟ ฮาบีบี ประธานาธิบดีของอินโดนีเซียต่อโคฟี อันนัน เลขาธิการทั่วไปแห่งสหประชาชาติ เมื่อ 27 มกราคม 1999 เพื่อให้ติมอร์ตะวันออกตัดสินใจว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียหรือเป็นเอกราช ก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคม 1998 ประธานาธิบดีฮาบิบีได้ทำงบสาธารณะต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าติมอร์ตะวันออกนั้นไม่คุ้มค่าสำหรับเงินทุนที่ส่งลงไปสนับสนุนและไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ใดๆ ให้แก่อินโดนีเซีย จึงตัดสินใจจะให้จังหวัดที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเขตแดนดั้งเดิมเมื่อ 1945 ตัดสินใจว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียหรือจะแยกออกจากอินโดนีเซีย
หลังจากที่ฮาบีบีได้ยื่นข้อเสนอให้กับสหประชาชาติ นำมาสู่การเจรจาระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย รัฐบาลโปรตุเกสและสหประชาชาติเพื่อหาข้อยุติของเรื่องนี้ ต่อมาในวันที่ 5 พฤษภาคม 1999 ได้ออกข้อตกลงระหว่างสาธารณรัฐอินโดนีเซียและสาธารณรัฐโปรตุเกสเกี่ยวกับปัญหาติมอร์ตะวันออก ซึ่งให้รายละเอียดของการลงประชามติ โดยมีตัวเลือกระหว่างการคงอยู่กับอินโดนีเซียในฐานะเขตพิเศษปกครองตนเอง หรือแยกออกเป็นอิสระจากอินโดนีเซีย จากนั้นในวันที่ 30 สิงหาคม 1999 การลงประชามติที่ดำเนินการโดยคณะตัวแทนสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก (United Nations Mission in East Timor; UNAMET) มีประชาชนทั้งสิ้น 451,792 คน ลงทะเบียนเพื่อลงประชามติ ในจำนวนนั้นมี 438,513 คน อาศัยอยู่ในติมอร์ตะวันออกและอีก 13,279 คน อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย อินโดนีเซีย โปรตุเกสและสหรัฐอเมริกา
ข้อตกลงระหว่างอินโดนีเซียและโปรตุเกสได้ร่วมกันวางกรอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเขตปกครองตนเองติมอร์ตะวันออกเป็นภาคผนวก เป็นการจัดตั้งเขตปกครองตนเองที่เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ทั้งนี้ภายในเขตปกครองตนเอง ประกอบด้วย ฝ่ายบริหารคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากสภานิติบัญญัติเขตปกครองตนเองติมอร์ตะวันออก และฝ่ายนิติบัญญัติคือ คณะกรรมการที่ปรึกษาซึ่งมาจากสภาผู้แทนราษฎร อันแยกเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานอัยการและตำรวจในเขตปกครองตนเอง โดยอินโดนีเซียจะทำหน้าที่ดูแลป้องกันประเทศ กฎหมาย เศรษฐกิจและความสัมพันธ์กับต่างประเทศ รวมถึงการใช้สัญลักษณ์ของกองทัพอินโดนีเซีย สิทธิความเป็นพลเรือนจะถูกระบุจากอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ และหมายเลขบัตรประชาชน เพื่อจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างครบถ้วน
การทำประชามติเอกราชติมอร์ตะวันออก ในวันที่ 30 สิงหาคม 1999 มีสถานีเลือกตั้ง 850 สถานี ใน 200 ศูนย์การเลือกตั้งภายในประเทศติมอร์ตะวันออกกับสถานีเลือกตั้งภายนอกในออสเตรเลีย อินโดนีเซีย โปรตุเกสและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 1,030 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ในต่างประเทศ คณะกรรมการเลือกตั้ง ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ประสานงานทางทหาร นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นถาวรมี 711 คน เจ้าหน้าที่ชั่วคราวอีก 3,600 คน โดยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 52,531,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ความรุนแรงปะทุขึ้นหลังจากที่เริ่มทำประชามติมีพลเรือนเสียชีวิตประมาณ 1,400 คน กองกำลังนานาชาติในติมอร์ตะวันออก (INTERFET) ประกอบด้วย บุคลากรชาวออสเตรเลียเป็นส่วนใหญ่ กองกำลังนานาชาติถูกนำไปประจำการอยู่ในติมอร์ตะวันออกหลังจากที่ล่าช้ามานาน โดยกองกำลังนี้ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคง รักษาความสงบและปลอดภัย ต่อมาในวันที่ 19 ตุลาคม 1999 รัฐบาลอินโดนีเซียยอมรับผลการทำประชามติ และยกเลิกกฎหมายผนวกติมอร์ตะวันออกเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย สหประชาชาติได้ตั้งองค์การบริหารช่วงเปลี่ยนผ่านแห่งสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก (UNTAET) ซึ่งนำไปสู่การประกาศเอกราชเมื่อเดือนพฤษภาคม 2002 แม้ว่าในปัจจุบันติมอร์ตะวันออก ได้สถาปนาขึ้นเป็นรัฐชาติอย่างสมบูรณ์และเลือกใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ แต่ยังคงต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากนานาชาติอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศ
ติมอร์ตะวันออก เป็นประเทศผู้ถือกำเนิดใหม่ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของอินโดนีเซีย หลังบี เจ ฮาบีบี เป็นประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย เขาได้เสนอหนทางสู่เอกราชให้แก่ติมอร์ตะวันออก และดึงเอาสหประชาชาติ เข้ามาสร้างกระบวนการประชามติ จนทำให้ติมอร์ออกได้เอกราชในที่สุด แต่หลังได้รับเอกราชติมอร์ตะวันออกยังคงขอความช่วยเหลือจากนานาชาติอยู่บ่อยครั้ง
ฐิติพงศ์ มาคง
กรกฎาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
องอาจ คล้ามไพบูลย์. (2558). ติมอร์เอกราชเลือด. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์ประกายเพชร.
East Timorese independence referendum, 1999. Search on 20 July 2016, Retrieved from Wikipedia:
https://en.wikipedia.org/wiki/East_Timorese_independence_referendum,_1999.
การลงประชามติเอกราชติมอร์ตะวันออก พ.ศ. 2542. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2559, จากวิกิพีเดีย: https://th.
wikipedia .org/wiki/การลงประชามติเอกราชติมอร์ตะวันออก พ.ศ. 2542.