แนวร่วมปฏิวัติเพื่อเอกราชติมอร์ตะวันออก (Fretilin) เป็นขบวนการต่อต้านที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของติมอร์ตะวันออกจากโปรตุเกสและเรียกร้องเอกราชจากอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี 1974–1998 ในช่วงก่อตั้งใช้ชื่อว่า สมาคมประชาธิปไตยสังคมติมอร์ แต่หลังจากที่ติมอร์ตะวันออกได้รับเอกราชจากอินโดนีเซีย จึงแยกออกเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายของติมอร์ตะวันออก มีที่นั่งในสภาแห่งชาติและจัดตั้งรัฐบาลในติมอร์ตะวันออกตั้งแต่ได้รับเอกราชจนถึงปี 2007
หลังการปฏิวัติดอกคาร์เนชั่นที่โปรตุเกสในเดือนเมษายนปี 1974 โปรตุเกสได้หันมาให้ความสำคัญต่อการร่างรัฐธรรมนูญของติมอร์ตะวันออก ต่อมาในวันที่ 20 พฤษภาคมของปีเดียวกัน ฟรังซิชกู ชาวีแอร์ ดู อามารัล และคนอื่นๆ ได้ร่วมกันจัดตั้งสมาชิกสมาคมประชาธิปไตยติมอร์ตะวันออก (ASDT) เพื่อเรียกร้องเอกราชติมอร์ตะวันออกจากโปรตุเกส จากนั้น ได้เปลี่ยนชื่อองค์กรเป็นเฟรติลินในวันที่ 11 กันยายน 1974 โดยมีฟรังซิชกู ชาวีแอร์ ดู อามารัล เป็นหัวหน้า และนีกูเลา ดุช ไรช์ ลูบาตู เป็นรองหัวหน้า ซึ่งทำงานร่วมกับอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีสมาคมนิยมประชาธิปไตยติมอร์ (APODETI) และพรรคสหภาพประชาธิปไตยติมอร์ (UDT) ซึ่งต่อมาได้เข้าร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านคอมมิวนิสต์ (MAC) ที่สนับสนุนอินโดนีเซีย
ในปี 1975 โปรตุเกสหารือกับทั้งสามองค์กรเกี่ยวกับอนาคตของติมอร์ตะวันออก รัฐบาลโปรตุเกสเตรียมการเลือกตั้งวันที่ 13 มีนาคม 1975 โดยไม่มีผู้สมัครหรือพรรคการเมือง เป็นเพียงการเลือกตั้งที่ให้ประชาชนเลือกสนับสนุนองค์กรใดในสามองค์กร ซึ่งเฟรติลิน สามารถครองเสียงได้เกินกว่าร้อยละ 55 ต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม 1975 ยูทีดีทำรัฐประหารและต้องเผชิญหน้ากับกองกำลังเฟรติลินกว่า 20,000 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ในวันที่ 20 สิงหาคม 1975 ได้จัดตั้งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติติมอร์ตะวันออก (FALINTIL) ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม ด้วยอาวุธที่ดีขึ้นและประชาชนสนับสนุนมากขึ้น ส่งผลให้ลุกลามบานปลายจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน ในจำนวนนั้นเป็นผู้สนับสนุนยูทีดีประมาณ 500 คน เฟรติลินถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน และประชาชนอีก 2,500 คน หนีเข้าไปในติมอร์ตะวันตกของอินโดนีเซีย
จากนั้นโปรตุเกสจัดเจรจาเอกราชอีกครั้ง แต่สถานการณ์กลับซับซ้อนมากขึ้น เมื่อในเดือนพฤศจิกายน 1975 MAC ประกาศการรวมประเทศติมอร์ตะวันออกเข้ากับประเทศอินโดนีเซีย และในวันที่ 28 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน เฟรติลิน จัดตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ตะวันออก (RDTL) ซึ่งไม่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ ต่อมาในวันที่ 7 ธันวาคม 1975 กองทัพอินโดนีเซียเข้าแทรกแซงติมอร์ตะวันออกและกวาดล้างกองกำลังของเฟรติลิน ในช่วงปี 1975-1976 ทำให้โปรตุเกสถอนตัวออกจากสำนักงานในเกาะอาเตาโร
เดือนธันวาคม 1978 ผู้นำเฟรติลินจำนวนหนึ่งยอมจำนนต่อกองทัพอินโดนีเซีย และนีกูเลา ดุช ไรช์ ลูบาตู เสียชีวิต ต่อมาในปี 1984 เฟรติลิน ออกจากการบริหารสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ตะวันออก (RDTL) และกลายเป็นกองกำลังที่ทำการรบแบบกองโจร ต่อมาในช่วงปลายปี 1987 ซานานา กุสเมา จัดตั้งสภาแห่งชาติเพื่อการต่อสู้ของติมอร์ตะวันออก (CNRM) เป็นองค์กรที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชของชาวติมอร์ตะวันออกจากอินโดนีเซีย จากนั้นในปี 1989 โจเซ่ รามอส โฮร์ตา เป็นผู้แทนต่างประเทศ เขาถูกฆาตกรรม ในวันที่ 1 มิถุนายน 1995
หลังเฟรติลินสลายตัว ฟาลินติล ที่นำโดยซานานา กุสเมา ยังคงดำเนินการตามแนวทางของเฟรติลินต่อไป โดยเข้าโจมตีทหารอินโดนีเซียอยู่เป็นระยะๆ ในเดือนมิถุนายน 1986 ฟาลินติล ซุ่มโจมตีจนทำให้ทหารอินโดนีเซียเสียชีวิตไป 20-35 คน และซานานา กุสเมา ถูกจับกุมในปี 1992 จากนั้น มา ฮูโน เป็นผู้นำของฟาติลิน แต่ถูกจับโดยทหารอินโดนีเซียในเดือนเมษายน 1993 และมีนีโน โคนิส ซานตานา เป็นผู้นำคนใหม่ แต่เขาก็เสียชีวิตลงในเดือนมีนาคม 1998 หลังฮาบีบี เป็นประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และให้ประชาชนเลือกอนาคตของติมอร์ตะวันออก กระทั่งวันที่ 30 สิงหาคม 1999 ผลของการลงประชามติ 78.5% ของประชากร ต้องการให้ติมอร์ตะวันออกเป็นอิสระจากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการสังหารขาวติมอร์ โดยกองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุนอินโดนีเซียและกองทัพอินโดนีเซีย แต่ออสเตรเลียและสหประชาชาติ ก็เข้ามายุติความรุนแรงนี้
วันที่ 30 สิงหาคม 2001 การเลือกตั้งทั่วไปถูกจัดขึ้น พรรคฝ่ายค้านที่มีสมาชิกพรรคเป็นอดีตสมาชิกเฟรติลิน ได้รับคะแนนนิยมร้อยละ 57.37 และเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภา โดยได้รับเลือกตั้ง 55 ที่นั่ง จากทั้งหมด 88 ที่นั่ง ต่อมาในวันที่ 20 พฤษภาคม 2002 ติมอร์ตะวันออกได้รับเอกราช การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2007 ฟรานซิสโก กูเทอเร็ส เข้าร่วมกับเฟรติลิน แต่ได้รับคะแนนนิยมร้อยละ 29 และได้รับเลือกตั้ง 21 ที่นั่ง จากทั้งหมด 88 ที่นั่ง ซึ่งต้องขับเคี่ยวกับสภาแห่งชาติเพื่อการฟื้นฟูติมอร์ (CNRT) ของอดีตประธานาธิบดีซานานา กุสเมา ต่อมาในวันที่ 6 สิงหาคม พรรคซีเอ็นอาร์ที เป็นพรรครัฐบาลและนายซานานา กุสเมา เป็นประธานาธิบดี วันที่ 28 เมษายน 2011 เฟรติลิน มูดากา จดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการและในเดือนสิงหาคม 2011 เปลี่ยนชื่อเป็น แฟรนตี มูดากา ในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 7 กรกฎาคม 2012 ได้รับคะแนนนิยมร้อยละ 29.87 ช่วงวันที่ 15-17 กรกฎาคม เกิดการจลาจลโดยกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งจบลงด้วยการเข้าปราบปรามของตำรวจ จากนั้นพรรครัฐบาลก็ออกมาโจมตีพรรคฝ่ายค้านจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กระทั่งปี 2015 กุสเมาลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ รุยมาเรีย อาเราโจ เป็นประธานาธิบดี และจัดตั้งรัฐบาลที่มีตัวแทนของทุกฝ่ายอยู่ในรัฐสภา
ฐิติพงศ์ มาคง
กรกฎาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
FRETILIN. Search on 20 July 2016, Retrieved from Wikipedia: https://de.wikipedia.org/wiki/FRETILIN.
John Pike Maintained. [Online]. Search on 19 July 2016. Retrieved from : http://fas.org/irp/world/
para/timor.htm
Revolutionary Front for an Independent East Timor. Search on 20 July 2016, Retrieved from
Wikipedia: https://en.wikipedia.org/wiki/Revolutionary_Front_for_an_Independent_East...