พรรคสมาคมชาวจีนมาเลเซีย (Malaysian Chinese Association) เป็นพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญกับชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนเป็นหลัก และมีอิทธิพลอย่างมีนัยยะสำคัญในวงการสื่อของมาเลเซีย ผ่านการถือหุ้นของบริษัท ฮั่วเรนโฮลดิ้ง จนสามารถควบคุมหนังสือพิมพ์เดอะสตาร์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่ขายดีที่สุดในมาเลเซียและหนังสือพิมพ์นันยางเซียงโป เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาจีนที่ขายดีที่สุดในมาเลเซียตะวันตก
พรรคสมาคมชาวจีนมาเลเซีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1949 ด้วยการสนับสนุนของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ จุดประสงค์ในช่วงก่อตั้งพรรคคือจัดระเบียบสังคมและสวัสดิการสังคมเพื่อตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินปี 1948 เนื่องจากชาวมลายูออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านสหภาพมลายัน ในปี 1946 และเพื่อต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์มลายู มีสมาชิกเป็นชาวจีน ต่อมาในปี 1951 ขึ้นทะเบียนพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ โดยมีนายตัน เช็ง ลอค นักธุรกิจชาวจีนเป็นหัวหน้าพรรค มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจชาวจีน เช่น นายเหลียง ยู โกะ และนายคู เทด อี้ เป็นต้น
ต่อมาได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับพรรคอัมในเดือนกุมภาพันธ์ 1952 จากนั้นในปี 1954 สภาชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย ได้เข้าร่วมเป็นพรรคพันธมิตร ต่อมาในกรกฎาคม 1955 การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของมาเลเซีย พรรคพันธมิตรได้รับที่นั่งในรัฐสภา 51 ที่นั่ง จากทั้งหมด 52 ที่นั่ง เป็นของพรรคสมาคมชาวจีนมาเลเซีย 15 ที่นั่ง พรรคจึงเริ่มออกนโยบายด้านสังคม เช่น นโยบายการย้ายและตั้งถิ่นฐานแก่ชาวจีนที่มีฐานะยากจน และออกสลากกินแบ่งเพื่อนำรายได้มาสร้างกองทุนช่วยเหลือชาวจีน ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากชาวจีนระดับล่าง กระทั่งเดือนมิถุนายน 1966 เกิดพรรคกิจกรรมประชาธิปไตย เป็นอีกทางเลือกที่ทำให้ชาวจีนจำนวนหนึ่งสนับสนุนพรรคนี้แทน พรรคเอ็มซีเอจึงออกนโยบายที่เน้นส่งเสริมเยาวชนจีน การกีฬา การศึกษา และพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากชาวจีน แต่ไม่ประสบความสำเร็จนักเพราะจำนวนที่นั่งได้มาเพียงร้อยละ 15 ของทั้งหมดที่พรรคพันธมิตรได้รับ
ในปี 1958 นายลิม ชอง อู เป็นหัวหน้าพรรคคนที่สอง เขาพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรวมอำนาจของคณะกรรมการกลางและก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 1959 ลิมพยายามเพิ่มการจัดสรรจำนวนที่นั่งจาก 28 ที่นั่ง เป็น 40 ที่นั่ง แต่ถูกปฏิเสธตนกู อับดุล เราะห์มาน จนลิมถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งและแต่งตั้งให้นายตัน เช็ง ลอค ทำหน้าที่รักษาการแทน ซึ่งเขากลายเป็นผู้นำพรรคคนที่สาม จากการสนับสนุนของอัมโน จากนั้นนายลิม ได้ลาออกจากพรรคในเดือนธันวาคม 1960 และเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคฝ่ายค้านอย่าง พรรคเกอรากัน รักยัต ในปี 1968
การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียครั้งที่สามในวันที่ 10 พฤษภาคม 1969 พรรคสมาคมชาวจีนมาเลเซีย สามารถรักษาที่นั่งในสภาได้เพียง 13 ที่นั่ง จากที่เคยมีอยู่ 33 ที่นั่ง ทั้งยังสูญเสียฐานเสียงในรัฐปีนังไปให้กับพรรคฝ่ายค้าน ในปี 1972 พรรคพันธมิตรขยายตัว และพรรคอัมโน มีความโดดเด่นมากขึ้นแต่เอ็มซีเอถูความสำคัญลง ต่อมาในปี 1973 ตาน เซียว ซน ขอเป็นรองนายกรัฐมนตรีแต่ถูกปฏิเสธโดยตนอับดุล ราซัค จนเขาลาออกจากพรรคในวันที่ 8 เมษายน 1974 ลีซานชุน ทำหน้าที่รักษาการแทนและได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค แต่กระนั้นพรรคยังถูกลดความสำคัญลงจากการสูญเสียตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง การค้า และกระทรวงอุตสาหกรรม เลือกตั้งทั่วไปในปี 1978 พรรคได้รับที่นั่งในรัฐสภาเพียง 17 ที่นั่ง จากที่ได้รับการจัดสรร 28 ที่นั่ง
การเลือกตั้งทั่วไปในปี 1982 พรรคได้รับที่นั่งในรัฐสภา 24 ที่นั่ง จากที่ได้รับจัดสรรมา 28 ที่นั่ง และได้รับ 55 จาก 62 ที่นั่ง ของการจัดสรรที่นั่งในระดับรัฐ นับเป็นความสำเร็จในการเลือกตั้งของเขา แต่ลีซานชุนกลับลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคโดยไม่ทราบสาเหตุในปี 1983 นีโอ ยี แพน จึงเป็นผู้รักษาการแทน และนายตัน กุนซวานเป็นหัวหน้าพรรคในปี 1985 ในปีต่อมาเขาถูกฟ้องร้องในคดีทุจริตจนต้องลาออก นายลิง เลืองซิก เป็นหัวหน้าพรรคแทน เขาออกนโยบายช่วยเหลือชาวจีนและสร้างสิทธิพิเศษแก่ชาวจีน ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปในปี 1995 พรรคได้รับที่นั่งในรัฐสภา 30 ที่นั่ง จากที่ได้รับการจัดสรร 34 ที่นั่ง และได้รับ 71 จาก 77 ที่นั่ง ของการจัดสรรในระดับรัฐ ลิง เลืองซิกลาออกในปี 1996 และมีลิม อาห์เล็กขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน แต่เขาลาออกในปี 1999 จากความแตกแยกภายในพรรค เพราะการเข้าครอบงำหนังสือพิมพ์เดอะสตาร์ และหนังสือพิมพ์นันยางเซียงโป มีสมาชิกหลายคนไม่เห็นด้วยจนแยกเป็นสองฝ่าย และเขาเสนอชื่อนายชัน กองชอย เข้าร่วมคณะรัฐมนตรีแทน แต่มีกลุ่มเสนอนายอง กาติงเข้าร่วมคณะรัฐมนตรี จนนายกรัฐมนตรี มหาธีร์ โมฮัมหมัดเข้ามาไกล่เกลี่ย
กระทั่งการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม 2008 พรรคได้รับที่นั่งในรัฐสภาเพียง 15 ที่นั่งและ 32 ที่นั่งในระดับรัฐ และทำให้เกิดความแตกแยกภายในพรรคอีกครั้งระหว่างกลุ่มของนายอง ตีแกต และนายชิง ชอยเลก ทำให้ปี 2010 ทั้งสองกลุ่มลาออกจากคณะกรรมการบริหารพรรคและเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ ชิงได้เป็นหัวหน้าพรรคและพยายามประสานรอยร้าวระหว่างกลุ่ม ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2013 พรรคประสบความพ่ายแพ้อย่างหนัก โดยได้รับที่นั่งในรัฐสภาเพียง 7 ที่นั่ง จาก 37 ที่นั่ง และได้รับเลือกในระดับรัฐเพียง 11 ที่นั่ง จาก 90 ที่นั่ง จนเกิดการเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง
พรรคเอ็มซีเอเป็นพรรคที่สร้างมาเพื่อเป็นตัวแทนของชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นการออกนโยบายที่ให้แระโยชน์แก่ชาวจีน และสร้างกองทุนช่วยเหลือชาวจีน แต่ด้วยความขัดแย้งภายในพรรคทำให้ต้องเปลี่ยนตัวผู้นำพรรคอยู่บ่อยครั้ง และนโยบายที่ออกมาไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของชาวจีนได้ นำมาสู่ความล้มเหลวในการเลือกตั้งช่วงสิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากสูญเสียคะแนนเสียงจากชาวจีนให้แก่พรรคกิจกรรมประชาธิปไตย
ฐิติพงศ์ มาคง
กรกฎาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Malaysian Chinese Association. Search on 6 July 2016, Retrieved from Wikipedia: https://en.wikipe
dia.org/wiki/Malaysian_Chinese_Association
สมาคมชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2559, จากวิกิพีเดีย: https://th.wikipedia.org/wiki/สมา
คมชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน.
สีดา สอนศรี. (2546). พรรคการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ศึกษาเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย
และมาเลเซีย. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ. บริษัท พัฒนวิจัย.