พรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ (United Malays National Organisation - UMNO) เป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย และเป็นแกนหลักของแนวร่วมแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจครอบงำการเมืองมาเลเซียมาโดยตลอดตั้งแต่ได้รับเอกราช ทั้งยังเป็นพรรคสายอนุรักษนิยมที่เน้นการปกป้องวัฒนธรรมมาเลเซีย คุณค่าอิสลาม และนโยบายที่เอื้อกับธุรกิจของชาวมลายู และเป็นศาสนาอิสลามเป็นหลัก
พรรคอัมโน ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1946 โดย ดาโต๊ะ ออน บิน จาฟอาฟาร์ เป็นหัวหน้าพรรค โดยมีจุดประสงค์ในช่วงก่อตั้งพรรคเพื่อปลุกระดมชาวมลายูให้ต่อต้านสหภาพมลายัน เนื่องจากการกล่าวหาว่ารัฐธรรมนูญแห่งสหภาพมลายันเป็นภัยคุกคามอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน นำมาการสู่จัดตั้งสหพันธรัฐมาเลเซียในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1948 แต่วัตถุประสงค์หลักของพรรคอัมโน คือ การรักษาชาติพันธุ์มลายูอยู่รอดและเป็นชาติพันธุ์หลักของมาเลเซียในฐานะผู้ครองประเทศ จนกีดกันและต่อต้านชาติพันธุ์ ดังที่รัฐธรรมนูญมาเลเซีย ฉบับปี 1957 ระบุไว้อย่างชัดเจนในการยกชาวมลายูเหนือเชื้อชาติอื่นๆ ให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติและภาษามลายูเป็นภาษาประจำชาติ กระทั่งวันที่ 16 กันยายน 1951 ดาโต๊ะ ออน บินยะอาฟาร์ ลาออกจากพรรคเพื่อตั้งพรรคเอกราชสำหรับมลายู แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากนักจากการเลือกตั้งในปี 1952
ตนกู อับดุล เราะห์มาน จึงเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน ในปี 1954 การเลือกตั้งในปีนี้พรรคอัมโนและพรรคเอ็มซีเอได้รับเลือกตั้ง 226 ที่นั่งจาก 268 ที่นั่ง ต่อมาการเลือกตั้งรัฐสภาในปี 1955 ซึ่งเป็นปีที่พรรคเอ็มไอซีเข้าร่วมเป็นพันธมิตร กระทั่งในปี 1974 จัดตั้งเป็นแนวร่วมแห่งชาติ ในปี 1956 นักการเมืองและผู้สำเร็จราชการแทนเข้าเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ เพื่อให้มาเลเซียได้รับเอกราชบนเงื่อนไขว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นนั้นต้องไม่ยึดสินทรัพย์ของชาวอังกฤษและชาวต่างชาติอื่นๆ โดยกำหนดให้วันที่ 31 สิงหาคม 1957 เป็นวันประกาศเอกราชของมาเลเซีย
การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในปี 1959 พรรคพันธมิตรได้รับเลือก 74 ที่นั่ง จาก 104 ที่นั่ง นับเป็นเสียงสองในสามของรัฐสภาจึงสามารถจัดตั้งรัฐบาล กำหนดนโยบายและออกกฎหมายได้ ก่อตั้งประเทศมาเลเซียในวันที่ 16 กันยายน 1963 สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 10 พฤษภาคม1969 พรรคพันธมิตรได้รับคะแนนนิยมน้อยกว่าครึ่งหนึ่งแม้จะได้รับที่นั่งในรัฐสภา 66 ที่นั่ง จาก 104 ที่นั่งก็ตาม พรรคสูญเสียฐานเสียงในรัฐกลันตัน เประและปีนังไป จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์จลาจล 13 พฤษภาคม 1969 กระทั่งยัง ดี เปอตวน อากง ประกาศภาวะฉุกเฉิน ทำให้รัฐสภาถูกระงับการดำเนินงาน และการเลือกตั้งทั่วไปถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด นำมาสุ่การออกนโยบายเศรษฐกิจใหม่ของตนอับดุล ราซัค ในปี 1970 ซึ่งสร้างสิทธิพิเศษให้แก่ชาวภูมิบุตร ทั้งในด้านการศึกษา สิทธิในการทำงาน และสวัสดิการสังคม เพื่อให้ชาวภูมิบุตรมีฐานะทางเศรษฐกิจเทียบเท่ากับชาวจีน การเลือกตั้งมีขึ้นอีกครั้งในปี 1975
หลังตนอับดุล ราซัคเสียชีวิตในปี 1976 ตนฮุสเซ็น บิน ดาโต๊ะ อน ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนที่ 4 และนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 เขาจัดตั้งกองทุน Amanah Ikhtiar Nasional เพื่อระดมเงินทุนจากชาวภูมิบุตร เพื่อจะยกฐานะทางเศรษฐกิจของชาวภูมิบุตรขึ้นอีก จากนั้นดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด เป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 5 และนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ในปี 1981 มหาเธร์ยังคงนโยบายเอ็นอีพีเอาไว้ และใช้แผนพัฒนาทศวรรษ 1990 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจระหว่างเชื้อชาติมากขึ้น ในปี 1987 ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคระหว่างมหาเธร์ กับเต็งกูราซาลี เต็งกูฮัมซะห์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ซึ่งมหาเธร์ ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน 761 คะแนน ส่วนเต็งกูราซาลีได้คะแนน 718 คะแนน จึงมีสมาชิกพรรค 11 คน ไม่พอใจผลการเลือกตั้งและฟ้องศาลในเดือนมิถุนายน 1987 ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ จนวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1988 ผู้พิพากษาฮารุน ฮาชิม แห่งศาลสูงกัวลาลัมเปอร์ ตัดสินให้พรรคอัมโน เป็นพรรคผิดกฎหมาย และยุบพรรค เพราะมีสาขาพรรคย่อยถึง 30 แห่งใน 4 สาขาพรรคระดับเขตที่ไม่ได้จดทะเบียน จึงผิดต่อกฎหมายตาม พ.ร.บ. การจัดตั้งองค์กรปี 1966
ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1988 มหาเธร์จัดตั้งพรรคขึ้นมาใหม่ ส่วนเต็งกูราซาลี เต็งกูฮัมซะห์ ก็จัดตั้งพรรค พรรคสปิริต 46 และได้เข้าร่วมกับพรรคปาส ทำให้พรรคอัมโนอ่อนแอลง หลังจากนั้นพรรคสปิริต 46 กลับมารวมกับอัมโนอีกครั้ง แต่อย่างไรก็รัฐกลันตันก็ตกอยู่ภายในอำนาจของพรรคปาสมาจนถึงปัจจุบัน จากนั้นเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับเจ้าเมืองที่กระทำผิดหลายประการ ทำให้รัฐบาลต้องการลดอำนาจของเจ้าเมืองลงด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญและให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านมติเมื่อวันที่ 19 มกราคม 1993 และวุฒิสภาผ่านมติในวันที่ 20 มกราคม 1993 ต่อมาบัญญัติการแก้ไขลงในรัฐธรรมนูญในเดือนมีนาคม 1993 ทำให้เจ้าเมืองสามารถถูกดำเนินคดีได้ รวมทั้งการจัดตั้งศาลพิเศษ และแก้ไขพ.ร.บ. การปลุกระดม ปี 1948 ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์เจ้าเมืองได้
ในปี 1998 มหาเธร์ เกิดความขัดแย้งกับนายอันวาร์ อิบราฮิม รองนายกรัฐมนตรี จนอันวาร์ถูกปลดออกจากตำแหน่ง และเขาได้จัดตั้งพรรคความยุติธรรมของประชาชน โดยมีดร.อาซีซะห์ วัน อิสมาอิล ภรรยาของเขาเป็นหัวหน้าพรรค ช่วงวันที่ 13-19 พฤศจิกายน 2006 พรรคอัมโนได้จัดการประชุมสามัญประจำปี 2006 เรื่องแผนพัฒนามาเลเซีย ฉบับที่ 9 มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเศรษฐกิจโดยการสร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการ รวมทั้งรัฐบาลเปิดรับคำวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน และพยายามสร้างความสามัคคีในหมู่ชาวมุสลิม
หลังจากตน ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้ลาออกจากพรรค ตนอับดุลลอฮ์ อาหมัด บาดาวี ขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนที่ 6 และนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนที่ 5 เขาประกาศนโยบายอิสลามฮาดารี ซึ่งผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2004 แนวร่วมแห่งชาติได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น แต่ความขัดแย้งทางเชื้อชาติทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเลเซียในปี 2008 แนวร่วมแห่งชาติได้รับที่นั่งน้อยกว่า 2 ใน 3 ของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้รัฐสลังงอร์ ปีนัง เปรัค และเคดะห์ตกเป็นของฝ่ายค้านอีกด้วย เขาจึงลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 28 มีนาคม 2009
จากนั้นนายนาจิบ ราซัคดำรง เข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนที่ 7 และนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 เขาพยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติด้วยนโยบาย 1 มาเลเซีย เพื่อความปรองดอง และความเป็นหนึ่งเดียวของประชาชนมาเลเซีย โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา และภาษา รวมทั้งประกาศใช้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ การเลือกตั้งทั่วไปจัดขึ้นในที่ 5 พฤษภาคม 2013 แนวร่วมแห่งชาติได้รับที่นั่งใน 133 ที่นั่ง จาก 222 ที่นั่ง แต่แนวร่วมฝ่ายค้านภายใต้การนำของนายอันวาร์ กลับได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงกว่าด้วยจำนวน 5.6 ล้านเสียง ต่อ 5.2 ล้านเสียง ทำให้ประชาชนหลายหมื่นคนเข้าร่วมชุมนุมกับฝ่ายค้านเพราะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและกล่าวหาว่าแนวร่วมแห่งชาติทุจริตการเลือกตั้ง รวมข้อกล่าวหานายนาจิบเรื่องการทุจริตกองทุน 1MDB
อัมโนเป็นพรรคการเมืองที่ครองตำแหน่งพรรครัฐบาลของมาเลเซียตั้งแต่ได้รับเอกราชมาจนถึงปัจจุบัน แต่กระนั้นก็มีการเลือกตั้งหลายครั้งที่พรรคอัมโนได้ที่นั่งในรัฐสภาไม่ถึงสองในสาม โดยเฉพาะในช่วงสิบปีที่ผ่านมาพรรคฝ่ายค้านภายใต้การนำของนายอันวาร์ อิบราฮิม ได้รับคะแนนนิยมและที่นั่งในรัฐสภาเพิ่มขึ้น จนกระทั้งพรรคอัมโนไม่สามารถมีที่นั่งในรัฐสภาเกนสองในสามอีกต่อไปและต้องฐานเสียงในหลายๆ เขตเลือกตั้งให้กับพรรคฝ่ายค้าน
ฐิติพงศ์ มาคง
กรกฎาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
United Malays National Organisation. Search on 4 July 2016, Retrieved from Wikipedia: https://en.
wikipedia.org/wiki/United_Malays_National_Organisation.
MGR Online. (2556, พฤษภาคม 10). ปิดฉากเลือกตั้งใหญ่ “มาเลเซีย” กับความวุ่นวายทางการเมืองครั้งใหม่.
[ออนไลน์]. สืบค้นจาก: http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=...
นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน. (2553, พฤษภาคม 14). ครบรอบ 64 ปี การจัดตั้งพรรคอัมโน (UMNO).[ออนไลน์]. สืบค้น
จาก: http://nikrakib.blogspot.com/2010/05/64-umno.html#
สีดา สอนศรี. (2546). พรรคการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ศึกษาเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และ
มาเลเซีย. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ. บริษัท พัฒนวิจัย