ดาโต๊ะจามิล สุหลงเกิดวันที่ 6 สิงหาคม 1926 ที่ปาริตสุหลง เมืองเล็กๆ ในเขตรัฐยะโฮร์ เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม เขาสนใจในศิลปะและวรรณกรรมเป็นอย่างยิ่ง เป็นหนึ่งในปัญญาชนชาวมลายูรุ่นใหม่ที่ไปรวมตัวเคลื่อนไหวทางความคิดกันอยู่ที่สิงคโปร์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โลกศิลปะของเขาเริ่มต้นจากการประพันธ์ทั้งเรื่องสั้น บทกวี และบทความเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม และวรรณกรรม ภายใต้บรรยากาศเร่าร้อนของกระแสการสร้างชาติและทบทวนตั้งคำถามรากฐานของชาติใหม่ จามิลเป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มนักประพันธ์รุ่นทศวรรษ 1950 (Angkatan Sasterawan 50— ASAS 50) ที่สิงคโปร์ และสันนิบาตนักประพันธ์มลายู (Ikatan Persuratan Melayu—IPM) ที่มะละกา ความสามารถทางด้านการประพันธ์นี้เองที่เป็นใบเบิกทางให้เขาก้าวสู่วงการภาพยนตร์มลายูที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงหลังสงคราม และกำลังเสาะหาชาวมลายูที่มีความสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างภาพยนตร์ที่จะตรงกับรสนิยมและความต้องการของผู้ชมชาวมลายู
จามิล สุหลงเริ่มต้นงานในวงการภาพยนตร์มลายูที่สิงคโปร์ด้วยการเป็นทีมงานชาวมลายูรุ่นแรกๆ ของสตูดิโอมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์ซึ่งทำงานในหน้าที่ล่ามและแปลบทภาพยนตร์ ทีมงานกลุ่มนี้คือคนกลุ่มสำคัญที่อำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอินเดียกับชาวมลายูที่ทำงานร่วมกัน หลังจากทำหน้าที่ดังกล่าวจนเห็นได้ถึงความสามารถอันโดดเด่น จามิลได้รับความไว้วางใจให้ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์ ก่อนสู่ตำแหน่งผู้กำกับภาพยนตร์อย่างเต็มตัวในเวลาต่อมา
ภาพยนตร์เรื่องแรกภายใต้การกำกับของจามิล สุหลง คือ Batu Belah Batu Bertangkup ซึ่งออกฉายในปี 1959 และได้สร้างความปลาบปลื้มให้กับผู้บริหารของชอว์บราเดอร์เป็นอย่างมากด้วยประสบความสำเร็จด้านรายได้เป็นอย่างสูง ต่อมาในปีเดียวกัน เขากำกับภาพยนตร์เรื่อง Raja Laksamana Bintan ซึ่งสร้างรายได้ให้กับทางบริษัทเป็นกอบเป็นกำเช่นกัน ก่อนหน้าจามิล สุหลง มีเพียง พี. รามลี เป็นชาวมลายูเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ทางผู้บริหารชอว์บราเดอร์ยินยอมให้ถือตำแหน่งผู้กำกับภาพยนตร์ของสตูดิโอมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์ ความสำเร็จของจามิลเป็นการเปิดทางและเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนของการเพิ่มบทบาทอย่างต่อเนื่องของชาวมลายูในสตูดิโอผลิตภาพยนตร์แห่งนี้
จามิล สุหลงมีผลงานกำกับภาพยนตร์ออกสู่ตลาดเกือบทุกปีตลอดทศวรรษ 1960 และโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นปีละสองเรื่องเสียด้วยซ้ำไป ลายเซ็นชัดเจนในผลงานของเขาคือการสร้างภาพยนตร์ย้อนยุคหรืออ้างอิงจากตำนานเล่าขานของชาวมลายู โดดเด่นด้วยบทสนทนาและภาษามลายูที่สละสลวยด้วยวาทศิลป์และวรรณศิลป์ ผลงานหลายเรื่องได้รับการยกย่องว่าถ่ายทอดจารีตวัฒนธรรมมลายูได้อย่างงดงามน่าภาคภูมิใจ นอกจากภาพยนตร์สองเรื่องแรกข้างต้น ภาพยนตร์เช่น Lela Manja (1960) Si Tanggang (1961) Bidasari (1965) เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับการยกย่องในฐานะภาพยนตร์มลายูคลาสสิค
หลังจากสิ้นยุครุ่งเรืองของสตูดิโอผลิตภาพยนตร์มลายูที่สิงคโปร์ จามิล สุหลงข้ามฟากมาสู่มาเลเซียและยังคงมุ่งมั่นเดินบนเส้นทางการผลิตภาพยนตร์ อาจจะกล่าวได้ว่าเขาเป็นหนึ่งในน้อยคนที่สามารถ “เอาตัวรอด” ได้ในกระแสเชี่ยวกรากของความเปลี่ยนแปลง จามิลยังคงสร้างภาพยนตร์มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายทศวรรษ 1990 แม้ว่าจำนวนภาพยนตร์ที่เขากำกับในช่วงสามทศวรรษหลังนั้นจะมีจำนวนน้อยกว่า 10 ปีเดียวของทศวรรษ 1960 ที่รุ่งเรืองนั้นก็ตาม การอุทิศตนอย่างยาวนานให้แก่ภาพยนตร์ทำให้เขาได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงในฐานะปูชนียบุคคลคนสำคัญของวงการภาพยนตร์มาเลเซีย
นอกเหนือจากบทบาทในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ ชื่อจามิล สุหลงยังปรากฏบ่อยครั้งพร้อมผลงานโดดเด่นในตำแหน่งผู้เขียนบทภาพยนตร์ สร้างบทสนทนาของตัวละคร และแต่งเนื้อร้องให้กับเพลงประกอบภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก ซึ่งในตำแหน่งท้ายนี้ ความสำเร็จอย่างยิ่งยวดคือการทำงานร่วมกับ พี. รามลี กระทั่งทำให้เพลงจากภาพยนตร์หลายต่อหลายเพลงเป็นที่จดจำและคงกระพันจนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างจำนวนหนึ่งเช่นเพลง “Tiru Macam Saya” (จากภาพยนตร์เรื่อง Hujan Panas) “Berkorban Apa Saja” (จาก Hang Tuah) “Azizah” และ “Engkau Laksana Bulan” (ทั้งสองเพลงจาก Penarek Becha) เป็นต้น
จิรวัฒน์ แสงทอง
กรกฎาคม 2559