พี่น้องตระกูลชอว์แห่งเซี่ยงไฮ้ผันตัวเองจากธุรกิจย้อมผ้าของครอบครัวมาสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในช่วงต้นทศวรรษ 1920 โดยการจัดตั้งบริษัทเทียนยีภาพยนตร์ (Tian Yi Film Company หรือรู้จักกันในชื่อ Unique Film Productions) และเริ่มต้นด้วยการผลิตภาพยนตร์เงียบ ก่อนที่จะขยายไปสู่ภาพยนตร์เสียงและกลายเป็นหนึ่งบริษัทที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนที่เซี่ยงไฮ้
เพื่อขยายเครือข่ายธุรกิจให้กว้างขวาง พี่น้องได้ส่งรันเม ผู้ซึ่งรับผิดชอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์ ให้เดินทางมาแสวงหาตลาดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รันเมเดินทางมาถึงสิงคโปร์ในราวกลางทศวรรษ 1920 ด้วยความที่สิงคโปร์เป็นเมืองที่คึกคักไปด้วยประชากรชาวจีนอพยพ รันเมได้เริ่มต้นงานกระจายภาพยนตร์ของบริษัทตระกูลตนที่เซี่ยงไฮ้สู่ผู้ชมชาวจีนในทันที รันรัน ชอว์ได้ถูกส่งตามมาช่วยกันขยายธุรกิจในเวลาหลังจากนั้นไม่นาน ภายใต้การช่วยเหลือของจีนบาบ๋าในท้องถิ่น สองพี่น้องตระกูลชอว์ได้ขยับขยายไปสู่ธุรกิจโรงฉายภาพยนตร์เมื่อพบว่าการเพียงแค่จำหน่ายภาพยนตร์นั้นไม่เพียงพอที่จะต่อกรกับบริษัทต่างๆ อีกเป็นจำนวนมากที่แข่งขันกันอย่างเข้มข้น พวกเขาค่อยๆ ขยายเครือข่ายโรงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่องทั้งที่สิงคโปร์และหลายเมืองใหญ่ในมลายา กระทั่งเมื่อถึงช่วงปลายทศวรรษ 1930 ชอว์บราเดอร์มีโรงภาพยนตร์ของตนกว่า 140 โรงทั้งในสิงคโปร์ มลายา ไทย และอินโดจีน
ความสำเร็จของ Leila Majnun (1934) ภาพยนตร์มลายูท้องถิ่นเรื่องแรกภายใต้การกำกับของบี. เอส. ราชหรรษ์ เป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้ชอว์บราเดอร์หันมาจริงจังมากขึ้นต่อแผนการบูรณาการกิจการภาพยนตร์ในท้องถิ่นให้ครบวงจร พวกเขาหันมาลองนำเข้าภาพยนตร์จากประเทศอินโดนีเซีย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือการวางแผนการสร้างภาพยนตร์เพื่อตลาดผู้ชมท้องถิ่นขึ้นด้วยตนเอง ระหว่างปี 1940 ถึงช่วงการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ชอว์บราเดอร์ได้สร้างภาพยนตร์มลายูออกมาทั้งสิ้นแปดเรื่อง การริเริ่มและทดลองในช่วงนี้แตกต่างไปจากการสร้างภาพยนตร์มลายูทุกยุคทุกสมัย กล่าวคือ ชอว์บราเดอร์ได้นำผู้กำกับภาพยนตร์และทีมงานชาวจีนมาสร้างภาพยนตร์มลายูทุกเรื่องเหล่านั้น ท่ามกลางหลักฐานน้อยชิ้น แต่ดูเหมือนว่าภาพยนตร์ทุกเรื่องจะใช้ทีมงานและนักแสดงชาวมลายูชุดเดียวกันเกือบทั้งหมด ภาพยนตร์เรื่องแรกในกลุ่มนี้ คือ Mutiara (โหว เย่า และหยิง ไห่หลิง, 1940) ดูจะประสบความสำเร็จไม่น้อย แต่เรื่องต่อๆ มาคล้ายจะได้รับเสียงตอบรับที่เงียบเหงา ภาวะคุกรุ่นของสงครามหรือด้วยข้อจำกัดของผู้กำกับภาพยนตร์ชาวจีนต่อความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมกับผู้ชมชาวมลายูอาจรับผิดชอบต่อผลดังกล่าวนี้
ชอว์บราเดอร์หันมารื้อฟื้นกิจการสร้างภาพยนตร์มลายูอีกครั้งเมื่อสงครามยุติด้วยแผนการที่ใหญ่โตและจริงจังกว่าเดิมอย่างมาก พวกเขาก่อตั้งมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์ในปี 1947 สตูดิโอผลิตภาพยนตร์แห่งนี้คงความสำคัญสูงยิ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของทั้งสิงคโปร์และมาเลเซีย ตลอดช่วงเวลาดำเนินการนับจากก่อตั้งกระทั่งปิดตัวเองลงในปี 1967 มลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์ผลิตภาพยนตร์มลายูออกมาราว 160 เรื่อง อันเป็นปริมาณมากที่สุดยิ่งกว่าบริษัทใดๆ ภาพยนตร์เหล่านี้ผ่านสายตาผู้ชมชาวมลายูจำนวนมหาศาล ดาราและผู้กำกับภาพยนตร์หลายคนได้กลายเป็นตำนานของวงการ ภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่องได้รับการยกย่องและถูกจัดวางไว้แถวหน้าของความยิ่งใหญ่สำคัญในกลุ่มมรดกทางวัฒนธรรมแขนงนี้
มลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์ดำเนินการด้วยระบบสตูดิโอโดยอาศัยต้นแบบจากสตูดิโอในฮอลลีวู้ด ใช้วิธีการการเซ็นสัญญากับดารา ผู้กำกับภาพยนตร์ และทีมงานสร้างอย่างเป็นระบบ วางแผนการผลิตและประชาสัมพันธ์อย่างชัดเจน จึงทำให้สามารถผลิตภาพยนตร์มลายูออกมาได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ในระยะแรกของการเปิดตัว ชอว์บราเดอร์ส่งตัวแทนของบริษัทไปเสาะหาผู้มีศักยภาพมาเสริมการดำเนินงานของสตูดิโอ ผู้กำกับภาพยนตร์จากอินเดียถูกทาบทามนำมาสู่สิงคโปร์ ดาราหน้าใหม่ถูกค้นพบ การทดลองปรับเปลี่ยนเพื่อผลักให้การดำเนินงานของสตูดิโอก้าวไปข้างหน้าเกิดขึ้นเป็นระยะ โดยเฉพาะการนำผู้กำกับภาพยนตร์จากฟิลิปปินส์มาทำงานให้กับสตูดิโอ และการเปิดโอกาสให้ชาวมลายูเองได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในการสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น
ในเวลาต่อมา สถานการณ์ทางการเมืองได้เริ่มส่งกระทบต่อการดำเนินงานของชอว์บราเดอร์อย่างต่อเนื่อง กระแสมลายูนิยมคุกรุ่นขึ้นทุกขณะในช่วงเวลาแห่งการจะถือกำเนิดขึ้นของประเทศเอกราช ช่วงปี 1957 อันเป็นปีเดียวกับที่อังกฤษได้ให้เอกราชแก่มลายา ชอว์บราเดอร์ต้องเผชิญกับปัญหาการประท้วงนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานชาวมลายู แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือการค่อยๆ ไต่ระดับสูงขึ้นของความรู้สึกแตกแยกทางชาติพันธุ์อันนำมาสู่การนิยามชาวจีนในฐานะบุคคลภายนอก กระทั่งปี 1963 ซึ่งถือกำเนิดประเทศมาเลเซียโดยการรวมสิงคโปร์เข้าเป็นส่วนหนึ่ง แทบทุกคนตระหนักในความเป็นจริงว่าการรวมตัวนั้นอาจไม่ยั่งยืนและภาวะคุกรุ่นในความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ไม่ได้เบาบางลง บุคลากรในวงการภาพยนตร์มลายูอยู่ในจุดที่ต้องเลือกว่าจะอยู่ข้างใด ชอว์บราเดอร์ยอมที่จะให้ทีมงานชาวมลายูภายใต้บริษัทตนเดินทางออกจากสิงคโปร์ไปสู่ดินแดนอีกฟากหนึ่งเมื่อสิงคโปร์ตัดสินใจแยกตัวออกจากมาเลเซียในปี 1965
ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1930 ที่ตระกูลชอว์พยายามสถาปนาเครือข่ายธุรกิจภาพยนตร์ของตระกูลโดยเชื่อมต่อกระบวนการผลิต กระจาย และจัดฉายภาพยนตร์ระหว่างสามศูนย์กลางสำคัญ คือ เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ และฮ่องกง บริษัทผลิตภาพยนตร์ของตระกูลจัดตั้งขึ้นในปี 1934 แม้ว่าจะชะงักการผลิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่การดำเนินงานก็กลับมาเฟื่องฟูมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมในช่วงหลังสงคราม โดยเฉพาะเมื่อได้รับการเสริมทัพจากบุคลากรวงการภาพยนตร์จีนจากเซี่ยงไฮ้ที่ออกนอกประเทศหลังจากจีนเปลี่ยนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ กระทั่งเมื่อการแข่งขันที่ฮ่องกงทวีความเข้มข้นขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1950 และบริษัทฯ เริ่มถอดถอยจนทำให้พี่น้องของตระกูลหันเหไปสู่ธุรกิจอื่น รันรันจากสิงคโปร์ตัดสินใจไปดูแลกิจการที่ฮ่องกงด้วยตนเองในปี 1957 ผ่านการจัดการบริหารใหม่ ชอว์บราเดอร์ที่ฮ่องกงฟื้นตัวและเริ่มเหนือกว่าคู่แข่ง จนกระทั่งยกระดับตัวเองเป็นอาณาจักรธุรกิจบันเทิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียในเวลาต่อมา
ขณะที่ที่สิงคโปร์และมลายา ความวุ่นวายทางการเมืองและอารมณ์ชาตินิยมที่คุกรุ่นตั้งแต่ช่วงหลังสงครามจนถึงหลังจากที่สองดินแดนได้เอกราช กอปรกับการเริ่มเสื่อมความนิยมต่อภาพยนตร์มลายูอย่างต่อเนื่องนับจากช่วงปลายทศวรรษ 1960 ทำให้ชอว์บราเดอร์แทบไม่อยากทุ่มพัฒนาการสร้างภาพยนตร์ที่นี่อย่างจริงจังอีกต่อไป บริษัทฯ ตัดสินใจปิดตัวมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์ที่สิงคโปร์ลงในปี 1967 และแม้ว่าจะยังไม่ละทิ้งภาพยนตร์มลายูไปอย่างสิ้นเชิง เพราะได้เข้าเทคโอเวอร์สตูดิโอเมอร์เดกาที่มาเลเซียในช่วงก่อนหน้านี้และผลิตภาพยนตร์มลายูต่อมาอีกระยะใหญ่ แต่ก็แทบไม่อาจเห็นได้ถึงความพยายามที่จะทุ่มเทยกระดับภาพยนตร์ตระกูลนี้ให้เทียมเท่าที่ฮ่องกง จนในที่สุด สตูดิโอเมอร์เดกาก็หยุดการผลิตภาพยนตร์ในปี 1980 และชอว์บราเดอร์ได้ขายต่อกิจการและอุปกรณ์ทั้งหมดให้แก่รัฐบาลมาเลเซียหลังจากนั้นไม่นาน
สำหรับชีวิตบั้นปลายของพี่น้องตระกูลชอว์สองคนที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการภาพยนตร์ที่สิงคโปร์และมาเลเซียนั้น รันเม ชอว์เสียชีวิตในปี 1985 หลังจากประสบอุบัติเหตุลื่นล้มและอาการทรุดต่อเนื่องกว่าสองปี รันรัน ชอว์ทำให้บริษัทยิ่งใหญ่รุ่งเรือง และพร้อมกันนั้นก็ได้รับการสรรเสริญจากการอุทิศตนเพื่อการกุศลในหลากหลายช่องทาง เมื่อคราอายุถึง 100 ปีในปี 2007 เขาได้รับรางวัลเกียรติยศจากเทศกาล Hong Kong Film Awards รันรันปลดระวางตัวเองจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท TVB ในช่วงปลายปี 2011 และยังคงมีชีวิตยืนยาวมาจนกระทั่งได้รับรางวัลทรงเกียรติซึ่งสรรเสริญคุณูปการอันโดดเด่นของเขาต่อวงการภาพยนตร์จากสถาบันศิลปะภาพยนตร์และโทรทัศน์แห่งอังกฤษ (BAFTA) ในปี 2013 ไม่นานหลังจากนั้น รันรัน ชอว์เสียชีวิตลงอย่างสงบที่บ้านพักบนเกาะฮ่องกงในวันที่ 7 มกราคม 2014
จิรวัฒน์ แสงทอง
กรกฎาคม 2559