เด็ดดี้ เอ็ม. บอร์ฮันมีหลายบทบาทในวงการภาพยนตร์มาเลเซีย ในส่วนของการสร้างภาพยนตร์ เขาเคยกำกับภาพยนตร์สองเรื่อง ร่วมแสดงในภาพยนตร์สามเรื่อง เคยทำหน้าที่ในตำแหน่งคิดสรรค์เรื่อง เขียนบท และตัดต่อ แต่ทั้งหลายทั้งมวลนี้เป็นบทบาทที่ขยายต่อไปจากการเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ณ ช่วงเวลาสำคัญของเส้นทางประวัติศาสตร์ภาพยนตร์มาเลเซีย
ต้นทศวรรษ 1970 สตูดิโอผลิตภาพยนตร์มลายูที่เคยครองสถานะยิ่งใหญ่ได้ปิดตัวหรือไม่ก็กำลังประสบปัญหาในระยะยุคเสื่อมถอย ผู้ที่ติดตามสถานการณ์ของวงการภาพยนตร์มลายู/มาเลเซียอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวคล้ายแทบจะไม่เห็นอนาคตวงการภาพยนตร์ของชาติตน โดยเฉพาะเมื่อไม่อาจต่อการกับภาพยนตร์นำเข้าจากต่างประเทศทั้งคุณภาพงานสร้างและรายได้จากผู้ชม บอร์ฮันก้าวเข้ามาในลักษณะคนแปลกหน้าของวงการ นั่นเพราะเขาเป็นที่รู้จักในฐานะเศรษฐีนักธุรกิจค้าไม้จากรัฐซาบาห์บนเกาะบอร์เนียว-มาเลเซียตะวันออก บอร์ฮันตั้งบริษัทซาบาห์ฟิล์มโปรดักชั่นส์ขึ้นที่กัวลาลัมเปอร์และเริ่มติดต่อทาบทามผู้ที่เคยมีประสบการณ์จากช่วงยุคทองของสตูดิโอที่สิงคโปร์มาทำงานให้ ติดต่อซื้ออุปกรณ์จากฮ่องกง และเสาะหาทีมงาน อาซิส สัตตาร์ ผู้ซึ่งเคยเป็นดาราตลกโด่งดังในยุคสตูดิโอได้รับข้อเสนอให้มาสร้างเรื่อง-เขียนบท และกำกับภาพยนตร์เรื่อง Keluarga Si Comat ซึ่งเสร็จออกฉายในปี 1975 โดยมีสถานะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของสัตตาร์ในบทบาทผู้กำกับและสำหรับการเปิดตัวของซาบาห์ฟิล์ม
ในขณะที่ภาพยนตร์มลายูโดยส่วนใหญ่ที่ยังคงผลิตออกมาบ้างในช่วงเวลานี้ยังคงเป็นภาพยนตร์ขาว-ดำ บอร์ฮันสร้าง Keluarga Si Comat เป็นภาพยนตร์สี และแม้ทั้งคุณภาพและเนื้อหาจะถูกวิจารณ์ว่าหาได้โดดเด่น บางทัศนะระบุว่าแย่เสียด้วยซ้ำไป แต่ภาพยนตร์ตลกเรื่องนี้กลับประสบความสำเร็จด้านรายได้แบบถล่มทลาย กระทั่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกในระยะเวลาหลายปีที่ภาพยนตร์ที่ผลิตภายในประเทศสามารถมีชัยเหนือภาพยนตร์นำเข้า ภาพยนตร์เรื่องต่อมาของซาบาห์ฟิล์ม คือ Hapuslah Air Matamu ออกฉายในปี 1976 บอร์ฮันไม่เพียงทาบทามผู้กำกับชั้นเอกจากยุคสตูดิโออย่าง เอ็ม. อามินมาร่วมงานเท่านั้น หากแต่ยังนำกลุ่มดารานักร้องชาวอินโดนีเซียที่ผู้ชมในมาเลเซียคุ้นตากันดีมาร่วมแสดง ผลที่ได้คือความสำเร็จด้านรายได้อย่างยิ่งยวดอีกครั้งหนึ่ง กล่าวกันว่าเพลงประกอบจากภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ยินดังจากแทบทุกบ้านในช่วงเวลาดังกล่าว ความสำเร็จต่อเนื่องนี้ส่งให้บอร์ฮันและซาบาห์ฟิล์มสร้างภาพยนตร์ซึ่งมีทั้งภาพยนตร์แอ็คชั่น สยองขวัญ ภาพยนตร์เพลง รักเศร้าเคล้าน้ำตา และตลกฮาเฮ ออกมาเป็นระยะรวมทั้งสิ้น 18 เรื่องตลอดระยะเวลา 17 ปีที่เขาคลุกคลีอยู่ในวงการ
บอร์ฮันอาจไม่ได้รับการแซ่ซ้องในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์คุณภาพ แต่ภายใต้ช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ท้องถิ่นกำลังย่ำแย่ ทั้งบุคคลในวงการและผู้ชมเหมือนจะสิ้นหวัง Keluarga Si Comat และภาพยนตร์ของซาบาห์ฟิล์มได้ช่วยต่อลมหายใจให้กับวงการ บอร์ฮันไม่เพียงนำเอาบุคลากรทรงคุณค่าและผู้กำกับภาพยนตร์ชั้นครูอย่างอาซิส สัตตาร์, เอ็ม. อาร์มิน, โอมาร์ โรยิก์ หวนคืนสู่โลกภาพยนตร์เท่านั้น (โรยิก์กำกับภาพยนตร์เรื่อง Talak ให้กับซาบาห์ฟิล์มในปี 1984) หากแต่ยังรวมถึงดาราและช่างเทคนิคด้านต่างๆ อีกหลายคน (รวมถึงคนที่น่าจดจำอย่างอาบู บาการ์ อาลี ผู้กำกับภาพมือทองจากมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์แห่งสิงคโปร์) พร้อมกันนั้นก็ได้สร้างดาราหน้าใหม่อีกจำนวนหนึ่งขึ้นประดับวงการ
ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่ง ความสำเร็จของเขาที่คนจำนวนหนึ่งหาได้ยกย่องนั้น กลับสามารถดึงดูดให้ทั้งหน้าเก่ากลับสู่วงการและหน้าใหม่หันมาลงทุนในกิจการภาพยนตร์กันอย่างคึกคัก ซึ่งถึงแม้ว่าในภาพรวมแล้ว ภาพยนตร์ที่สร้างกันออกมาอย่างมากนั้นจะถูกมองว่าด้อยคุณภาพ แต่ก็ได้ทำให้ปลายทศวรรษ 1970 ต่อเนื่องมาถึงกลางทศวรรษถัดมาเป็นยุคสมัยที่มีสีสันของการกำเนิดราวดอกเห็ดของบริษัทผลิตภาพยนตร์อิสระหน้าใหม่ กระตุ้นให้รัฐบาลมาเลเซียลงมาแสดงบทบาท และส่งต่อภาพยนตร์มาเลเซียเข้าสู่อีกยุคสมัยหนึ่งในที่สุด
หลังจากร้างลาวงการภาพยนตร์ไปกว่าสองทศวรรษ สมาพันธ์พัฒนากิจการภาพยนตร์แห่งชาติมาเลเซีย (FINAS) ได้มอบรางวัลบุคคลทรงคุณค่าแห่งภาพยนตร์ของชาติให้แก่บอร์ฮันในปี 2006 เขาเป็นบุคคลที่สามที่ได้รับเกียรตินี้นับจากที่รัฐบาลมาเลเซียได้ตั้งรางวัลขึ้นในปี 2002
จิรวัฒน์ แสงทอง
กรกฎาคม 2559