บี.เอ็น. ราโอเกิดปี 1909 ที่เกอราลา เมืองชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ชื่อเมื่อแรกเกิดคือ พละกฤษณะ นารายณะ นาอีร์ แต่กลายเป็น “ราโอ” ด้วยเหตุกล่าวกันว่าเนื่องจากการระบุชื่อลงทะเบียนที่ผิดพลาดตอนเขาเข้าโรงเรียน ราโอเริ่มต้นอาชีพในวงการภาพยนตร์อินเดียในฐานะนักแสดงและช่างเทคนิค ก่อนที่จะผันตัวเองไปเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ในช่วงเวลาซึ่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่นั่นกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เขากำกับภาพยนตร์ออกมาจำนวนหนึ่ง อันรวมถึงเรื่อง Gumastavin Penn (1941) ภาพยนตร์แนวทางเมโลดรามาซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งการบุกเบิกภาพยนตร์แนวเรียลลิสม์ในวงการภาพยนตร์ทมิฬยุคต้น ด้วยชื่อเสียงถึงระดับได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของวงการภาพยนตร์ที่นั่น ชอว์บราเดอร์ได้ติดต่อทาบทามให้เขาเข้ามาเสริมทัพให้กับสตูดิโอมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์ของตน
บี.เอ็น. ราโอเดินทางมาถึงสิงคโปร์ในปี 1953 และยังคงประสบความสำเร็จด้วยดีนับแต่ช่วงเริ่มต้น ภาพยนตร์เรื่อง Hujan Panas (1953) หนึ่งในผลงานช่วงแรกของเขาได้รับการยกย่องเป็นว่าเป็นหมุดหมายสำคัญหนึ่งของภาพยนตร์มลายูระดับคุณภาพ นอกจากการทำงานภายใต้มลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์ ราโอได้ย้ายสังกัดไปผลิตภาพยนตร์ให้กับสตูดิโอคู่แข่งในช่วงปี 1956 ที่คาเธ่ย์-เกอริส เขาได้สร้างภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องในคุณภาพหลายต่อหลายเรื่อง เช่น Mahsuri (1958) Jula Juli Bintang Tiga (1959) แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ราโอได้ให้กำเนิดภาพยนตร์ชุดผีดูดเลือดปนติอานัก ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์มลายู กระทั่งตัวราโอเองก็มักจะถูกเรียกนามด้วยฉายา “บิดาปนติอานัก” ไปด้วยพร้อมกัน
ภาพยนตร์ในชุดดังกล่าวนี้เริ่มต้นด้วย Pontianak (1957) ซึ่งยังคงถูกบันทึกไว้ในฐานะภาพยนตร์มลายูไม่กี่เรื่องที่มีการทำคำบรรยายภาษาจีนและประสบความสำเร็จด้านรายได้เป็นอย่างสูงจากกลุ่มผู้ชมที่ไม่ใช่ชาวมลายู ภาพยนตร์ถูกส่งไปฉายในประเทศจีน และส่งให้มาเรีย เมอนาโด ดารานำสาวของเรื่อง มีชื่อเสียงที่อาจจะเรียกได้ว่าในระดับนานาชาติด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ Pontianak ยังเป็นแรงผลักสำคัญให้คาเธ่ย์-เกอริสก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งของมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์ได้อย่างสูสีทัดเทียม คาเธ่ย์-เกอริสสนับสนุนให้ราโอสร้างภาคต่อ คือ Dendam Pontianak ออกมาในปีเดียวกัน เมื่อทางมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์เดินตามรอยความสำเร็จด้วยการสร้างภาพยนตร์ปนติอานักตามออกมาด้วยเช่นกัน ราโอตอบสนองการแข่งขันด้วยการสร้าง Sumpah Pontianak ในปี 1958 ต่อมาหลังจากนั้น การขับเคี่ยวกันเพื่อสร้างภาพยนตร์กลุ่มสยองขวัญได้เริ่มซาลง กระทั่งเมื่อล่วงเข้าสู่ช่วงกลางทศวรรษ 1960 ซึ่งเริ่มสามารถเห็นได้ถึงเค้าลางการถดถอยของความนิยมในภาพยนตร์มลายู คาเธ่ย์-เกอริสกับราโอได้รื้อฟื้นปนติอานักกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แต่ภาพยนตร์เรื่อง Pontianak Gua Musang (1964) ไม่มีพลังมากพอที่จะต้านทานความเปลี่ยนแปลง ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ราโอสร้างไว้ให้กับวงการภาพยนตร์มลายูที่สิงคโปร์ เขาเป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอินเดียที่ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศตัวเองในที่สุด
จิรวัฒน์ แสงทอง
กรกฎาคม 2559