ดาโต๊ะลักษมานัน กฤษณันเป็นหนึ่งในบุคลากรรุ่นบุกเบิกของภาพยนตร์มลายูที่สิงคโปร์ และสำหรับบางคนพร้อมที่จะขนานนามเขาในฐานะ “บิดาแห่งภาพยนตร์มลายู”
เขามีเชื้อสายอินเดีย-ทมิฬ เกิดวันที่ 21 ตุลาคม 1922 ที่เมืองมาดราส ประเทศอินเดีย พออายุหกขวบ เขาย้ายตามครอบครัวซึ่งมาประกอบธุรกิจค้าผ้าที่ปีนัง หลังจากสำเร็จการศึกษา ดาโต๊ะกฤษณันเดินทางมาสู่สิงคโปร์ โดยเริ่มต้นชีวิตการทำงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับที่ Raffles Hotel โรงแรมชั้นนำที่นั่น ความสามารถด้านภาษาญี่ปุ่น (ดาโต๊ะกฤษณันรู้ทั้งภาษามลายู อังกฤษ ทมิฬ ฮินดี ฮกเกี้ยน และญี่ปุ่น) ทำให้เขาขยับขยายตำแหน่งงานในธุรกิจโรงแรมที่สิงคโปร์ ข้ามไปทำงานที่อาเจะห์ อินโดนีเซีย กระทั่งเมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาได้เดินทางกลับมาสิงคโปร์เพื่อเข้าร่วมกับกองทัพแห่งชาติอินเดีย (Indian National Army) อันเป็นกองกำลังที่ญี่ปุ่นช่วยจัดตั้งขึ้น หลังสงครามสิ้นสุดและอังกฤษกลับมาสถาปนาอำนาจตัวเองเหนือสิงคโปร์และมลายาอีกครั้งหนึ่ง กองทัพอังกฤษได้ส่งตัวเขากลับไปยังเมืองมาดราส ประเทศอินเดียในปี 1946 ที่นั่นดาโต๊ะกฤษณันยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยร่วมก่อตั้งขบวนการยุวชนแห่งมาดราสของพรรค Indian National Congress ปีต่อมาเขาจึงได้เริ่มเข้าไปมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียที่นั่น โดยได้เข้าไปฝึกฝนในฐานะผู้ช่วยผู้กำกับ และได้มีโอกาสกำกับภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง
ช่วงเวลาเดียวกันนั้น แมวมองของชอว์บราเดอร์เดินทางไปมาดราสเพื่อเสาะหาผู้กำกับ ดาโต๊ะกฤษณันถูกทาบทามเมื่อแมวมองพบว่าเขาเคยใช้ชีวิตอยู่ที่มลายาและสิงคโปร์ ดาโต๊ะกฤษณันเดินทางกลับมายังสิงคโปร์ในเดือนตุลาคม 1949 เขาเดินทางกลับสิงคโปร์และได้เข้าร่วมงานในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ในสตูดิโอผลิตภาพยนตร์มลายูเต็มรูปแบบที่ชอว์บราเดอร์เพิ่งสถาปนาขึ้นใหม่หมาด ปีต่อมาเขาได้กำกับภาพยนตร์มลายูเรื่องแรกคือเรื่อง Bakti ซึ่งเขาตัดสินใจส่งเสริมให้ พี. รามลี ขึ้นมารับบทนำเป็นครั้งแรก กระทั่งเป็นการปูทางให้รามลีได้กลายเป็นดาวเด่นที่สุดในวงการในเวลาต่อมา
ประวัติผลงานภาพยนตร์ภายใต้การกำกับของดาโต๊ะกฤษณันชี้ให้เห็นว่าเขาเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างสูงในการวางรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับทั้งสามสตูดิโอสำคัญของวงการ คือ ทั้งสำหรับมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์ คาเธ่ย์-เกอริส และสตูดิโอเมอร์เดกา ในบรรดาภาพยนตร์มลายู 34 เรื่องที่เขากำกับนั้น เรื่องเด่นที่ยังคงได้รับการยกย่องอ้างถึงในคุณภาพจนกระทั่งทุกวันนี้ เช่น Antara Senyum Dan Tangis (1952) Selamat Tinggal Kekaseh-ku (1955) Orang Minyak (1958) เป็นต้น
นอกเหนือจากการสร้างภาพยนตร์มลายูเรื่องสำคัญหลายต่อหลายเรื่องดังกล่าว ดาโต๊ะกฤษณันยังบทบาทสำคัญในการค้นพบและปั้นนักแสดงชั้นนำขึ้นประดับวงการมลายู เขาเคยเล่าเบื้องหลังว่า ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับประสบการณ์ที่เขาได้รับมาจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดีย เขาจะคัดเลือกนักร้องผู้มีเสน่ห์และความสามารถ ผลักดันให้ขึ้นมาเป็นดารานำในภาพยนตร์ และนั่นเป็นเหตุผลที่เขาเลือก พี. รามลีให้เป็นดารานำเป็นครั้งแรกในภาพยนตร์ของเขา นอกจากรามลีแล้ว ดาราเด่นอย่างมาเรีย เมอนาโด, กัสมา บูตี, เอ็ม. อามิน, ลาติฟาห์ โอมาร์, มุสตาฟา มาอะรอฟ, และโรสนานี จามิล ล้วนได้รับโอกาสและผ่านการฝึกฝนจากดาโต๊ะกฤษณัน
ดาโต๊ะกฤษณันเป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์จากอินเดียที่ตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตต่อไปในมลายา ขณะที่ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอินเดียส่วนใหญ่ได้เดินทางกลับประเทศของตนเมื่อเข้าสู่ยุคเสื่อมถอยของภาพยนตร์มลายู เขาปลดระวางตัวเองจากสตูดิโอเมอร์เดกาในปี 1963 หันไปทำธุรกิจส่วนตัวที่ยังคงเกี่ยวข้องกับกิจการภาพยนตร์ และยังคงมีบทบาทอยู่บ้างในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของมาเลเซีย ในปี 2013 ซึ่งบุคลากรจากยุคต้นของอุตสาหกรรมภาพยนตร์มลายูต่างล่วงลับกันไปเป็นจำนวนมากจนแทบหมดสิ้นแล้ว ดาโต๊ะกฤษณันในวัยกว่า 90 ปีได้รับรางวัลเกียรติคุณจาก The Gandhi Memorial Trust สำหรับคุณูปการมหาศาลที่เขาอุทิศให้แก่กิจการสาธารณะ เขายังวาดหวังที่จะมีชีวิตอยู่จนถึงปี 2020 และกล่าวว่า “ไม่สำคัญว่าคุณจะอายุ 90 หรือ 20 จงใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและอย่าเสียใจกับมัน”
จิรวัฒน์ แสงทอง