ในขณะที่การชมภาพยนตร์โดยส่วนใหญ่มักจะละเลยมองข้ามรายชื่อทีมงานสร้างภาพยนตร์อยู่บ่อยๆ แต่หากใครสักคนจะพิจารณาเครดิตตอนต้นเรื่องของภาพยนตร์มลายูในช่วงยุคทองอย่างละเอียดมากขึ้นสักนิด โดยเฉพาะต่อภาพยนตร์ของดารา-ผู้กำกับภาพยนตร์ในตำนานอย่าง พี. รามลี ชื่อของ เอ.วี. บาปัต จะปรากฏให้เห็นซ้ำบ่อยครั้งจากภาพยนตร์หลายเรื่องจนสามารถสะดุดตา โดยส่วนใหญ่ในตำแหน่งผู้กำกับศิลป์ และบ้างที่รวมถึงฝ่ายเทคนิคและช่างแต่งหน้า
เอ.วี. บาปัตซึ่งชื่อเต็มคือ อัคยุธ วิษณุ บาปัต เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ดีเด่นชัดของปรากฏการณ์ข้ามพรมแดนของการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ในเอเชียช่วงสมัยอาณานิคม เขาเป็นชาวอินเดียโดยกำเนิด บาปัตเคยให้ข้อมูลต่อหนังสือพิมพ์ในสิงคโปร์ว่าเขาเป็นเด็กกำพร้าที่เข้ามาใช้ชีวิตเร่ร่อนแร้นแค้นในบอมเบย์ กระทั่งราวตอนอายุเพียงแค่สิบปีก็ได้เริ่มทำงานเขียนป้ายโฆษณาในตอนกลางวันและเรียนหนังสือภาคค่ำหลังเลิกงาน ต่อมาในปี 1934 เขาได้มีโอกาสร่วมงานเป็นช่างเขียนฉากหลังให้กับภาพยนตร์ของซอฮ์รับ โมดี ดารา ผู้กำกับ และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ผู้ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติในฐานะหนึ่งปรมาจารย์ของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อินเดีย จากนั้นในปีถัดมา บาปัตได้ยกระดับตัวเองสู่ตำแหน่งผู้กำกับศิลป์และช่างเมคอัพของสตูดิโอ Hans Pictures และเคยได้ทำงานกำกับศิลป์ให้กับภาพยนตร์จำนวนหนึ่งที่กำกับโดยเมห์บูบ ข่าน ผู้ซึ่งเมื่อถึงช่วงปลายทศวรรษ 1950 จะเป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Mother India (1957) อันโด่งดัง
ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะอุบัติขึ้นไม่นาน บาปัตเริ่มก้าวสู่งานอำนวยการสร้าง โดยได้ผลิตทั้งภาพยนตร์สารคดีและภาพยนตร์เรื่อง จำนวนหนึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจนถูกซื้อไปจัดฉายนอกประเทศอินเดีย ในช่วงระหว่างสงคราม เขาทำงานให้กับสตูดิโอ Navayuga Chistrapat Ltd. โดยทั้งเป็นผู้จัดการสตูดิโอ หัวหน้าฝ่ายการตลาด และผู้กำกับศิลป์ ก่อนที่จะผันตัวเองเป็นฟรีแลนซ์ทั้งงานด้านกำกับศิลป์ แต่งหน้า ถ่ายภาพนิ่ง และเขียนโปสเตอร์ภาพยนตร์ หลังจากฝากผลงานและชื่อเสียงในฐานะผู้กำกับศิลป์ในภาพยนตร์อินเดียกว่า 60 เรื่อง โดยรวมถึงเครดิตการได้ร่วมงานกับดารา ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงในช่วงหลังสงคราม อย่าง ราช กาปูร์และ วี. ชานตารัม เขาตอบรับการติดต่อจากสตูดิโอ Persari Film แห่งอินโดนีเซียในปี 1956 ให้มาทำงานด้านการกำกับศิลป์ ซึ่งภายใต้หลังคาของสตูดิโอแห่งนี้ บาปัตได้มีส่วนร่วมในภาพยนตร์เพียงแค่สามเรื่อง เพราะในปีต่อมา สถานการณ์ทางการเมืองในอินโดนีเซียเริ่มส่งผลกระทบต่อสตูดิโอที่เขาทำงาน และให้ประจวบเหมาะกับที่เขาได้รับการทาบทามจากชอว์บราเดอร์ให้เดินทางข้ามน้ำมาสู่สิงคโปร์เพื่อร่วมงานกับมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์
เอ.วี. บาปัตทำงานด้านการกำกับศิลป์และช่างแต่งหน้าอยู่เบื้องหลังภาพยนตร์มลายูที่โด่งดังหลายเรื่อง จำนวนหนึ่งเช่น Sumpah Orang Minyak (พี. รามลี, 1958) Raja Laksamana Bintan (จามิล สุหลง, 1959) Nujum Pa’ Blalang (พี. รามลี, 1959) Batu Durhaka (โอมาร์ โรยิก์, 1962) Madu Tiga (พี. รามลี, 1964) และ Tiga Abdul (พี. รามลี, 1964) เป็นต้น นอกจากนี้ เกียรติคุณที่ได้รับการบันทึกไว้เคียงคู่ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์มลายูนั้นคือว่า บาปัตเป็นศิลปินช่างแต่งหน้าซึ่งมีชื่อเป็นสมาชิกของสมาคมศิลปินช่างแต่งหน้าแห่งอเมริกัน โดยในจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 64 คนของสมาคมนั้น 44 คนเป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในอเมริกาและเพียงสองคนจากเอเชีย คือ หนึ่งจากญี่ปุ่นและอีกหนึ่งนั้น คือ เอ.วี. บาปัตจากบริติชมลายา
หลังจากมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์แห่งสิงคโปร์ปิดตัวลงในปี 1967 บาปัตเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคลากรวงการภาพยนตร์ที่เดินทางข้ามสู่กัวลาลัมเปอร์ เข้าได้รับโอกาสอันดีโดยได้เข้าทำงานในตำแหน่งผู้กำกับฝ่ายศิลป์ให้กับ Radio Television Malaysia ต่อมา เขาได้ลาออกและทำงานฟรีแลนซ์อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์หลายเรื่องที่ผลิตโดยหน่วยงานหรือบริษัทใหม่ๆ ที่มาเลเซีย เช่นทั้งกับสตูดิโอเมอร์เดกาและ Perusahaan Filem Malaysia (Perfima) ที่ก่อตั้งโดยบุคลากรจากวงการภาพยนตร์ที่สิงคโปร์จำนวนหนึ่ง รวมถึงกับ Filem Negara Malaysia ของรัฐบาลมาเลเซีย
นอกจากผลงานเบื้องหลัง บาปัตยังได้เคยฝากผลงานการแสดงไว้กับบทเล็กๆ ในภาพยนตร์เรื่อง Matinya Seorang Patriot กำกับโดยราฮิม ราซาลี เมื่อปี 1984
จิรวัฒน์ แสงทอง
กรกฎาคม 2559