ในขณะที่ภาพยนตร์มลายูโดยส่วนใหญ่แล้วจะมุ่งเน้นเป้าหมายในการสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ชม ฮุสเซน ฮานิฟฟ์เป็นหนึ่งผู้กำกับภาพยนตร์มลายูน้อยคนที่ได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงในอัจฉริยภาพและการยกระดับทางศิลปะของภาพยนตร์ตระกูลนี้
บิดาของฮุสเซน ฮานิฟฟ์เดินทางจากดินแดนซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศปากีสถานมาสู่สิงคโปร์ โดยเริ่มต้นทำงานเป็นช่างเขียนฉากของคณะละครบังซาวัน กระทั่งต่อมาได้เปลี่ยนมาทำงานเป็นช่างวาดโปสเตอร์ภาพยนตร์ให้กับชอว์บราเดอร์ ฮานิฟฟ์เริ่มเข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยเจตนาจะเป็นนักแสดง แต่โอกาสในอาชีพกลับนำเขาไปสู่งานเบื้องหลัง โดยเริ่มต้นจากตำแหน่งผู้ตัดต่อภาพยนตร์ของสตูดิโอคาเธ่ย์-เกอริสในช่วงปลายทศวรรษ 1950 เขาได้ฝากผลงานการตัดต่อไว้ภาพยนตร์สำคัญหลายเรื่องของสตูดิโอฯ และได้มีโอกาสร่วมงานกับผู้กำกับภาพยนตร์จากอินเดียซึ่งมีอิทธิพลเป็นอย่างสูงอยู่ในวงการ เช่น ร่วมงานกับลักษมานัน กฤษณันในภาพยนตร์เรื่อง Chinta Gadis Limba (1958) และ Rasa Sayang-eh (1959) กับ บี. เอ็น. ราโอใน Sumpah Pontianak (1958) กับ เค. เอ็ม. บัสเกอร์ใน Noor Islam (1960) เป็นต้น ซึ่งในภาพยนตร์เหล่านี้ การตัดต่อเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่โดดเด่นในคุณภาพ
ในปี 1961 ซึ่งฮุสเซน ฮานิฟฟ์ยังอายุเพียงแค่ 27 ปี เขาได้มีโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของตน คือเรื่อง Hang Jebat ภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งหยิบเอาเรื่องราวบางตอนจากมหากาพย์คลาสสิกของชาวมลายู (Hikayat Hang Tuah, ซึ่งเป็นที่มาเดียวกันสำหรับภาพยนตร์เรื่อง Hang Tuah เมื่อปี 1956 โดยมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์) ได้รับการแซ่ซ้องทั้งในด้านศิลปะภาพยนตร์และการตีความอย่างท้าทาย Hang Jebat ส่งให้ฮานิฟฟ์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชั้นแนวหน้าในวงการแทบจะในทันทีทันใด สถานะดังกล่าวนี้ยิ่งถูกเน้นย้ำเมื่อทั้ง Hang Jebat และภาพยนตร์เรื่องต่อมาของเขา คือ Dang Anom (1962) ไม่เพียงจะโดดเด่นทางศิลปะเท่านั้น หากแต่ยังประสบความสำเร็จทางด้านรายได้เป็นอย่างสูง
ปี 1964 ฮุสเซน ฮานิฟฟ์กำกับภาพยนตร์เรื่อง Dua Pendekar ซึ่งกระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังคงได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดที่ได้สร้างขึ้นที่สิงคโปร์ ด้วยการที่คาเธ่ย์-เกอริสค่อนข้างให้อิสระแก่เขา ฮานิฟฟ์จึงสามารถถ่ายทอดทักษะและมุมมองต่อศิลปะภาพยนตร์ได้อย่างเต็มความสามารถ ภาพยนตร์ภายใต้การกำกับของเขาให้ความสำคัญต่อการจัดองค์ประกอบภาพ การเคลื่อนที่ของกล้อง มุมกล้อง และนานาภาษาภาพยนตร์ กระทั่งในภาพยนตร์ตลก อย่างเช่น Gila Talak (1963) และ Masuk Angin Keluar Asap (1963) ก็ยังสามารถแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานระดับสูงในการกำกับ เทคนิค และภาษาภาพยนตร์ ฮานิฟฟ์ยังสะท้อนศักยภาพของเขาด้วยการดัดแปลงวรรณกรรมของเชคสเปียร์มาเป็นภาพยนตร์มลายูเรื่อง Istana Berdarah ในปี 1964
ผลงานการกำกับในยุคต้นของฮุสเซน ฮานิฟฟ์โดยส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์ดรามาย้อนยุค ซึ่งด้วยเหตุนี้จึงทำให้ภาพยนตร์ของเขาดูเหมือนจะว่าด้วยเรื่องราวและประเด็นที่แทบจะตรงกันข้ามกับผลงานอันสำคัญจำนวนมากของผู้กำกับผู้ยิ่งยงอีกคนของวงการอย่าง พี. รามลี ที่มักนำเสนอเรื่องราวและตั้งคำถามต่อสังคมร่วมสมัย อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ฮานิฟฟ์ก็ใช่ว่าจะร้างไร้ซึ่งการตอบโจทย์ของยุคสมัย สิ่งที่บันทึกไว้อย่างโดดเด่นในภาพยนตร์ย้อนยุคของเขาคือการตั้งคำถามต่อองค์ประกอบศักดินาในสังคมมลายู และบ่อยครั้งด้วยท่าทีที่ก้าวหน้าอย่างสูง การนำภาพยนตร์ไปสู่วิวาทะในประเด็นปัญหาดังกล่าวได้อย่างแหลมคมถือเป็นจุดร่วมสำคัญหนึ่งของผู้กำกับภาพยนตร์ทั้งสอง
ในช่วงท้ายของชีวิตการกำกับภาพยนตร์ ฮุสเซน ฮานิฟฟ์ได้หันมาสร้างสรรค์ภาพยนตร์ที่ท้องเรื่องเป็นสังคมร่วมสมัย ภาพยนตร์เรื่อง Chinta Kaseh Sayang และ Jiran Sekampong ต่างออกฉายในปี 1965 ปีดังกล่าวเป็นช่วงเวลาอันสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อประวัติศาสตร์ของทั้งสิงคโปร์และมาเลเซีย หลังจากผ่านการขบคิด ตั้งคำถาม ลองผิดลองถูก และวิวาทะกันอย่างเข้มข้นต่อความเป็นไปและอนาคตของชาติใหม่ สิงคโปร์ตัดสินใจแยกตัวออกจากมาเลเซียเพื่อเป็นชาติเอกราชใหม่ในปีนั้น ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องของฮานิฟฟ์ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวธรรมดาสามัญของผู้คนในสังคม ได้ทิ้งร่องรอยของการบันทึกวิถีที่ผู้คนในสิงคโปร์เผชิญกับความทันสมัย การปะทะกันระหว่างจารีตดั้งเดิมกับอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก และช่องว่างที่ขยายกว้างระหว่างคนต่างรุ่น
ฮุสเซน ฮานิฟฟ์เสียชีวิตก่อนวัยอันควรในปี 1966 ด้วยวัยเพียงแค่ 32 ปี เข้าได้ใช้เวลาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์เพียงห้าปีกับภาพยนตร์จำนวน 13 เรื่อง ห้าปีดังกล่าวมากพอที่จะทำให้เขาได้รับการยกย่องในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีอัจฉริยภาพอันเอกอุ และภาพยนตร์หลายเรื่องถูกให้ค่าด้วยป้ายคลาสสิก เฉกเช่นเดียวกับ พี. รามลีที่การยกย่องให้ค่าดังว่านี้มาถึงหลังจากที่พวกเขาเสียชีวิตไปกว่า 1-2 ทศวรรษ
จิรวัฒน์ แสงทอง
กรกฎาคม 2559