โฮ อาลกเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญที่วางรากฐานให้กับยุคบุกเบิกของอุตสาหกรรมภาพยนตร์มลายู ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์มาเลเซียฉบับทางการมักจะระบุชื่อและบทบาทของเขาอย่างจำกัด เหตุผลนั้นอาจเนื่องจากการแยกกันทางชาติพันธุ์ซึ่งครอบงำหลายมิติของสังคมและอุดมการณ์ของชาติมาเลเซียได้มีส่วนทำให้การให้ค่าต่อชนเชื้อชาติอื่นต่อสิ่งซึ่งเป็นมลายูนั้นทำกันอย่างจำกัดจำเขี่ย
โฮ อาลกเกิดปี 1901 ที่รัฐอาณานิคมบริติชกีนี จบการศึกษาจากวิทยาลัยจอร์จ วัตสันที่เอดินเบอระ กระทั่งเมื่อครอบครัวได้ย้ายมาที่ปีนัง เขาเข้าศึกษาที่วิทยาลัยเซนต์ซาเวียร์ส ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง หลังจากเดินทางกลับมายังปีนังในปี 1925 โฮเริ่มหันมาลงทุนในธุรกิจจัดฉายภาพยนตร์ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นพี่น้องตระกูลชอว์ได้เดินทางจากเซี่ยงไฮ้มาถึงสิงคโปร์และเริ่มจริงจังในการขยายกิจการโรงฉายภาพยนตร์ในสิงคโปร์และเขตพื้นที่ทางตอนใต้ของมลายา โฮเลือกที่จะหันไปมุ่งธุรกิจในพื้นที่ตอนเหนือของมลายาเลยเรื่อยขึ้นมาถึงภาคใต้ของไทย เขาเริ่มกิจการโดยการเร่ฉายภาพยนตร์ไปตามพื้นที่ห่างไกลก่อนที่จะสะสมทุนเพื่อซื้อกิจการโรงภาพยนตร์ที่ตั้งมั่นอยู่ก่อนแล้ว กระทั่งถึงช่วงเปิดฉากขึ้นของสงครามโลกครั้งที่สอง โฮได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อธุรกิจโรงฉายภาพยนตร์ในพื้นที่ตอนเหนือของมลายา มีโรงภาพยนตร์ในเครือข่ายครอบคลุมทั้งที่กัวลาลัมเปอร์ อิโปห์ และปีนัง
โฮ อาลกหนีภัยสงครามมาอยู่เมืองไทยและกลับไปยังมลายาเมื่อสงครามสงบ เขาพยายามรื้อฟื้นกิจการโรงภาพยนตร์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยคราวนี้ได้พยายามติดต่อเป็นพันธมิตรกับลก วันโธแห่งบริษัทคาเธ่ย์ซึ่งเริ่มหันมาให้ความสนใจต่อธุรกิจความบันเทิงอย่างจริงจังมากขึ้นในช่วงหลังสงคราม ทั้งสองร่วมกันก่อตั้งบริษัท Associated, International and Loke Theatres เพื่อดำเนินกิจการโรงฉายและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ แต่โฮต้องประสบปัญหาไม่น้อยเมื่อต้องเผชิญกับการแข่งขันกับชอว์บราเดอร์ โดยเฉพาะในกรณีของภาพยนตร์มลายูที่เริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้นของผู้ชมท้องถิ่น เนื่องด้วยในขณะนั้นมีเพียงมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์ของชอว์บราเดอร์เท่านั้นที่ทำการผลิตภาพยนตร์มลายูอย่างจริงจัง และชอว์บราเดอร์มีนโยบายไม่ป้อนภาพยนตร์ดังกล่าวนี้แก่เครือข่ายโรงภาพยนตร์ของคู่แข่ง ทำให้โฮได้แต่เพียงนำเข้าภาพยนตร์จากอินโดนีเซียและอินเดียเป็นหลัก
เพื่อตอบโต้แรงกดดันดังกล่าวนี้ โฮ อาลกได้ตัดสินใจร่วมมือกับนักธุรกิจชาวอินเดียก่อตั้งริเมาฟิล์มโปรดักชั่นส์ในปี 1947 โดยได้ทำข้อตกลงกับลก วันโธในการรับภาพยนตร์มลายูที่ริเมาฯ ผลิตเข้าฉายในเครือข่ายโรงภาพยนตร์ของคาเธ่ย์ แต่หลังจากริเมาฯ ผลิตภาพยนตร์ออกมาได้เพียงสองเรื่อง หุ้นส่วนธุรกิจชาวอินเดียถอนตัวออกไป โฮตัดสินใจก่อตั้งสตูดิโอผลิตภาพยนตร์ของตนเอง คือ เกอริสฟิล์มโปรดักชั่นส์ในปี 1951 แม้ว่าจะเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นและทะเยอทะยาน แต่เกอริสฯ ก็ยังประสบปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะในด้านแหล่งทุนที่มีอย่างจำกัด ด้วยเหตุนี้ โฮจึงได้ตัดสินใจชักจูงให้ลกหันมาจริงจังกับธุรกิจนี้มากขึ้น ทั้งสองร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้นอีกระดับด้วยการสถาปนาสตูดิโอคาเธ่ย์-เกอริสในปี 1953 สตูดิโอแห่งนี้สามารถก้าวขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ในวงการและท้าทายชอว์บราเดอร์ได้อย่างยาวนาน
โฮ อาลกเป็นผู้อำนวยการผลิตภาพยนตร์ที่มีความกระตือรือร้นเป็นอย่างสูง เขาริเริ่มสิ่งใหม่หลายประการให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์มลายูแห่งสิงคโปร์ อันรวมถึงการได้เครดิตในฐานะผู้ผลิตภาพยนตร์สีสองเรื่องแรก คือ Perwira (จาฟาร์ วีระโย, 1952) และ Buloh Perindu (บี. เอส. ราชหรรษ์, 1953) หรือในขณะที่สตูดิโอยักษ์ใหญ่อย่างมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์ยังคงเชื่อมั่นเฉพาะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอินเดียและไม่ไว้วางใจให้คนพื้นเมืองขึ้นมากุมบังเหียนในการกำกับภาพยนตร์ โฮได้ให้โอกาสแก่ผู้กำกับภาพยนตร์จากหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวอินเดีย ยูเรเซีย อินโดนีเซีย และกระทั่งชาวมลายู ดาราหลายคนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นดาวเด่นแห่งยุคทองของภาพยนตร์มลายูได้รับโอกาสและการผลักดันจากโฮ เช่น เอส. รูไม นูร์, มัต เซินตอล และวาฮิด ซาเต๊ะ เป็นต้น
หลังจากมลายาได้รับเอกราชในปี 1957 โฮ อาลกได้สร้างคุณูปการสำคัญอีกครั้งหนึ่งต่อวงการ เมื่อเขาตัดสินใจลาออกจากคาเธ่ย์-เกอริสและข้ามฟากจากสิงคโปร์ไปสู่มลายา เขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอเมอร์เดกาที่ชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ในปี 1960 สตูดิโอแห่งนี้ได้กลายเป็นสถานที่รองรับและลี้ภัยให้กับบุคลากรวงการภาพยนตร์มลายูแห่งสิงคโปร์ที่บรรยากาศทางการเมือง ณ ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นผลักดันให้ต้องเลือกอพยพมาสู่ชาติเกิดใหม่ สตูดิโอเมอร์เดกาได้ผลิตภาพยนตร์มลายูที่ทรงคุณค่าต่อมาอีกหลายเรื่องนับจากต้นทศวรรษ 1960 ส่วนโฮเอง เขาถอนตัวออกจากสตูดิโอเมอร์เดกาไม่นานในช่วงกลางทศวรรษนั้น หายไปจากวงการ กระทั่งเสียชีวิตในปี 1982 โดยอาจจะเรียกได้ว่าแทบถูกหลงลืมไปอย่างสิ้นเชิง
จิรวัฒน์ แสงทอง
กรกฎาคม 2559