ลก วันโธเป็นบุตรชายของลก ยิว คหบดีผู้มั่งคั่งแห่งมลายา โดยตัวของลก ยิวนั้น เกิดในตระกูลหว่องที่เมืองเหอซาน มณฑลกวางตุ้ง เขาออกจากบ้านเพื่อหางานทำตั้งแต่ยังเด็ก จากการทำงานกับนายจ้างซึ่งเป็นคนตระกูลลกทำให้เขาใช้ชื่อตระกูลของนายจ้างเป็นชื่อแซ่ตนนับแต่นั้นมา เข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เขาเดินทางในฐานะแรงงานรับจ้างมาสู่มลายา จากโอกาสทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง เพียงชั่วระยะเวลาไม่กี่ปี ลก ยิวสามารถที่จะสะสมทุนและสร้างธุรกิจส่วนตัว จนกระทั่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลอาณานิคมเป็นเจ้าภาษีนายอากรกิจการเหมืองแร่ หลังจากนั้น เขาได้ขยายเครือข่ายธุรกิจออกไปอย่างกว้างขวาง สู่ธุรกิจปลูกยางพารา กาแฟ มะพร้าว พริกไทย โรงงานปูนซีเมนต์ และโรงงานเหล็ก ขยายต่อไปสู่กิจการธนาคารในช่วงต้นทศวรรษ 1910 ลก ยิวเสียชีวิตในปี 1917 อาณาจักรธุรกิจอันคึกคักมั่งคั่งของตระกูลถูกโอนให้อยู่ภายใต้การดูแลของภรรยาคนที่สี่ ซึ่งมีบุตรชายหนึ่งคนและบุตรสาวสองคนร่วมกัน ลก วันโธเป็นบุตรชายคนเดียวนั้น โดยในตอนที่บิดาเสียชีวิต เขาอายุเพียงแค่สองขวบ
ด้วยความเฟื่องฟูรุ่งเรืองของตระกูล ทำให้ลก วันโธเติบโตขึ้นมาอย่างเพียบพร้อมและทันสมัย รับการศึกษาแบบตะวันตกที่กัวลาลัมเปอร์ ต่อด้วยเดินทางไปศึกษาที่โรงเรียนประจำที่สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนที่จะไปศึกษาต่อด้านวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ที่เคมบริดจ์และ London School of Economics ในเวลาต่อมา เขาเดินทางกลับมายังสิงคโปร์ในปี 1940 และเข้ารับช่วงต่อกิจการของครอบครัว ซึ่งถึงช่วงเวลานั้นอาณาจักรคาเธ่ย์ของตระกูลยิ่งขยายใหญ่ไปรวมถึงกิจการสายการบิน อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจความบันเทิง แม้จะเป็นเจ้าสัวผู้มั่งคั่ง ลก วันโธแสดงให้เห็นบ่อยครั้งว่าเขายังคงรักชอบในศิลปะ ประวัติศาสตร์ กอล์ฟ ภาพยนตร์ และกิจกรรมอย่างการถ่ายภาพและดูนก
ลก วันโธลี้ภัยไปยังดัตช์อีสต์อินดีสในช่วงญี่ปุ่นเข้ายึดครองสิงคโปร์ เมื่อกลับมาหลังจากสงครามสิ้นสุด ภายใต้การฟื้นฟูธุรกิจของครอบครัวขึ้นอีกครั้งนั้น เขาได้เริ่มรุกสู่ธุรกิจภาพยนตร์อย่างจริงจัง จากที่ก่อนสงคราม ครอบครัวได้เริ่มธุรกิจโรงฉายไว้จำนวนหนึ่ง เขาได้ก้าวไปสู่ธุรกิจจัดจำหน่ายและขยายเครือข่ายโรงภาพยนตร์ของตนอย่างขนานใหญ่ ไม่เพียงเฉพาะที่สิงคโปร์และมลายา แต่พยายามขยายไปสู่หลายพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเป้าหมายให้เมืองใหญ่ในภูมิภาคนี้มีโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยของบริษัทคาเธ่ย์อยู่อย่างน้อยหนึ่งโรงทุกเมือง ด้วยระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปี เขาสามารถสร้างเครือโรงภาพยนตร์ นับเฉพาะระดับโรงชั้นหนึ่งที่หรูหราทันสมัยได้กว่า 40 โรงทั่วทั้งภูมิภาค
การขยายกิจการไปสู่ธุรกิจโรงฉายและจัดจำหน่ายภาพยนตร์นั้น ทำให้ลก วันโธและบริษัทคาเธ่ย์ของเขาต้องเป็นคู่แข่งทางธุรกิจกับชอว์บราเดอร์อย่างมิอาจเลี่ยง เพื่อที่จะได้มีภาพยนตร์มลายูเข้าฉายในเครือโรงภาพยนตร์ของตน ลกพยายามแสวงหาพันธมิตรและสนับสนุนให้เกิดสตูดิโอผลิตภาพยนตร์ขึ้นแข่งขันกับมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์ของชอว์บราเดอร์ เป้าหมายดังกล่าวนี้ทำให้เขาได้ติดต่อเป็นหุ้นส่วนกับโฮ อาลก ผู้ซึ่งพยายามผลิตภาพยนตร์มลายูแข่งขันกับมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์อยู่ด้วยเช่นกัน ริเมาฟิล์มโปรดักชั่นส์ (Rimau Film Productions) และต่อมาด้วยเกอริสฟิล์มโปรดักชั่นส์ (Keris Film Productions) ของโฮ อาลกไม่อาจดำเนินการได้ตลอดรอดฝั่งทั้งสองสตูดิโอ ในที่สุดจึงถึงเวลาที่ทั้งสองนายทุนผู้ฝักใฝ่ในกิจการภาพยนตร์ได้ร่วมมือกันก่อตั้งสตูดิโอคาเธ่ย์-เกอริสด้วยกันในปี 1953
ภายใต้บทบาทนายทุนหลักของสตูดิโอฯ ลก วันโธทั้งเปิดกว้างและสนับสนุนให้คาเธ่ย์-เกอริสบุกเบิกเส้นทางใหม่ๆ ให้แก่วงการภาพยนตร์มลายู และเพื่อที่จะขับเคี่ยวกับมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์ที่ครองใจผู้ชมอยู่ก่อน คาเธ่ย์-เกอริสพยายามนำเสนอสิ่งใหม่เพื่อเร่งระดับให้ทัดเทียมคู่แข่ง เช่น การสร้างภาพยนตร์สีทุ่มทุนสูง เน้นคุณภาพของเทคนิคภาพยนตร์ ผลิตภาพยนตร์ซีเนมาสโคป ผลิตภาพยนตร์มลายูพากย์ภาษาจีนเพื่อขยายกลุ่มตลาด ถ่ายทำภาพยนตร์ในต่างประเทศ เปิดโอกาสให้ชาวมลายูขึ้นมากุมบังเหียนกำกับภาพยนตร์ในช่วงเวลาที่ทั้งนายทุนและผู้ชมดูเหมือนจะยังเชื่อมั่นในผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอินเดียมากกว่าคนท้องถิ่น ฯลฯ ซึ่งแม้ว่าในเวลาต่อมา โฮ อาลกผู้เป็นบุคคลสำคัญในการวางรากฐานให้แก่คาเธ่ย์-เกอริสจะผิดใจกับลกและได้ลาออกจากสตูดิโอไป แต่คาเธ่ย์-เกอริสก็ยังคงสามารถก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งทัดเทียมกับมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์ โดยมีความโดดเด่นในการสร้างภาพยนตร์กลุ่มหนังสยองขวัญและแนวนำเสนอมิติวัฒนธรรมมลายู
เช่นเดียวกับชอว์บราเดอร์ที่ตระหนักว่าการที่จะสถาปนาความยิ่งใหญ่ในอาณาจักรความบันเทิง ณ ช่วงเวลานั้น การหยุดอยู่เพียงแค่ขอบเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ย่อมเป็นการจำกัดตัวเองไปโดยปริยาย ลก วันโธได้เริ่มขยายการดำเนินงานของคาเธ่ย์ไปสู่ฮ่องกง โดยการจัดตั้งสาขาของบริษัท International Film Distribution Agency ของตนเพื่อจัดหาภาพยนตร์จีนส่งป้อนเครือข่ายโรงภาพยนตร์ของคาเธ่ย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทที่ฮ่องกงเริ่มขยายกิจการไปสู่การผลิตภาพยนตร์ ให้ทุนการผลิตแก่บริษัทผลิตภาพยนตร์รายย่อย กระทั่งได้ผนวกกิจการของสตูดิโอชั้นนำที่ฮ่องกง จัดตั้งสตูดิโอ Motion Picture and General Investment (MP&GI) ในปี 1956 ภายใต้การบริหารของลกซึ่งยอมรับกันว่ามีแนวทางทันสมัยแบบการดำเนินธุรกิจยุคใหม่อย่างตะวันตก ภายในระยะเวลาไม่นาน MP&GI ได้ยกระดับเป็นสตูดิโอผลิตภาพยนตร์ชั้นแนวหน้าของฮ่องกง และนั่นทำให้ที่ฮ่องกงนี้ การแข่งขันขับเคี่ยวระหว่างคาเธ่ย์กับชอว์บราเดอร์ขยายตัวออกมาและอย่างเข้มข้นยิ่งกว่าที่สิงคโปร์ มลายา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลก วันโธเสียชีวิตอย่างไม่คาดฝันในวันที่ 20 มิถุนายน 1964 จากอุบัติเหตุเครื่องบินตกหลังจากที่เขาเดินทางไปร่วมงาน Asian Film Festival ครั้งที่ 11 ที่ไต้หวัน โศกนาฏกรรมครั้งนี้ส่งผลกระเทือนอย่างยิ่งใหญ่ต่อคาเธ่ย์ เพราะแม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งทางธุรกิจอย่างตระกูลชอว์แล้ว ตระกูลลกจะมีแนวทางการบริหารแบบตะวันตกมากกว่า แต่สายสัมพันธ์และเครือข่ายของครอบครัวนั้นหย่อนและกว้างขวางน้อยกว่า ปัจจัยนี้ส่งผลทั้งต่อการเติบโตและเสื่อมถอยในธุรกิจบันเทิงของตระกูล ไม่ผิดหากจะกล่าวว่าคาเธ่ย์นั้นก็คือลก วันโธ ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงชี้ว่าการเสียชีวิตของเขาเป็นจุดตัดสำคัญสู่การเริ่มนับถอยหลังเข้าสู่ยุคเสื่อมถอยของสตูดิโอที่เคยยิ่งยงทั้งที่สิงคโปร์และฮ่องกง สำหรับการผลิตภาพยนตร์มลายูที่สิงคโปร์ บุคลากรของบริษัทประคับประคองผลิตภาพยนตร์มาได้จนถึงวันปิดตัวคาเธ่ย์-เกอริสในปี 1973
จิรวัฒน์ แสงทอง
กรกฎาคม 2559