ลัทธิกาว ด่าย (Cao Đài) เป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่อิงอยู่กับหลักความเชื่อทางศาสนาในเวียดนาม อัตลักษณ์ทางศาสนาของลัทธิดังกล่าวทั้งในด้านความเชื่อและการจัดระบบภายในลัทธิ มีที่มาจากการผสมผสานหลักความเชื่อ วิถีปฏิบัติ รวมไปถึงการจัดระบบชนชั้นของศาสนิกชน จากศาสนาและลัทธิต่างๆเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น พุทธ คริสต์ ขงจื๊อ หรือเต๋า เป็นต้น ส่วนในแง่มุมทางสังคมการเมืองของเวียดนาม กลุ่มดังกล่าวมีบทบาทในฐานะกลุ่มเคลื่อนไหวชาตินิยมต่อต้านลัทธิอาณานิคม
ลัทธิกาว ด่ายปรากฏขึ้นในสังคมเวียดนาม ช่วงทศวรรษ 1920s อันเป็นช่วงที่จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสยังคงครอบครองอนุภูมิภาคอินโดจีนอยู่ในฐานะเจ้าอาณานิคม ลัทธิกาว ด่ายมีต้นกำเนิดที่เวียดนามใต้ ในเจ๊อะเหลิน แถบชานเมืองของไซง่อนหรือโฮจิมินห์ซิตี้ในปัจจุบัน ผู้ก่อตั้งลัทธิดังกล่าวคือ โงวันจิว ผู้ซึ่งเป็นข้าราชการของรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศส และเขายังเป็นผู้ที่มีความสนอกสนใจอย่างยิ่งในด้านศาสนาและความเชื่อ ว่ากันว่าในปี 1921 ขณะที่เขากำลังนั่งเข้าฌาน เขาก็ได้พบกับเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ที่มีนามว่า กาว ด่าย และหลังจากนั้นเขาก็ได้ก่อตั้งลัทธิกาว ด่ายขึ้นมาตามคำบัญชาของเทพเจ้าองค์ดังกล่าว ลัทธิกาว ด่ายได้รับความนิยมค่อนข้างมากหลังจากที่ก่อตั้ง รูปแบบของลัทธิซึ่งเป็นการผสมผสานเอาความเชื่อต่างๆของศาสนาสำคัญ ทั้งจากโลกตะวันตกและโลกตะวันออก และการกำหนดจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การปลดแอกเวียดนามให้พ้นจากการกดขี่ของฝรั่งเศส ทำให้ลัทธิกาว ด่ายสามารถดึงดูดให้กลุ่มคนจากชนชั้นต่างๆ ทั้งกลุ่มชนชั้นสูงผู้อาศัยอยู่ในเมืองและเหล่าสามัญชนในเขตชนบท เข้ามาร่วมสนับสนุนขบวนการดังกล่าวได้อย่างค่อนข้างประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ด้วยหลักการของลัทธิซึ่งต้องการสร้างยุคที่เจริญรุ่งเรืองของเวียดนามอีกครั้ง ได้นำมาซึ่งลักษณะของการเคลื่อนไหวที่เป็นไปในแนวทางของชาตินิยมที่ต้องการจะสร้างเวียดนามในอุดมคติตามที่กลุ่มขบวนการดังกล่าวต้องการ บทบาทด้านการเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการลัทธิกาว ด่ายเริ่มปรากฏอย่างเด่นชัดในปี 1938 เมื่อขบวนการดังกล่าวได้ร่วมมือกับทางกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชเวียดนามและมุ่งสนับสนุนเจ้าชายเกืองเด้ขึ้นดำรงตำแหน่งจักรพรรดิเวียดนาม อย่างไรก็ตามหลังจากที่กองกำลังกาว ด่ายร่วมมือกับกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในการโค่นล้มอำนาจรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสในปี 1945 ทางฝ่ายญี่ปุ่นกลับสนับสนุนจักรพรรดิเบาได๋ให้เป็นผู้ปกครองเวียดนามอีกครั้ง และหลังจากนั้นความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่ายก็สิ้นสุดลงเมื่อญี่ปุ่นต้องถอนกำลังออกจากเวียดนามหลังจากที่ประสบกับความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ขบวนการลัทธิกาว ด่ายประสบกับการโจมตีขนาบ 2 ด้าน ทั้งจากทางฝ่ายฝรั่งเศสที่กลับเข้ามาเพื่อแผ่ขยายอิทธิพลในอินโดจีนอีกครั้งและฝ่ายเวียดมินห์ที่กล่าวหาว่าลัทธิกาว ด่ายร่วมมือกับศัตรูและสนับสนุนการฟื้นฟูศักดินาชนชั้นกษัตริย์อีกครั้ง ในปี 1947 ขบวนการลัทธิกาว ด่ายได้ร่วมมือกับกลุ่มเคลื่อนไหวพุทธที่มีชื่อว่า หว่าหาว และหลังจากนั้นไม่นานขบวนการลัทธิกาว ด่ายก็ได้เปลี่ยนรูปมาเป็นกองกำลังทหารและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง และมีอิทธิพลอย่างมากเคียงข้างไปกับกลุ่มหวาห่าวและบิ่นห์เซียนภายหลังจากปี 1954 อย่างไรก็ตาม ในปี1955 กลุ่มเคลื่อนไหวทั้งสามได้มีความขัดแย้งกับทางการรัฐบาลสาธารณรัฐเวียดนามซึ่งนำโดย โงดินเดียม รัฐบาลดังกล่าวได้ประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายปราบปรามอย่างรุนแรงต่อกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ได้ทำให้กลุ่มลัทธิกาว ด่ายเองค่อยๆ มีบทบาทน้อยลงและเริ่มที่จะไม่เป็นที่นิยม และยิ่งไปกว่านั้น หลังจากที่ไซง่อนถูกบุกยึดโดยกองกำลังเวียดกงในปี 1975 เวียดนามก็ได้กลายเป็นรัฐคอมมิวนิสต์อย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ศาสนาเป็นสิ่งที่ถูกห้าม ขบวนการลัทธิกาว ด่ายได้ถูกปรามปรามอย่างหนักจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ แกนนำสำคัญถูกจับและศาสนสถานซึ่งเป็นประหนึ่งฐานที่มั่นก็ถูกทางการบุกยึด ซึ่งภายใต้การปราบปรามที่รุนแรงและเด็ดขาดทำให้ศาสนิกชนจำนวนมากถึงกับต้องลี้ภัยออกนอกประเทศไป อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากปี 1997 ลัทธิกาว ด่ายที่เคยเสื่อมความนิยมไป ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งและได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการรัฐบาลเวียดนาม และในปี 2008 จำนวนศาสนิกชนของลัทธิดังกล่าวมีมากถึงประมาณ 6 ล้านคนซึ่งครึ่งหนึ่งของกลุ่มผู้นับถือลัทธิดังกล่าวอาศัยอยู่ในเวียดนาม ครองอันดับสามของศาสนาที่มีคนนับถือมากที่สุดในเวียดนามรองจากศาสนาพุทธ และคริสต์
กาญจนพงค์ รินสินธุ์
กรกฎาคม 2559