คริสต์ศาสนาเป็นหนึ่งในศาสนาที่ค่อนข้างจะโดดเด่นในสังคมเวียดนามอยู่พอสมควร ด้วยจำนวนของศาสนิกชนที่ครองอันดับ 2 รองจากพุทธศาสนา นอกจากนี้ในด้านมรดกทางวัฒนธรรม การเข้ามาของคริสต์ศาสนาได้นำมาซึ่งระบบการเขียนภาษาเวียดนามโดยใช้อักษรละติน ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้กลายเป็นระบบการเขียนหลักในเวียดนาม คริสต์ศาสนาปรากฏขึ้นในสังคมเวียดนามช่วงศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหล่าชาติตะวันตกจากทวีปยุโรปเริ่มเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิกายโรมันคาทอลิกเป็นนิกายแรกในคริสต์ศาสนาที่ถูกเผยแผ่เข้ามาในเวียดนามโดยบาทหลวงชาวโปรตุเกส อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา บทบาทสำคัญในการเผยแผ่นิกายโรมันคาทอลิกในเวียดนามก็ได้ตกเป็นของคณะบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 คริสต์ศาสนาเริ่มที่จะเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในหมู่ชาวพื้นเมืองเวียดนามภายหลังจากการเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในเวียดนามของคณะบาทหลวงเยซูอิตซึ่งเป็นกลุ่มนักบวชในนิกายโรมันคาทอลิก สำหรับนิกายโปรเตสแตนท์ เพิ่งจะเริ่มปรากฏในเวียดนามเมื่อปี 1911 ซึ่งเผยแผ่โดยคณะบาทหลวงโปรเตสแตนท์จากสหรัฐอเมริกา ส่วนนิกายออร์โธดอกซ์เพิ่งจะปรากฏอย่างเป็นทางการในเวียดนามเมื่อปี 2002
การเข้ามาของคริสต์ศาสนาในเวียดนามได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญประการหนึ่งในสังคมชาวเวียดนาม แม้จะไม่เกิดขึ้นในทันทีทันใด นวัตกรรมใหม่ในด้านภาษาศาสตร์ของเวียดนามก็ได้ค่อยๆก่อตัวขี้น เมื่อมีการสร้างระบบการใช้ตัวอักษรสำหรับการเขียนในภาษาเวียดนามแบบใหม่ ซึ่งเปลี่ยนจากการใช้ตัวอักษรฮั่น (Chữ-nôm) หันมาใช้ตัวอักษรละตินในการเขียน ระบบการเขียนใหม่ดังกล่าวถูกเรียกว่า (Quốc ngữ) โดยเป็นระบบการเขียนภาษาเวียดนามที่ใช้อักษรละตินแทนเสียงต่างๆในภาษาเวียดนาม และใช้เครื่องหมายต่างๆ ในการกำกับการผันเสียงของคำ ระบบดังกล่าวถูกริเริ่มโดยบาทหลวงชาวโปรตุเกส เพื่อที่จะใช้อำนวยความสะดวกในการเผยแผ่คริสต์ศาสนา และในเวลาต่อมา ในช่วงศตวรรษที่ 17 ระบบการเขียนดังกล่าวก็ถูกพัฒนาโดยบาทหลวงคณะเยซูอิตชาวฝรั่งเศสคนสำคัญคือ อเล็กซานเดร เดอ โรดส์ นับแต่นั้นมาการเขียนภาษาเวียดนามก็ใช้ทั้งระบบ Chữ-nôm และ Quốc ngữ ควบคู่กันไป จนในที่สุดในช่วงศตวรรษที่ 20 ระบบการเขียนภาษาเวียดนามแบบใหม่ก็ได้กลายเป็นระบบการเขียนหลักของเวียดนามไปในที่สุด
ในช่วงทศวรรษ 1950s ภายหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่2 ผ่านพ้นไปและเวียดนามก็ได้มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง บทบาทของกลุ่มคริสต์ศาสนาค่อนข้างที่จะไม่เด่นชัดเท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับกลุ่มเคลื่อนไหวชาตินิยม แม้ว่าครั้งหนึ่ง ในช่วงเวลาของการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม ขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนามจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคริสต์ศาสนิกชนชาวพื้นเมือง ความร่วมมือดังกล่าวก็ดำรงอยู่ได้ไม่นานเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างเกิดความระแวงซึ่งกันและกัน สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายมากขึ้นเมื่อฝรั่งเศสได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนสังฆราชของกลุ่มคริสต์ศาสนิกชนดังกล่าว ภายใต้บริบทของการปกครองโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในเวียดนามเหนือหรือในชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม การนับถือคริสต์ศาสนาเป็นไปอย่างยากลำบากอันเนื่องมาจาก การที่รัฐบาลเวียดนามเหนือซึ่งยึดหลักอุดมการณ์มาร์กซิสม์อันเป็นแนวคิดที่มีความเป็นอเทวนิยม ได้มองว่าศาสนาเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการครอบงำประชาชนของพวกศักดินา และเข้าปราบปรามและควบคุมการนับถือคริสต์ศาสนาอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม เวียดนามใต้หรือสาธารณรัฐเวียดนาม คริสต์ศาสนาโดยเฉพาะนิกายโรมันคาทอลิกยังคงได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาล
ภายหลังจากที่กองกำลังเวียดกงสามารถบุกยึดไซง่อนได้สำเร็จในปี 1975 เวียดนามเหนือได้ทำการผนวกรวมเอาเวียดนามใต้เข้าเป็นประเทศเดียวกันในนาม สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ภายใต้การควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ รัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้เข้าแทรกแซงและควบคุมกิจการของกลุ่มทางศาสนาต่างๆรวมไปถึงกลุ่มคริสต์ศาสนจักร โดยได้ทำการถอดถอนผู้นำของกลุ่มดังกล่าวออกไป แล้วทำการแต่งตั้งผู้นำคนใหม่ขึ้นมา และแม้ว่าในเวลาต่อมา หลังจากปี 1986 รัฐบาลเวียดนามเริ่มที่จะผ่อนคลายการควบคุมประชาชนบ้างแล้วก็ตาม ปัญหาเกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือคริสต์ศาสนาซึ่งถูกลิดรอนและคุกคามจากทางรัฐบาลคอมมิวนิสต์ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน
กาญจนพงค์ รินสินธุ์
กรกฎาคม 2559