ความเชื่อในผีสางวิญญาณ (animism) เป็นคติความเชื่อที่ให้ความสำคัญกับวิญญาณหรือสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติในฐานะที่เป็นสิ่งซึ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ คติความเชื่อดังกล่าวถือกำเนิดขึ้นมาก่อนการเกิดขึ้นของศาสนาหลัก และในเวลาต่อมาก็ยังสามารถผสมกลมกลืนกับศาสนาหลักๆ ได้อย่างค่อนข้างประสบความสำเร็จ เหล่าผีสาง, วิญญาณ หรือสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติตามแต่จะเรียกกันนั้น เชื่อกันว่ามีอิทธิฤทธิ์อภินิหารซึ่งสามารถดลบันดาลให้ชีวิตของมนุษย์ประสบกับเรื่องที่ดี อาทิ ความร่ำรวย หรือเรื่องที่ร้าย อาทิ ความเจ็บป่วยหรือแม้แต่ความตาย สำหรับวิธีการติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์กับผีสางตามคติความเชื่อดังกล่าว มักปรากฏอยู่ในรูปของการพร่ำบนเวทมนตร์คาถา การถวายสิ่งของและการบูชายัญซึ่งมีลักษณะหลากหลายกันไปตามแต่ละท้องที่ โดยพิธีกรรมดังกล่าวจะถูกดำเนินโดยร่างทรง, พ่อมด, หมอผีหรือผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านไสยเวทย์
สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความเชื่อในผีสางวิญญาณปรากฏอยู่ทั่วทั้งภูมิภาคดังกล่าวนับตั้งแต่ฝั่งภาคพื้นทวีปทางตอนเหนือจรดลงมาถึงดินแดนคาบสมุทรและหมู่เกาะต่างๆ ในฝั่งภาคพื้นสมุทร ในกัมพูชา ชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ละแวกใกล้กับปราสาทนครวัดเชื่อกันว่าเทวสถานดังกล่าวมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์แกร่งกล้าที่เรียกกันว่า “เนียกตะ” (Neak-Ta) สิงสถิตอยู่ โดยพวกเขาเชื่อในอิทธิฤทธิ์ของวิญญาณดังกล่าวว่า สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยของผู้คนให้หายได้ หรือแม้แต่ดลบันดาลให้ปัญหาต่างๆคลี่คลายไปได้ ผ่านการทำพิธีกรรมเข้าทรงโดยหมอผี เวียดนามซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านก็ปรากฏไว้ซึ่งคติความเชื่อเกี่ยวกับผีสางวิญญาณเช่นกัน พิธีกรรมเลินด่ง (Lên đồng) ยังคงแพร่หลายอยู่ในสังคมเวียดนาม พิธีกรรมดังกล่าวเกี่ยวข้องกับลัทธิด่าวเหมิวซึ่งเชื่อและเคารพบูชาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งส่วนมากเป็นสตรีเพศ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวปรากฏอยู่ในรูปของเทพี, พระแม่, รวมไปถึงวีรสตรีในประวัติศาสตร์ของชาวเวียดนาม ลักษณะของพิธีกรรมเลินด่งปรากฏในรูปของการเข้าทรงที่มาพร้อมกับการร่ายรำและการบรรเลงดนตรีประกอบพิธี สำหรับในไทย ความเชื่อดังกล่าวปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดผ่านศาลขนาดเล็กที่ตั้งอยู่หน้าบ้าน ในหมู่บ้าน บริเวณสิ่งก่อสร้างต่างๆ หรือใกล้ๆกับต้นไม้บริเวณริมถนน ศาลดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่สิงสถิตย์แก่ผีสางวิญญาณและเพื่อเป็นสถานที่สำหรับกราบไหว้บูชาของเหล่าผู้ที่นับถือซึ่งหวังว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขาบูชาจะดลบันดาลโชคลาภให้แก่เขา โดยลักษณะของการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวที่มักจะพบในรูปของการถวายอาหาร ดอกไม้ รวมไปถึงเครื่องดื่มน้ำอัดลมสีแดงซึ่งส่วนใหญ่แต่งกลิ่นสตรอว์เบอร์รี่ ในขณะเดียวกันที่เมียนมาร์ก็มีการนับถือบูชาวิญญาณซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า นัต โดยกลุ่มวิญญาณดังกล่าวมีที่มาจากทั้งวิญญาณของคนที่เสียชีวิต สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติ รวมไปถึงเทพเจ้าตามคติความเชื่อของศาสนาอื่นๆ
สำหรับในภาคพื้นสมุทร ความเชื่อเกี่ยวกับผีสางวิญญาณหรือสิ่งเหนือธรรมชาติปรากฏอยู่ทั่วทั้งหมู่เกาะในอินโดนีเซีย วัตถุที่ไร้ซึ่งชีวิตจิตใจถูกเชื่อว่ามีอำนาจเวทมนตร์อยู่ภายในสิ่งดังกล่าว นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า สิ่งเหนือธรรมชาติหรืออำนาจไสยเวทย์ต่างๆ สามารถใช้เพื่อทำร้ายผู้คนได้ ความเชื่อดังกล่าวได้นำมาซึ่งทัศนคติที่มองการเจ็บไข้ได้ป่วยของผู้คนในแง่มุมของเรื่องจิตวิญญาณ ซึ่งมองโรคภัยว่าเป็นผลกระทบจากเวทมนตร์คาถาหรือการกระทำของวิญญาณ นอกจากนี้ในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชวา ความเชื่อผีสางวิญญาณได้หลอมรวมเข้ากับศาสนาอิสลามอันจะเห็นได้พิธีกรรมเกี่ยวกับการสร้างบ้านซึ่งปรากฏพิธีกรรมที่มีการฆ่าแพะเพื่อทำการบูชายัญและหลังจากนั้นก็ทำการฝังซากลงไป ในมาเลเซีย ชาวออรังอัสลีมีความเชื่อที่ว่าในวัตถุบางอย่างหรือพื้นที่บางแห่ง มีวิญญาณหรือผีสางสิงสถิตอยู่ อิทธิพลของความเชื่อในผีสางวิญญาณในมาเลเซียส่งผลให้ความเชื่อเกี่ยวกับบอมอห์ยังคงแพร่หลายในสังคมดังกล่าว คำว่าบอมอห์อ้างถึงผู้เชี่ยวชาญด้านไสยเวทย์ โดยเมื่อไม่นานมานี้ได้มีข่าวเกี่ยวกับบอมอห์ที่ทำพิธีกรรมเพื่อค้นหาเครื่องบินที่หายสาบสูญไปจนกลายเป็นกระแสในช่วงระยะเวลาหนึ่ง สำหรับดินแดนมาเลเซียบริเวณทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว ที่ซาบาห์ ในหมู่ชาวคาดาซัน-ดูซุนยังคงมีการจัดเทศกาล “กาอามาตัน” ซึ่งเป็นการจัดขึ้นเพื่อบวงสรวงบูชา “กิโนอิงัน” หรือวิญญาณแห่งข้าวที่ซาราวัค ชาวอิบันเชื่อว่าทุกสรรพสิ่งในโลกล้วนถือกำเนิดมาจากสิ่งเดียวกัน และเชื่อว่าทุกสิ่งในโลกโล้นเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ทั้งสิ่งที่มองเห็นได้และไม่สามารถมองเห็นได้ สำหรับในฟิลิปปินส์ ความเชื่อในผีสางวิญญาณยังคงปรากฏอยู่แม้จะไม่มากเท่าครั้งเมื่อศาสนาหลักอาทิ คริสต์ศาสนาและอิสลามยังไม่เผยแผ่เข้ามาในฟิลิปปินส์ ความเชื่อดังกล่าวเชื่อว่าในโลกมีสิ่งที่เหนือธรรมชาติและผีสางวิญญาณปรากฏอยู่ ซึ่งมีทั้งดีและชั่ว แม้รายละเอียดเกี่ยวกับวิถีปฏิบัติจะแตกต่างกันไปตามกลุ่มชาติพันธุ์ จุดร่วมของลักษณะเกี่ยวกับการนับถือผีสางวิญญาณในฟิลิปปินส์ยังคงผูกติดอยู่กับ เวทมนตร์ คาถา ผู้ใช้ไสยเวทย์ ผู้ที่ฝึกฝนจนเชี่ยวชาญในเวทมนตร์จะได้รับความเคารพยำเกรงจากคนในชุมชน ในเขตวิซายายังปรากฏความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งลึกลับต่างๆ อาทิ ผีดูดเลือดหรือ อัสวัง (Aswang) ดูเวนเด (Duwende) หรือคนเคระ และงูทะเลยักหรือบาโกนาวา (Bakonawa) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าศาสนาหลักได้เข้ามามีบทบาทในด้านความเชื่อต่อชาวฟิลิปปินส์ อิทธิพลของความเชื่อในผีสางวิญญาณและสิ่งเหนือธรรมชาติก็ยังคงปรากฏอย่างผสมปะปนกับการนับถือศาสนาหลักในดินแดนดังกล่าว
กาญจนพงค์ รินสินธุ์
กรกฎาคม 2559