ด่าว เหมิว (Đạo Mẫu) เป็นคติความเชื่อหรืออาจนับได้ว่าเป็นศาสนาพื้นเมืองของชาวเวียดนามก็ว่าได้ ลัทธิดังกล่าวมีอัตลักษณ์สำคัญคือ ความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ วิญญาณ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมไปถึงการบูชาเพศหญิงดังที่จะเห็นได้จากการที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ส่วนใหญ่ในลัทธิดังกล่าวเป็นเพศหญิง แม้ว่าลัทธิดังกล่าวจะถูกประกาศห้ามโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเวียดนามที่มองว่าลัทธิด่าว เหมิวเป็นสิ่งที่เป็นภัยต่อสังคม กระนั้น ก็ยังมีผู้คนที่นิยมลัทธิดังกล่าวซึ่งรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของภาครัฐเองเสียด้วยซ้ำ จนอาจกล่าวได้ว่าลัทธิดังกล่าวมียังคงอิทธิพลต่อชาวเวียดนามอยู่พอสมควร
ด่าว เหมิวเป็นลัทธิความเชื่อพื้นเมืองที่ปรากฏอยู่ในสังคมเวียดนาม ลักษณะสำคัญของลัทธิดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่การทำพิธีกรรมเพื่ออ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยในพิธีกรรมดังกล่าวจะมีผู้ที่รับหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา คือ ด่ง (đồng) ซึ่งเชื่อกันว่า ผู้ที่เป็นด่งสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในภพภูมิต่างๆตามความเชื่อของลัทธิดังกล่าวผ่านพิธีกรรมสำคัญคือ การเข้าทรง (Lên đồng) โดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในลัทธิด่าว เหมิว มีทั้งเหล่าเทพีแห่งธรรมชาติ วีรชนผู้มีเกียรติในประวัติศาสตร์ รวมไปถึงวิญญาณของบรรพชนผู้ล่วงลับ โดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นที่บูชากันภายในลัทธิดังกล่าวมักเป็นเพศหญิง แม้ว่าจะมีการกล่าวกันว่า หลักความเชื่อและวิถีปฏิบัติของลัทธิด่าว เหมิวได้ปรากฏอยู่ในฐานะส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพื้นเมืองของชาวเวียดนามมาเป็นเวลาช้านาน และอาจจะสามารถสืบที่มาได้ถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้เสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผู้ใดสามารถยกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แน่ชัดในการะบุถึงที่มาของด่าว เหมิวได้อย่างชัดเจน
สำหรับที่มาและพัฒนาการของการมีอยู่ของลัทธิด่าว เหมิว แม้จะไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดดังที่กล่าวไปในข้างต้น อย่างไรก็ดี ก็มีลัทธิดังกล่าวก็มีปรากฏอยู่แล้วอย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ยุคก่อนที่เวียดนามจะตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสโดยมีลักษณะของการเป็นลัทธิหมอผีและความเชื่อพื้นเมือง อย่างไรก็ตาม ด่าว เหมิวได้ถูกจำแนกออกมาอย่างเป็นเอกเทศน์มากยิ่งขึ้นในฐานะลัทธิที่บูชา “เทพี” โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า หลักการของลัทธิดังกล่าวมีพัฒนาการมาจากความเชื่อดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองที่เชื่อและบูชาวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ต่างๆรวมไปถึงเหล่าเทพีผู้ซึ่งมีอิทธิพลต่อพวกเขา ในฐานะที่เป็นผู้สร้างและเป็นผู้ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตภายใต้บริบทของสังคมเกษตรกรรม
ภายหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เข้าสู่ยุคสมัยที่มีการเกิดขึ้นของรัฐเอกราชต่างๆภายในภูมิภาค เวียดนามก็เป็นหนึ่งในนั้น ภายใต้บริบทของรัฐสังคมนิยม ชะตากรรมของลัทธิด่าว เหมิวในเวียดนามก็ไม่สู้จะดีเท่าไหร่นัก แม้ว่าในรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามจะมีการระบุไว้ว่า จะมีการให้อิสระในการนับถือศาสนาต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในแง่ของความเป็นจริงที่เกิดขึ้น การรับรองสถานะของแต่ละศาสนาโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์กลับเป็นไปอย่างคับแคบ กล่าวคือ รัฐบาลได้ทำการรับรองเพียงแต่กลุ่มของศาสนาใหญ่ๆที่มิใช่ศาสนาพื้นเมือง ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นผลมาจากหลักการอเทวนิยมซึ่งมีอิทธิพลอย่างยิ่งภายใต้แนวคิดแบบมาร์กซิสม์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวที่เน้นการปฏิวัติทางชนชั้นโดยตัวมนุษย์เองได้ปฏิเสธการมีอยู่ของสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ และเชื่อว่าชีวิตของมนุษย์ไม่ได้ขึ้นต่อหรือได้รับอิทธิพลอันใดจากสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ หลักการดังกล่าวยอมรับในโชคชะตาที่มาจากการกำหนดทิศทางโดยมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของชีวิตเท่านั้นมิใช่ขึ้นอยู่กับเทพเจ้า วิญญาณ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ นอกจากนี้ ในแง่มุมทางการเมือง รัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้มองกลุ่มลัทธิหรือศาสนาต่างๆ ว่าเป็นพวกที่ต่อต้านและคุกคามความมั่นคงของรัฐบาล นอกจากนี้ยังมองว่า ความเชื่อในลัทธิด่าว เหมิวรวมไปถึงลัทธิอื่นๆที่มีลักษณะใกล้เคียงกันว่า เป็นเสมือนเครื่องมือที่พวกชนชั้นปกครองหรือ “พวกศักดินา” ใช้ในการกดขี่ชนชั้นล่าง ภายใต้ทัศนคติที่เป็นปรปักษ์เช่นนี้ จึงนำมาซึ่งท่าทีที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ต้องการจะกำจัดลัทธิเหล่านี้ให้สิ้นไป
นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950s จวบจนถึงปลายทศวรรษ 1980 s รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเวียดนามดำเนินการปรามปรามลัทธิด่าว เหมิวซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นภัยแก่สังคมผ่านวิธีการต่างๆ อาทิ การขัดขวางการประกอบพิธีกรรมต่างๆ รวมไปถึงการเข้ารื้อถอนสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และแม้ว่าในเวลาต่อมาภายหลังปี 1986 การควบคุมดังกล่าวจะได้รับการผ่อนคลายลง ท่าทีของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ต่อลัทธิด่าว เหมิวก็ยังคงมีลักษณะของการต่อต้านผ่านวาทะกรรม “ไสยศาสตร์” ซึ่งจะทำให้ลัทธิดังกล่าวไม่ได้รับการรับรองทางกฎหมาย กระนั้นก็ตาม ลัทธิด่าว เหมิวก็ยังคงได้รับความนิยมจากคนเวียดนามไม่น้อย ศาสนสถานในลัทธิด่าว เหมิวที่เคยถูกทำลายโดยรัฐบาลได้รับการฟื้นฟูโดยเงินช่วยเหลือจากประชาชนผู้ศรัทธาในลัทธิดังกล่าว ในด้านพิธีกรรมการเข้าทรงซึ่งถูกทางการประณามว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน กลับปรากฏลักลั่นของนโยบายขากทางการเมื่อมีข่าวลือว่าแม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนการประกอบพิธีกรรมเข้าทรงในลัทธิด่าว เหมิว นอกจากนี้ ในส่วนกฎหมายเกี่ยวกับการต่อต้านไสยศาสตร์ที่ทางรัฐบาลเวียดนามได้ประกาศใช้ไปก็มิได้ส่งผลอย่างมีประสิทธิภาพเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่อยู่ห่างไกลออกไปจากเมืองหลวงรวมถึงบริเวณชายแดนที่ติดกับเขตของจีน
กาญจนพงค์ รินสินธุ์
กรกฎาคม 2559