พุทธศาสนาเป็นหนึ่งในศาสนาสำคัญที่ปรากฏอยู่ในสังคมเวียดนามมาเป็นเวลานานนับตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาลมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะกล่าวว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม บางส่วนของผู้ที่ประกาศว่าตนเองเป็นศาสนิกชนก็ยังคงยึดหลักการของลัทธิความเชื่ออื่นๆ อาทิ ขงจื๊อ เต๋า การบูชาบรรพชน และลัทธิผีสาง ผสมปนเปกันไป กระนั้นก็ตาม วิถีปฏิบัติของพุทธศาสนาในเวียดนามส่วนใหญ่จะเป็นแนวทางของลัทธิสุขาวดีและเซ็นซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากนิกายเถรวาทที่นับถือกันมากในรัฐอื่นๆ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป
พุทธศาสนาเริ่มเข้าสู่เวียดนามเมื่อประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาล สำหรับเส้นทางการเผยแผ่พุทธศาสนาเข้าสู่เวียดนามยังคงเป็นที่ถกเถียงกันระหว่าง 2 ข้อเสนอ ซึ่งทางหนึ่งได้เสนอว่าดินแดนเวียดนามในอดีตนั้นมีการติดต่อทางการค้ากับอินเดียมาตั้งแต่ก่อนคริสตกาล ส่วนอีกข้อเสนอหนึ่งได้กล่าวว่า ดินแดนเวียดนามรับเอาพุทธศาสนาจากจีนซึ่งรับมาจากเหล่าพ่อค้าซึ่งเดินทางมาจากอินเดียมาอีกทอดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแนวทางได้แสดงให้ถึงจุดร่วมที่ว่า พุทธศาสนาที่เข้าสู่เวียดนามส่วนใหญ่เป็นแนวทางของนิกายมหายาน ซึ่งเชื่อในการคุ้มครองดูแลจากพระโพธิสัตว์ต่างๆ ทั้งหลายที่นิกายดังกล่าวนับถือบูชากัน บทบาทของพุทธศาสนาเริ่มมากขึ้นภายหลังจากที่ดินแดนเวียดนามตกอยู่ใต้อำนาจของจักรวรรดิต้าถังของจีนในฐานะเครื่องมือของทางการที่มุ่งจะแผ่อิทธิพลของวัฒนธรรมจีนเพื่อกลืนวัฒนธรรมพื้นเมือง และแม้ในเวลาต่อมาเวียดนามจะสามารถปลดแอกตนเองจากจักรวรรดิจีนได้ พุทธศาสนาก็ยังคงเป็นศาสนาสำคัญในเวียดนาม
อย่างไรก็ตามพุทธศาสนาในเวียดนามก็เริ่มจะซบเซาลงในช่วงราชวงศ์เหงียน โดยในทางหนึ่งลัทธิขงจื๊อได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากภายในราชสำนัก และในอีกทางหนึ่ง ภายใต้บริบทของการปกครองดินแดนอินโดจีนโดยเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสผู้สนับสนุนคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก เหล่าคณะบาทหลวงสามารถที่จะชักชวนให้ชาวเวียดนามหันมา “เข้ารีต” ได้เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางตอนใต้ของเวียดนาม นอกจากนี้ด้วยสภาพสังคมที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ได้ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการนับถือพุทธศาสนาของผู้คนในเวียดนาม อันจะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของลัทธิใหม่ต่างๆ ที่มีรากฐานหรือผสานเอาแนวคิดของพุทธศาสนาเข้าไป ภายหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี 1945 เวียดนามได้ตกอยู่ในสภาวะสงครามกลางเมือง ภาพสะท้อนสถานการณ์ที่เลวร้ายของพุทธศาสนาสารถเห็นได้จากกรณีที่พระสงฆ์ทำการเผาตัวเองเพื่อจุดประกายความสนใจในพื้นที่สาธารณะต่อปัญหาที่พุทธศาสนจักรในเวียดนามกำลังเผชิญอยู่ทั้งจากทางหนึ่งคือภัยจากสงครามและอีกทางหนึ่งคือการคุกคามพุทธศาสนาโดยรัฐบาลสาธารณรัฐเวียดนามซึ่งในขณะนั้น นำโดยโงดินเดียมผู้ซึ่งสนับสนุนคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างผลกระทบทางการเมืองเป็นส่วนใหญ่ สหประชาชาติได้เข้ามาไต่สวนรัฐบาลดังกล่าวเกี่ยการปราบปรามกวาดล้างกลุ่มศาสนาต่างๆที่ต่อต้านรัฐบาล และในอีกแง่หนึ่ง ภาพการเผาตนเองของพระสงฆ์ดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งที่นำมาซึ่งการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลโงดินเดียม
ในช่วงเวลาที่สงครามกลางเมืองยังคงดำเนินต่อไปเวียดนาม ภายใต้สภาพสังคมที่บอบช้ำจากความขัดแย้งและความรุนแรง ได้ปรากฏขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของพุทธศาสนาซึ่งมีแกนนำคือ ติช นัท ฮันห์ ผู้ซึ่งเป็นพระสงฆ์ในพุทธศาสนานิกายเซ็น เขาได้จัดตั้งกลุ่มยุวชนเพื่อการบริการสังคมและกลุ่มเตี๊ยบเหี่ยนขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพและฟื้นฟูสภาพสังคมที่บอบช้ำจากภัยสงคราม โดยติช นัท ฮันห์มองว่าความเสียหายต่างๆที่เกิดขึ้น ล้วนมาจากการยึดมั่นในแนวคิดต่างๆ อย่างเหนียวแน่นและวิปริต ดังนั้นเขาจึงได้กำหนดหลักการของกลุ่มที่เขาก่อตั้งว่า “อย่าได้ยึดติดอยู่กับหลักการ แนวคิด ทฤษฎี หรือแม้แต่ตัวพุทธศาสนิกชน” โดยโครงการของกลุ่มดังกล่าวมีทั้งการฟื้นฟูสภาพหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม จัดตั้งหน่วยรักษาพยาบาล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การกระทำของเขากลับไม่เป็นที่ยอมรับของรัฐบาล และในเวลาต่อมา ภายหลังที่ติช นัท ฮันห์เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อทำการเรียกร้องสันติภาพ ทั้งรัฐบาลเวียดนามเหนือและรัฐบาลเวียดนามใต้ได้ประกาศเนรเทศเขา อย่างไรก็ตาม ติช นัท ฮันห์ยังคงเคลื่อนไหวในดำเนินกิจกรรมเพื่อสันติภาพต่อไป
ภายหลังจากปี 1975 ที่เวียดนามได้ทำการรวมประเทศและสถาปนาเป็น “สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม” แม้ว่ารัฐบาลมาร์กซิสม์จะมีนโยบายที่ต่อต้านศาสนา อย่างไรก็ตาม หากไม่นับรวมอศาสนิกชนแล้ว พุทธศาสนายังคงเป็นศาสนาที่ผู้คนนับถือกันมากที่สุดในเวียดนาม และถึงแม้ว่ารัฐบาลจะเข้าแทรกแซงการนับถือพุทธศาสนาด้วยการก่อตั้งศาสนจักรที่มีภาครัฐคอยควบคุมดูแลในปี 1975 การกระทำของรัฐบาลก็มิได้ทำให้รัฐสามารถควบคุมพุทธศาสนิกชนอย่างประสบความสำเร็จ เหล่าผู้นับถือพุทธศาสนาส่วนใหญ่และโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยภาคประชาสังคมเองคือ UBSV ได้ปฏิเสธและแสดงท่าทีที่ต่อต้านการกระทำดังกล่าวของรัฐบาล และแม้ว่าในปี 1981 องค์กรดังกล่าวจะถูกสั่งห้ามโดยรัฐบาลก็ตาม องค์กรดังกล่าวยังคงได้รับการสนับสนุนจากชาวเวียดนามในต่างแดนในการเรียกร้องต่อรัฐบาลเวียดนามเพื่อที่จะให้ทางรัฐบาลคืนสิทธิในการเคลื่อนไหวภายในประเทศ รวมไปถึงปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวและคืนทรัพย์สินของสงฆ์ที่ทางการได้ยึดมา และหลังจากที่ในเวียดนามได้มีการปฏิรูปโด่ยเหมยในปี 1986 การปฏิบัติศาสนกิจของพุทธศาสนิกชนเริ่มเปิดกว้างและได้รับการผ่อนคลายมากขึ้นจากการการควบคุมของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในระดับองค์กรและกลุ่มแกนนำ รัฐบาลก็ยังเข้าไปตรวจตราสอดส่องกลุ่มดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
กาญจนพงค์ รินสินธุ์
กรกฎาคม 2559