สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อิทธิพลของลัทธิเต๋าทั้งในเชิงของปรัชญาและศาสนาความเชื่อปรากฏอยู่ในรูปของการผสมผสานปะปนกันไปกับความเชื่อของลัทธิขงจื๊อและพุทธศาสนาแบบมหายาน ความเชื่อทั้งสามถูกจัดอยู่ในกลุ่มคติความเชื่อแบบจีน (Chinese Religion)
ลัทธิเต๋าเผยแผ่เข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการอพยพเข้ามาของชาวจีนจากมาตุภูมิแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงยุคอาณานิคม ซึ่งเหล่าเจ้าอาณานิคมตะวันตกได้นำชาวจีนจำนวนมากเข้ามาเพื่อเป็นแรงงานในระบบอุตสาหกรรมของตน อย่างไรก็ตาม สำหรับพัฒนาการของลัทธิเต๋าในเวียดนามกลับมีลักษณะที่แตกต่างออกไปอยู่บ้าง กล่าวคือ ลัทธิเต๋ารวมไปถึงคติความเชื่อแบบจีนอื่นๆ ได้เข้ามามีอิทธิพลในเวียดนามมาเป็นเวลาช้านานนับแต่ที่ดินแดนเวียดนามในอดีตตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของจักรวรรดิจีนเมื่อประมาณศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล
โดยส่วนใหญ่แล้ว การนับถือลัทธิเต๋าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักปรากฏอยู่ในกลุ่มชาวจีนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคดังกล่าว ในมาเลเซียซึ่งรัฐที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรที่ยื่นออกมาจากส่วนภาคพื้นทวีปและรวมถึงดินแดนบนเกาะบอร์เนียวเหนือ จำนวนของสาวกลัทธิเต๋าขึ้นอยู่กับขนาดประชากรของชาวจีนที่อาศัยยู่ภายในรัฐดังกล่าว อย่างไรก็ตามก็เป็นการยากที่จะจำแนกสาวกลัทธิเต๋าอย่างชัดเจนในกลุ่มผู้นับถือคติความเชื่อแบบจีน เพราะเหล่าสาวกลัทธิเต๋าเองก็ยึดถือวิถีปฏิบัติในการบูชาบรรพชนทั้งยังนับถือพระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นคติความเชื่อของพุทธศาสนานิกายมหายานควบคู่ไปด้วย สำหรับการปรากฏอยู่ของลัทธิเต๋าในสิงคโปร์ก็มีลักษณะที่ไม่ต่างกันเท่าไหร่นักกับในมาเลเซีย ลัทธิเต๋าได้เผยแผ่เข้าสู่ดินแดนสิงคโปร์ผ่านการอพยพเข้ามาของแรงงานชาวจีนในช่วงศตวรรษที่ 19 และ ศตวรรษที่ 20 ในสิงคโปร์ ลัทธิเต๋าและคติความเชื่อแบบจีนอื่นๆ ทั้งหมดถูกจัดอยู่กลุ่ม “พุทธศาสนา” สำหรับวิถีปฏิบัติของเหล่าสาวกในลัทธิดังกล่าวมักจะเน้นความสำคัญในด้านพิธีกรรมไม่ต่างจากสาวกลัทธิเต๋าชาวจีนในมาเลเซีย ลักษณะของพิธีกรรมยังคงเป็นการผสมผสานระหว่างหลักความเชื่อของลัทธิเต๋า, ลัทธิขงจื๊อ, พุทธศาสนานิกายมหายาน รวมไปถึงความเชื่อเรื่องพิธีกรรมการเข้าทรง อาจกล่าวได้ว่าเหล่าผู้ที่ยึดถือคติความเชื่อแบบจีนนั้น เป็นทั้งสาวกลัทธิเต๋าผู้มีสำนึกแห่งธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ สาวกลัทธิขงจื๊อผู้ซึ่งยึดมั่นในคุณธรรมและระเบียบจารีตประเพณี และสาวกพุทธศาสนาผู้ซึ่งตระหนักถึงความไม่เที่ยงแท้ในชีวิต จนถึงกับมีสำนวนที่กล่าวว่า “คนจีนส่วนใหญ่สวมหมวกบัณฑิต นุ่งห่มจีวรบรรพชิตเต๋า และสวมใส่รองเท้าของสงฆ์” อย่างไรก็ตาม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้งในมาเลเซียและสิงคโปร์ ลัทธิเต๋าจะผูกติดอยู่กับพิธีกรรมและความเชื่อ กระนั้นก็ตาม ภายใต้บริบทของความเป็นสมัยใหม่ในปัจจุบัน ก็เริ่มที่จะมีกระแสของการทำให้ลัทธิเต๋าและคติความเชื่อแบบจีนอื่นๆ เป็นสิ่งที่มีความเป็นเหตุเป็นผลหรือตรรกะ มากกว่าที่จะอิงอยู่กับเวทมนตร์หรือสิ่งเหนือธรรมชาติ
สำหรับลัทธิเต๋าในพื้นที่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ไม่ต่างจากกรณีของมาเลเซียและสิงคโปร์ ลัทธิดังกล่าวมีลักษณะร่วมกว้างๆ ที่สามารถสังเกตได้คือ ลัทธิเต๋าเป็นส่วนหนึ่งในการนับถือคติความเชื่อแบบจีนที่เป็นดั่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีการผสมผสานเข้ากับความเชื่อต่างๆ ตามแบบเทวนิยมและพุทธมหายานของจีน อย่างไรก็ตาม ในกรณีของเวียดนาม ลัทธิเต๋ามิได้เข้ามาในดินแดนดังกล่าวผ่านการอพยพของชาวจีนโพ้นทะเลในช่วงสมัยอาณานิคมเหมือนกับที่เกิดขึ้นในดินแดนอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากแต่ลัทธิเต๋าได้ถูกเผยแผ่เข้ามาในเวียดนามผ่านการเข้ามาและแผ่ขยายอำนาจของจักรวรรดิจีน นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาลดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น ลัทธิเต๋าในเวียดนามมีลักษณะของพหุเทวนิยม กล่าวคือ เหล่าสาวกลัทธิเต๋าในเวียดนามก็ยังคงนับถือบูชาเหล่าเทพเจ้าตามคติความเชื่อชาวจีนอาทิ เง็กเซียนฮ่องเต้ และนอกจากนี้ยังได้ผสานเข้ากับคติความเชื่อพื้นเมืองในเวียดนามอันจะเห็นได้จากการบูชาวีรชนต่างๆ ของชาวเวียดนามอาทิ สองพี่น้องตระกูลตรึงที่ก่อกบฏต่อต้านจักรวรรดิจีนในปีค.ศ. 39 หรือเจินฮึ้งเดาผู้ทำสงครามต่อต้านการรุกรานจากจักรวรรดิต้าหยวนของมองโกล อิทธิพลของลัทธิเต๋ายังส่งผลต่อการก่อตัวของกลุ่มเคลื่อนไหวทางศาสนาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อันได้แก่ ลัทธิเกาได๋ ลัทธิความเชื่อที่อิงกับพิธีกรรมการเข้าทรงและการบูชาเทพีต่างๆ ซึ่งปรากฏอยู่ในสังคมเวียดนามที่เรียกว่า ด่าเหมิวก็ได้รับอิทธิพลจากลัทธิเต๋าเช่นกัน
กาญจนพงค์ รินสินธุ์
กรกฎาคม 2559