เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เป็นประธานาธิบดีคนที่ 10 ของฟิลิปปินส์ ครองอำนาจยาวนานถึง 22 ปี ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 1965 ถึงวันที่ 25 กุมพาพันธ์ 1986 เขาเปลี่ยนฟิลิปปินส์ให้กลายเป็นระบอบเผด็จการ ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงทั้งในประเทศและนานาชาติ ซึ่งนำมาสู่การปฏิวัติพลังประชาชน ในปี 1986 จนเขาต้องลงจากอำนาจและลี้ภัยไปยังต่างแดน
เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เกิดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 1917 ที่เมืองซาร์รัต จังหวัดอิโลคอส นอร์เต บิดาของเขาคือ มาเรียโน มาร์กอส เป็นทนายความ ส่วนมารดาเป็นครูชื่อ โจเซฟา เอดราลิน ในระหว่างการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ เขาเป็นทั้งนักโต้วาที นักว่ายน้ำ นักมวยสากลและนักมวยปล้ำ ซึ่งเขาก็จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ ด้วยคะแนนระดับเกียรตินิยม ก่อนที่จะแต่งงานกับ อิเมลดา โรมูอัลเส นางงามแห่งฟิลิปปินส์ ต่อมาเขาเข้าเป็นทหารระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นผู้นำกลุ่มต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่น ต่อมาเขากลายเป็นนักกฎหมายของ มานูเอล รอกซาส ประธานาธิบดีคนแรกของฟิลิปปินส์หลังจากได้เอกราช
มาร์กอสได้รับเลือกเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ปี 1949 และวุฒิสภาในปี 1962 จากนั้นเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี 1965 เขามีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ขจัดการคอร์รัปชั่น และนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ที่เข้าปราบปรามคอมมิวนิสต์ในสงครามเวียดนามและฟิลิปปินส์อย่างหนักหน่วงจนได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา รวมทั้งระบอบประชาธิปไตยแบบเปิดกว้าง และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด จนฟิลิปปินส์สามารถเทียบชั้นได้กับญี่ปุ่นในขณะนั้น ซึ่งส่งผลให้การเลือกตั้งในปี 1969 มาร์กอสสามารถชนะการเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีต่ออีกหนึ่งสมัย แต่ก็มีบางคนมองว่า มากอสซื้อเสียงด้วยเงินที่คอร์รัปชั่นมาจากกระทรวงการคลังของฟิลิปปินส์กว่า 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ด้วยรัฐธรรมนูญปี 1972 ห้ามการเป็นประธานาธิบดีสามารถเป็นได้แค่สองสมัย แม้มาร์กอสพยายามจะติดสินบนตัวแทนการประชุมให้โหวตคัดค้านก็ตาม เขาจึงประกาศกฎอัยการศึกในเดือนกันยายน 1972 โดยใช้ขบวนการคอมมิวนิสต์เป็นข้ออ้าง และจำคุกนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามหนึ่งในนั้นคือ เบนิโญ อากีโน จูเนียร์ คู่สมรสของนางโคราซอน อากีโน รวมทั้งการสั่งปิดสื่ออิสระทั้งหมด และปกครองประเทศต่อไปภายใต้ประกาศกฤษฎีกาของประธานาธิบดี
ต่อมาแม้มาร์กอส จะจัดตั้งรัฐสภาขึ้นมาอีกครั้ง แต่อำนาจที่แท้จริงยังคงอยู่ที่เขา ครอบครัว และคนสนิท เขาเริ่มเข้าควบคุมอุตสาหกรรม น้ำตาลและมะพร้าว และเกิดการคอร์รัปชั่นในรัฐบาลเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังทำให้กองทัพฟิลิปปินส์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับการเมืองด้วยการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่กองทัพไปรับตำแหน่งด้านพลเรือน ซึ่งช่วยสร้างความมั่นคงทางอำนาจได้เป็นอย่างดี
รัฐบาลมาร์กอสกู้เงินจากต่างชาติเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อนำมาใช้ในนโยบายประชาชานิยม ส่งผลให้หนี้สินของรัฐบาลเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าตัว ในระยะเวลา 20 ปี ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่มีหนี้สินมากที่สุดในเอเชีย และชาวฟิลิปปินส์ยังต้องแบกรับหนี้สินนี้ด้วยรายได้ของประเทศมากกว่าครึ่งหนึ่ง ต้องถูกนำไปจ่ายดอกเบี้ยจากหนี้สินที่รัฐบาลมาร์กอสก่อขึ้น
กระทั่งในเดือนสิงหาคม 1983 หลังเหตุการณ์ลอบสังหารผู้นำฝ่ายค้าน เบนิโญ อากีโน จนเสียชีวิตในขณะการขอลี้ภัยในสหรัฐอเมริกา ประชาชนที่มองว่าเหตุการณ์นี้เป็นฝีมือของมาร์กอส ทำให้ชาวฟิลิปปินส์ออกมาเดินประท้วงต่อต้านมาร์กอส และแรงกดดันจากประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐอเมริกา มาร์กอสจึงประกาศจัดการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้งในปี 1986 ซึ่งเป็นการชิงตำแหน่งของมาร์กอส และนางคอราซอน อากีโน แต่กระแสโกงการเลือกตั้งของมาร์กอส ยิ่งทำให้ประชาชนไม่พอใจมากขึ้น อีกทั้งความพยายามที่ไม่ประสบความสำเร็จของทหารแปรพักตร์ในการโค่นล้มมาร์กอส กลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการลุกฮือขึ้นสู้ ที่รู้จักกันในนาม "พลังประชาชน" ส่งผลให้คอราซอน อากีโน ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์ และมาร์กอส ขอลี้ภัยไปอยู่ในฮาวาย พร้อมกับครอบครัว จากความช่วยเหลือของกองทัพอเมริกา ซึ่งพวกเขาได้นำทองคำแท่งและเพชรพลอยบรรจุกระเป๋าเดินทาง 24 ใบ ขณะที่ในตู้เสื้อผ้าในทำเนียบประธานาธิบดีพบว่า นางอิเมลดามีรองเท้ามากถึง 2,700 คู่ ประเมินกันว่า ตระกูลมาร์กอส ได้เงินจากการคอร์รัปชั่นไปมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
หลังจากที่ลี้ภัยได้ 3 ปี มาร์กอสก็เสียชีวิต ในวันที่ 28 กันยายน 1989 เนื่องจากภาวะไตล้มเหลว ขณะอายุ 72 ปี โดยมีการนำศพเขากลับมาฝังที่สุสานในวัดแห่งหนึ่งที่อิโลคอส นอร์เต ส่วนอิเมลดา และลูกๆ ได้เดินทางกลับฟิลิปปินส์ โดยไม่ได้รับการดำเนินคดีคอร์รัปชั่น และยังคงเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อหาเสียงให้กับลูกสาวและลูกชายของเธอ
เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จอมเผด็จการผู้ซึ่งครองตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 10 ของฟิลิปปินส์ ยาวนานกว่า 22 ปี แต่ด้วยการปฏิวัติพลังประชาชน ในปี 1986 ที่นำโดยนางคอราซอน อากิโน เหล่านักการเมืองฝ่ายค้านและกองทัพฟิลิปปินส์ ทำให้มาร์กอสต้องออกจากตำแหน่งและลี้ภัยออกนอกประเทศไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา กระทั่งเสียชีวิตลงวันที่ 28 กันยายน 1989
ฐิติพงศ์ มาคง
กรกฎาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
MGR Online. (2549, สิงหาคม 25). Ferdinand Marcos. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก: http://www.manager.co.th/
Around/ViewNews.aspx?NewsID=9490000026020.
New world encyclopedia. Ferdinand Marcos. [Online]. Search on 20 July 2016, Retrieved from:
http://www.newworldencyclopedia.org/entry/Ferdinand_Marcos.
The Biography.com. Ferdinand Marcos Biography. [Online]. Search on 20 July 2016. Retrieved from :
http://www.biography.com/people/ferdinand-marcos-9398625.
บ้านเมือง. (2556, พฤศจิกายน 17). มาร์กอส ยอดทรราชอาเซียน. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก: http:// www.Ban
muang.co.th/oldweb/2013/11/มาร์กอส ยอดทรราชอาเซียน.