จอห์น เรอฟรา เคออี (John Refra Kei) มีชื่อเล่นว่า จอห์น เคออี เกิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน 1969 ที่ตูทรีอัน เมืองปูเลา เคออี ทางเหนือของเกาะโมลุกกะ เขาเป็นชาวอินโดนีเซียโดยกำเนิด ในปี 1986 เขาเดินทางไปยังเมืองสุราบายา และกลายเป็คนเร่ร่อน ต่อมาในปี 1990 เขาเดินทางมายังเบอร์ลัน กลางกรุงจาการ์ตา ในปี 1998 เขาได้ก่อตั้งองค์กรเยาวชนเคออี
องค์กรเยาวชนเคออี นับเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจทวงหนี้ เก็บค่าคุ้มครองสถานที่บันเทิงและร้านอาหารของจอห์นรวมทั้งธุรกิจรักษาความปลอดภัยและให้คำปรึกษาทางกฎหมาย โดยได้รับค่าจ้างร้อยละ 15-50 ในแต่ละครั้ง ถ้าลูกหนี้ไม่จ่ายก็จะถูกตัดนิ้วมือโดยไม่ฟังเหตุผลใดๆ เขาเริ่มมีชื่อเสียงและสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งหมื่นคน ทั้งตัวเขาเองยังมีสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าของสถานบันเทิงหลายแห่ง ในวันที่ 12 ตุลาคม 2004 บัสรี ซางาจี หัวหน้าขององค์กรเยาวชนโมลุกกะ อูตารา ซึ่งเป็นองค์กรคู่แข่งของเขาในธุรกิจทวงหนี้ ถูกยิงเข้าที่หน้าอกจนเสียชีวิตในห้อง 301 ของโรงแรมเคบายอรัน ตอนใต้ของจาการ์ตา จึงทำให้อำนาจของเคออีเพิ่มมากยิ่งขึ้น จนเขาถูกนำไปเปรียบเทียบกับมาเฟียอิตาลีและเขาได้รับฉายาว่า “เจ้าพ่อจาการ์ตา”
นอกจากนี้เขายังถูกนำไปเชื่อมโยงเข้ากับคดีฆาตกรรมบัสรี ซางาจี ซึ่งก่อนหน้านี้ ในวันที่ 2 มีนาคม 2004 เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มของกลุ่มจอห์น เรอฟรา เคออี และกลุ่มของบัสรี ซางาจี ขณะที่กลุ่มของบัสรี ซางาจีกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ดิสโก้แท็คแห่งหนึ่งในกรุงจาการ์ตา ทำให้มีชายสองคนเสียชีวิตและมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่าสิบคน
ในวันที่ 11 สิงหาคม 2008 จอห์นและน้องชายของเขาตีโต้ เรอฟรา ถูกจับกุมโดยหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ 88 ในหมู่บ้านโอโฮอีจัง ที่เมืองตูอัล ทางตะวันออกเฉียงใต้ของโมลุกกะและศาลแขวงสุราบายาตัดสินให้จำคุกแปดเดือนในข้อหาทำร้ายร่างกายเด็กวัยรุ่นสองคน คือ ชาร์ลส์ เรอฟรา และ เรมี เรอฟรา ในโมลุกกะ
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2010 กลุ่มของจอห์นปะทะกับกลุ่มของตาลิบ มะกะรีม สมาชิกของตาลิบเสียชีวิตสองคน ในวันที่ 29 กันยายน 2010 ที่ศาลแขวงจาการ์ตาเกิดการปะทะขึ้นอีกครั้ง ทำให้สมาชิกสองคนจากกลุ่มของจอห์นถูกฆ่าตายคือ อัมเปอรา เบอร์ดาระห์ และคนขับรถ ชื่อ โกปาจา ในขณะที่ ตีโต้ เรอฟรา โดนยิงเข้าที่หน้าอกและเกือบจะเข้าสู่หัวใจ แต่รอดชีวิตมาได้
วันที่ 26 มกราคม 2012 จอห์นถูกจับกุมที่โรงแรมซีวัน ปูโลมัส ณ กรุงจาการ์ตา พร้อมกับสมาชิกอีกห้าคน คือ จันดรา เคออี, อันโคลา, ตูเจ เคออี, ดาเนีย เรส และกูปรา ในข้อหามีส่วนในการฆาตกรรมนายเตาฟิค มาร์บูน หรือที่เรียกกันว่า อายัง เป็นผู้บริหารของบริษัทพีที เซอเน็ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเหล็กกล้าของอินโดนีเซีย ในห้องพักหมายเลข 2701 โรงแรมสวิสเบลล์ กลางกรุงจาการ์ตา จอห์นโดนยิงได้รับบาดเจ็บที่ขาเนื่องจากขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ จากนั้นเขาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจจาตี ครามัต ต่อมาในวันที่ 29 มกราคม 2012 เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 135 นาย บุกเข้าไปค้นบ้านของ จอห์น เรอฟรา เคออี ในหมู่บ้านเบกาซี ชวาตะวันตก เพื่อค้นหาหลักฐานเพิ่มเติม พบเสื้อผ้าที่จอห์นได้สวมใส่ในวันนั้น และอาวุธปืนอยู่ภายในบ้าน รวมทั้งเงินสดจำนวนกว่า 5,250,000 รูเปียห์ โทรศัพท์มือถือยี่ห้อเวิร์นตู โน๊ตบุ๊คซัมซุง และกระเป๋าสีดำ จากนั้นทนายของจอห์นได้เข้ามาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่
ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2012 โจเซฟ ฮูงา โค้ชเทควันโดและทนายความ ถูกตำรวจจับกุม โดยสาเหตุการฆาตกรรมเนื่องมาจากอายังเป็นหนี้กว่า 600 ล้านรูเปียห์และไม่มีเงินชำระหนี้จึงถูกกลุ่มของจอห์นรับเป็นผู้ทวงหนี้ทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ในปี 2013 จอห์นถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 14 ปี ขณะที่จันดราและตูเจถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 12 ปี สำหรับอีกสามคน อันโคลา, ดาเนีย เรส และกูปราได้รับคำพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 8 ปี
แม้ว่า จอห์น เรอฟรา เคออี จะมีชื่อเสียงในฐานะฆาตกร แต่เขายังมีชีวิตอีกแง่มุมหนึ่งของชีวิตที่มีความเอื้ออาทร และชอบช่วยเหลือผู้ยากไร้ เช่น การบริจาคเงินเพื่อสร้างโบสถ์คริสต์และบ้านปุโรหิตในบ้านเกิดของเขาบนเกาะเคออี เขาจึงกลายเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินของโบสถ์แห่งนั้น นกจากนี้ยังได้บริจาคเงินเพื่อใช้ในการมุงหลังคาบ้านบนเกาะเคออีกว่า 20 หลัง และเขายังได้ช่วยอูมา เคออี หลานชายของเขาโดยการบริจาคเงินเพื่อใช้ติดตั้งไฟภายในลานคอร์ทยาร์ดรอบมัสยิด ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เขาจะกลายเป็นที่รักของในบ้านเกิดของเขา แต่กระนั้น จอห์น เรอฟรา เคออี เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าระบบกฎหมายของอินโดนีเซียมีความอ่อนแอมากเพียงใด เพราะมีผู้กระทำผิดกฎหมายจำนวนมากสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ
จอห์น เรอฟรา เคออี ชายชาวโมลุกกะผู้มามีอิทธิพลอยู่ในโลกมืดใจกลางกรุงจาการ์ตา ด้วยภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูดุดันและแข็งกร้าว ทั้งเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมมากมาย แต่ยังมีอีกมุมหนึ่งที่หลายคนไม่อาจเห็นได้อย่าง ความเอื้ออาทรและการนำเงินที่ได้ส่วนหนึ่งไปพัฒนาบ้านเกิดของเขา
ฐิติพงศ์ มาคง
เมษายน 2559