อ่าวกามรัญ (Cam Ranh Bay) เป็นอ่าวทะเลน้ำลึกในจังหวัดคั้ญฮว่า ซึ่งเป็นชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงใต้ของเวียดนามและติดกับทะเลจีนใต้ ในเชิงภูมิศาสตร์อ่าวกามรัญ ถือเป็นอ่าวทะเลน้ำลึกที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีความเหมาะสมในการเป็นท่าเรือน้ำลึก เนื่องจากไหล่ทวีปในบริเวณดังกล่าวมีลักษณะค่อนข้างแคบ จึงทำให้ทะเลน้ำลึกอยู่ใกล้ฝั่งมากกว่าปกติ
ในอดีตอ่าวกามรัญ เป็นที่หมายปองของชาติมหาอำนาจต่างๆ เป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาวะที่ตั้งมีความเหมาะสมในการเป็นฐานทัพเรือขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับเรือรบโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือบรรทุกเครื่องบินได้เป็นจำนวนมากในเวลาเดียวกันได้ ฝรั่งเศสถือเป็นชาติแรกที่เข้ามาใช้อ่าวกามรัญเป็นฐานทัพเรือสำหรับกองเรือของตนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะดียวกันรัสเซียก็ได้ให้ความสนใจอ่าวกามรัญเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาสงครามระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่น (Russo-Japanese War) ใน ค.ศ. 1904 - 1905 ก่อนที่ยุทธนาวีที่ ช่องแคบสึชิมะจะเปิดฉากขึ้น กองเรือรบของรัสเซียภายใต้การบัญชาการของจอมพลเรือ ซิโนวี รอเชสทเวนสกี (Zinovy Rozhestvensky) ได้เข้าใช้ฐานทัพเรือในการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าทำการรบ
ในข่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพเรือญี่ปุ่นใช้อ่านกามรัญสำหรับการเตรียมความพร้อมในการบุกคาบสมุทรมลายูใน ค.ศ. 1942 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ท่าเรือและฐานทัพเรือในอ่าวกามรัญได้ถูกทิ้งไว้ จนกระทั่งในทศวรรษ 1960 อ่าวกามรัญได้กลับมามีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์อีกครั้ง เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในสงครามเวียดนามที่กำลังดำเนินไปอย่างดุเดือด สหรัฐฯ ได้ทำการปรับปรุงและขยายโครงสร้างพื้นฐานในอ่าวกามรัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสนามบินขนาดใหญ่เพิ่มเติม อ่าวกามรัญกลายเป็นศูนย์กลางของปฏิบัติการลาดตระเวนทางอากาศตามแนวชายฝั่งเวียดนามและการขนส่งทางอากาศของสหรัฐฯ ในเวียดนามใต้ จนกระทั่งสหรัฐฯ ถอนทหารออกจากเวียดนามใน ค.ศ. 1975
ต่อมาในปี 1979 สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและสหภาพโซเวียตบรรลุข้อตกลงในการใช้ฐานทัพกามรัญ โดยอนุญาตให้สหภาพโซเวียตสามารถใช้ฐานทัพได้โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าเป็นระยะเวลา 25 ปี จากท่าเรือหลักที่มีอยู่แต่เดิม 2 ท่า สหภาพโซเวียตได้ก่อสร้างเพิ่มเติมเป็น 7 ท่า และก่อสร้างอู่แห้งสำหรับเรือรบอีก 2 อู่ และขยับขยายโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถรองรับเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ดังนั้นในช่วงสงครามเย็น ฐานทัพเรือในอ่าวกามรัญได้กลายเป็นฐานทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพโซเวียตในต่างประเทศ และเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับกองเรือภาคพื้นแปซิฟิคของสหภาพโซเวียตในการถ่วงดุลอำนาจของสหรัฐอเมริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานทัพเรือสหรัฐฯ ในอ่าวซูบิก (Subic Bay) ประเทศฟิลิปปินส์ หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลงในปี 1998 เวียดนามได้แจ้งให้ทางการรัสเซียทราบว่า หากรัสเซียมีความประสงค์ที่จะขยายระยะเวลาในการใช้ฐานทัพเรือในอ่าวกามรัญ ต่อไปหลังจากข้อตกลงเดิมสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 2004 รัสเซียต้องจ่ายค่าใช้ประโยชน์ให้กับเวียดนามปีละ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยเหตุนี้รัสเซียจึงตัดสินใจไม่ขอขยายข้อตกลงที่มีอยู่เดิม และได้ถอนทหารออกไปจากอ่าวกามรัญใน ค.ศ. 2002 ฐานทัพได้ถูกโอนกลับไปอยู่ในความดูแลของเวียดนามในปีเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค การเพิ่มสมรรถภาพทางการทหาร และความขัดแย้งเหนือพื้นที่ที่จีนอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้กับประเทศคู่กรณีพิพาทอื่น ๆ เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ทำให้เวียดนามย้อนกลับมาทบทวนความเป็นไปได้ในการอนุญาตให้ประเทศมหาอำนาจสามารถมีสิทธิ์ในการเข้าใช้ฐานทัพเรือในอ่าวกามรัญอีกครั้งหนึ่ง ในระหว่างการปิดการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asian Summit) ใน ค.ศ. 2010 นายกรัฐมนตรีเหงียนเติ๊นสุง กล่าวว่าจะมีการพิจารณาอนุญาตให้เรือรบต่างชาติสามารถเข้าใช้ฐานทัพเรือในอ่าวกามรัญ อีกครั้งหนึ่งหลังจากปรับปรุงและซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่แล้วเสร็จใน ค.ศ. 2014 เวียดนามได้บรรลุข้อตกลงกับรัสเซียในการลดขั้นตอนและให้สิทธิพิเศษแก่เรือรบรัสเซียในการแวะจอดและใช้ฐานทัพได้เพียงแค่แจ้งให้ทางเวียดนามทราบล่วงหน้า ในขณะที่ชาติอื่นๆ ยังคงถูกจำกัดสิทธิในการแวะจอดและใช้ได้แค่ปีละหนึ่งครั้ง
ญาวีร์ บุตรกระวี
เมษายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
ธัญญาทิพย์ ศรีพนา. “การประกาศเปิดท่าเรือคัมรานห์ของเวียดนาม.” ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 5 กรกฎาคม 2554, http://www.thaiworld.org/th/thailand_monitor/ answer.php?question_id=1079 (สืบค้นเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2559).
Associated Press. “Vietnam’s Cam Ranh Base to Welcome Foreign Navies.” Washington Post, 2 November 2010, http://www.washingtonpost.com/wp-dyn/content/article/2010/11/02/ AR2010110200139.html (accessed April 13, 2016).
Storey, Ian, and Carlyle A. Thayer. “Cam Ranh Bay: Past Imperfect, Future Conditional.” Contemporary Southeast Asia 23, 3 (December 2001): 452-473.