การฝึกคอบร้า โกลด์เป็นการฝึกร่วม/ผสมทางการทหารระดับพหุภาคีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในประเทศไทย การฝึกคอบร้า โกลด์เริ่มขึ้นครั้งแรกจากการฝึกทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2525 เมื่อมีการรวมการฝึกของกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐฯหลายรหัสการฝึกเข้าด้วยกัน แล้วกำหนดเป็นรหัสการฝึกใหม่ เรียกว่า "คอบร้าโกลด์ 82" โดยกองทัพอากาศจัดกำลังเข้าร่วมการฝึกด้วย ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2526 กองทัพบกได้จัดหน่วยรบพิเศษเข้าร่วมการฝึกอีกเหล่าทัพหนึ่ง จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกร่วมและผสมครบทั้ง 3 เหล่าทัพเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2529 กองบัญชาการทหารสูงสุดได้เข้ารับผิดชอบเป็นผู้อำนวยการฝึกคอบร้าโกลด์ 86 โดยเน้นการฝึกหน่วยทหารในการปฏิบัติการรบตามแบบ ด้วยกำลังขนาดใหญ่ระดับกองกำลังเฉพาะกิจร่วมและผสม เข้าปฏิบัติการในยุทธบริเวณ และดำเนินการฝึกต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน มีกำลังจากกองทัพไทยทุกเหล่าทัพเข้าร่วมฝึกหมุนเวียนไปตามกองทัพภาคและกองเรือภาค ในปัจจุบันการฝึกคอบร้าโกลด์ถือได้ว่าเป็นการฝึกร่วมและผสมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ดีเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง แนวโน้มของความมั่นคงรูปแบบเดิมเช่น สงครามขนาดใหญ่เต็มรูปแบบ มีโอกาสเกิดขี้นน้อยลง ในขณะที่ประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่มีความเกี่ยวข้องกับภารกิจของกองทัพเช่น การเกิดภัยพิบัติ หรือการก่อการร้าย หรือวิกฤตการณ์ทางมนุษยธรรม มีแนวโน้มที่จะเข้ามาแทนที่ความมั่นคงรูปแบบเดิม ดังนั้น ในปี พ.ศ.2543 การฝึกคอบร้า โกลด์ 2000 จึงได้เพิ่มรูปแบบการฝึกให้มีปฏิบัติการทางทหารที่นอกเหนือจากไปการทำสงครามเข้าไว้ด้วย เช่น การรักษาสันติภาพ การต่อต้านการก่อการร้าย การบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อตอบสนองต่อรูปแบบสถานการณ์ความมั่นคงที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้การฝึกยังขยายขอบเขตการฝึกจากการฝึกแบบทวิภาคีเป็นการฝึกแบบพหุภาคีโดยมีสิงคโปร์เป็นชาติแรกที่เข้าร่วม และเพื่อแสดงถึงความโปร่งใส และความร่วมมือระหว่างชาติพัมธมิตร การฝึกคอบร้า โกลด์ 2000 จึงเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกสามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกได้
การฝึกคอบร้าโกลด์ครั้งที่ 35 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุด มีขึ้นในระหว่างวันที่ 9-16 กุมภาพันธ์ 2559 โดยมีประเทศที่เข้าร่วมการฝึกรวม 27 ประเทศ และมีประเทศที่เข้าร่วมการฝึกหลัก 7 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยมีประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และอินเดีย เข้าร่วมในส่วนโครงการช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ นอกจากนี้ยังมีประเทศฝ่ายเสนาธิการผสมนานาชาติ (MPAT) 9 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี บังกลาเทศ เนปาล มองโกเลีย และฟิลิปปินส์ ประเทศที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ฝึก (COLT) 9 ประเทศ ได้แก่ พม่า ลาว เวียดนาม ชิลี เนเธอร์แลนด์ บรูไน แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย รวมมีทหารเข้าร่วมการฝึก 8,875 คน โดยใช้พื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเป็นหลัก
ญาวีร์ บุตรกระวี
เมษายน 2559