องค์การสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ องค์การความมั่นคงในระดับภูมิภาค ก่อตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.) ซึ่งได้รับการลงนามเมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1954 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ จึงรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าสนธิสัญญามะนิลา (Manila Pact) โดยมี 8 ประเทศสมาชิกเข้าร่วมได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ และมีนายพจน์ สารสินเป็นเลขาธิการ SEATO คนแรก
SEATO มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการตามเนื้อหาสาระสำคัญของสนธิสัญญาที่สถาปนาระบอบพันธมิตรร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก กล่าวคือ แต่ละประเทศภาคีสัญญาตกลงเห็นพ้องกันว่า หากประเทศสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งถูกรุกรานจากการโจมตีด้วยกำลังอาวุธ ประเทศภาคีทั้งหมดที่เหลือจะถือว่าเป็นการรุกรานต่อประเทศสมาชิกทั้งหมด และจะปฏิบัติการตอบโต้เพื่อเผชิญหน้ากับอันตรายร่วมกัน โดยยึดถือหลักมติเอกฉันท์ซึ่งประเทศสมาชิกทั้งหมดต้องเห็นพ้องต้องกันไปในทิศทางเดียวในการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม SEATO ประสบความล้มเหลวในการรักษาความมั่นคงในภูมิภาค และไม่เคยมีบทบาททางการทหารที่แท้จริงเนื่องจากความแตกต่างในการจัดลำดับความสำคัญผลประโยชน์แห่งชาติของแต่ละประเทศสมาชิก เช่น การที่ฝรั่งเศสและอังกฤษคัดค้านต่อข้อเรียกร้องของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้ SEATO เข้าแทรงแซงสถานการณ์ในลาวในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 เมื่อภัยคอมมิวนิสต์เริ่มขยายตัวเข้ามาในเขตอิทธิพลของไทยมากขึ้น
ตลอดเวลาการดำรงอยู่ของ SEATO ไทยเป็นประเทศสมาชิกที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับองค์การอย่างแข็งขันที่สุด อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ความสำคัญของ SEATO ในฐานะองค์การความมั่นคงในระดับภูมิภาคได้ถูกลดความสำคัญลงไปอย่างมากเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในระดับภูมิภาคและโลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับความสัมพันธ์เป็นปกติระหว่างสหรัฐฯ และจีน ชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในลาว กัมพูชา และเวียดนาม และการถอนทหารออกจากภูมิภาคของสหรัฐฯ ถึงแม้ว่าสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีผลบังคับใช้มาโดยตลอด แต่ในท้ายที่สุด SEATO ในฐานะองค์การได้ยุติบทบาทอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1977
ญาวีร์ บุตรกระวี
เมษายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
จุฬาพร เอื้อรักสกุล , เรียบเรียง. “การจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.).” ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า, 16 สิงหาคม 2556, http://wiki.kpi.ac.th/ index.php?title=SEATO (สืบค้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2559).
Buszynski, Leszek. SEATO: The Failure of an Alliance Strategy. Singapore: Singapore University Press, 1983.
Fenton, Damien. To Cage the Red Dragon: SEATO and the Defense of Southeast Asia 1955-1965. Singapore: NUS Press, 2012.