คอมปาส (Kompas) เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอินโดนีเซียแห่งชาติอินโดนีเซีย ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในอินโดนีเซีย มีชื่อเสียงในการวิเคราะห์ข่าวเชิงลึกและมีความน่าเชื่อถือสูง นอกจากนี้ การตีพิมพ์ออกวางจำหน่ายจำนวนมหาศาล ส่งผลคอมปาสเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คอมปาสเป็นชื่อที่คำแนะนำโดยอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน หรือชื่อในช่วงแรกคือเบินตารา รักยัต (Bentara Rakyat) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 28 เดือนมิถุนายน ปี 1965 บริหารกิจการโดยคอมปาส กรามีเดีย (Kompas Gramedia) กลุ่มทุนด้านสื่อและสิ่งพิมพ์ของชาวคริสต์อินโดนีเซียนิกายคาทอลิก กิจการหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ริเริ่มขึ้นโดยฟรานซ์ เซอดา (Frans Seda) รัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคคาทอลิก (Parti Katolik) จากคำแนะนำของนายพลอะฮ์หมัด ยานี (Ahmad Yani) ผู้บัญชาการกองทัพแห่งชาติอินโดนีเซียในขณะนั้น เพื่อเป็นตัวแทนของพรรคคาทอลิก และกระบอกเสียงตอบโต้การโฆษณาชวนเชื่อของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI) เป็นหัวหอกสำคัญ ฟรานซ์ เซอดาได้นำเรื่องนี้ไปหารือกับเพื่อนสนิทของเขาสองคน ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์คอมปาสคือ เป.คา. โอจอง (P.K. Ojong) และจาคอป อูตามา (Jakob Oetama) เมื่อจดทะเบียนขอใบอนุญาตก่อตั้งคอมปาสแล้ว จาคอป อูตามาได้รับแต่งตั้งเป็นบรรณาธิการบริหารคนแรก
คอมปาสตีพิมพ์ออกวางจำหน่ายครั้งแรกเป็นรายสัปดาห์ จำนวน 4,800 ฉบับ แต่ทยอยเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดก็เปลี่ยนเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน นับตั้งแต่ปี 1969 เป็นต้นมา คอมปาสกลายเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่ครองตลาดผู้อ่านระดับชาติมากที่สุด และมีรายได้จากโฆษณาหน้าหนังสือพิมพ์มากกว่าหนังสือพิมพ์รายวันภายในประเทศฉบับอื่นๆ เกินครึ่งอีกด้วย คอมปาสแบ่งออกเป็น 3 ส่วน เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์รายวันทั่วไป โดยส่วนแรกเป็นข่าวภายในท้องถิ่นและข่าวต่างประเทศ ส่วนที่สองเป็นข่าวด้านธุรกิจกับการเงิน และในส่วนที่สามนั้นเป็นข่าวกีฬา ขณะเดียวกัน นอกจากฉบับออกวางจำหน่ายเป็นรายวันแล้ว คอมปาสยังมีฉบับพิเศษเฉพาะในวันอาทิตย์อีกด้วย เนื่องจากความนิยมติดตลาดสูงสุดดังกล่าว เมื่อปี 2003 คอมปาสจึงก่อตั้งฉบับประจำภูมิภาคต่างๆ ขึ้น เช่น ชวาตะวันตก ชวากลาง และยอร์กยาการ์ตา เป็นต้น แต่สุดท้ายก็ยุบรวมเหลือฉบับคอมปาสรายวันฉบับดั้งเดิมที่ออกจากส่วนกลางเพียงฉบับเดียว
แม้ว่ามีการยุบคอมปาสประจำภูมิภาคลง แต่คอมปาสก็ยังถือว่าเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่แพร่กระจายมากสุดในประเทศ รวมทั้งแพร่กระจายมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปี 2004 กระแสความนิยมในหนังสือพิมพ์คอมปาสพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดเป็นประวัติกาล ในปีนั้นเอง คอมปาสตีพิมพ์ฉบับรายวันออกวางจำหน่ายถึง 530,000 ฉบับ และฉบับพิเศษมากกว่า 600,000 ฉบับ ยอดจำหน่ายอันสูงลิ่วดังกล่าว ทำให้มีการคาดการณ์ว่าสามารถเข้าถึงผู้อ่านได้ราว 2.6 ล้านคน กล่าวได้ว่า ในปี 2004 นั้นคือช่วงรุ่งเรืองสุดขีดของคอมปาสนับตั้งแต่ก่อตั้งมา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคอมปาสตีพิมพ์ออกวางจำหน่ายทั่วประเทศวันละประมาณ 500,000 ฉบับ และเข้าถึงผู้อ่านเฉลี่ยวันละ 1,850,000 คนต่อวัน นอกจากนี้ ในปี 2008 คอมปาสได้ขยายรูปแบบสื่อออนไลน์อีกด้วย ซึ่งเป็นการปรับตัวกับรูปแบบสื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นและเข้าถึงได้ง่าย โดยเป็นสื่อสิ่งพิมพ์รายแรกของเอเชียที่ปรับรูปแบบหนังสือพิมพ์ให้เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างแท็บเล็ต (Tablet) ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงนั้น
แม้ว่าคอมปาสมุ่งหมายในการก้าวไปสู่หนังสือพิมพ์ที่มีความเป็นกลาง น่าเชื่อถือ และอิสระ แต่ก็มีวาระทางการเมืองตั้งแต่ช่วงแรกของการก่อตั้ง เหตุเพราะมีความเกี่ยวพันกับนักการเมืองและพรรคคาทอลิก แม้ว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อปี 1971 ส่งผลให้คอมปาสสามารถบริหารงานและนำเสนอข่าวอย่างเป็นอิสระมากขึ้น แต่กระนั้น เบ็น. แอนเดอสัน (Ben. Anderson) นักวิชาการอินโดนีเซียศึกษานามอุโฆษกล่าวถึงคอมปาสในฐานะหนังสือพิมพ์ยุคระเบียบใหม่อันยอดเยี่ยม เพราะทำหน้าที่รายงานข่าวอย่างมืออาชีพภายใต้กรอบข้อบังคับของรัฐบาลเผด็จซูฮาร์โต รวมทั้งได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 อย่างไรก็ดี หลังจากสิ้นสุดระบบเผด็จการซูฮาร์โต คอมปาสก็ค่อยๆ กลายเป็นหนังสือพิมพ์อิสระและไม่ขึ้นอยู่กับองค์กรทางการเมืองใดๆ มากขึ้น
การได้การสนับสนุนภายใต้กลุ่มทุนคอมปาส กรามีเดีย ทำให้คอมปาสมีสถานะมั่นคงทางการเงินอย่างมาก นอกจากการลงทุนด้านหนังสือพิมพ์แล้ว คอมปาส กรามีเดียยังมีกิจการสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ หลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ นิตยสาร วิทยุและโทรทัศน์ ตลอดจนมีบริษัทลูกในเครือที่ดำเนินกิจการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น รวมไปถึงเข้าไปลงทุนด้านโรงพยาบาลและสิ่งทออีกด้วย นับได้ว่าเป็นกลุ่มทุนใหญ่อินโดนีเซียที่บริหารโดยชาวคาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่นับถืออิสลาม การขยายกิจการจากสื่อสิ่งพิมพ์ไปสู่ธุรกิจอื่นๆ อย่างหลากหลายนั้น นั่นก็เพราะการมีตลาดผู้บริโภคภายในประเทศจำนวนมหาศาลและการสร้างความน่าเชื่อถือด้วยคุณภาพ ปัจจัยดังกล่าวนี้ช่วยส่งเสริมให้คอมปาส กรามีเดียกลายเป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่น่าจับตามองอย่างยิ่งยวด แม้ว่ากลุ่มทุนด้านสื่อในประเทศไทยพยายามขยับขยายหรือแตกกิ่งก้านสาขาการลงทุนนอกเหนือจากสื่อสิ่งพิมพ์อย่างไทยรัฐ มติชน หรือสื่ออื่นๆ แต่ก็ยังไม่สามารถเทียบเคียงความใหญ่โตด้านการลงทุนและปริมาณตลาดผู้บริโภคในอินโดนีเซียได้เลย
บัญชา ราชมณี
กรกฎาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Jackson, K. D., & Pye, L. W. (Eds.). (1978). Political Power and Communications in Indonesia. Berkelay: University of California Press.
Bubandt, N. (2014). Democracy, Corruption and the Politics of Spirits in Contemporary Indonesia. New York: Routledge.