สุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ถือเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงปกครองประเทศด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กล่าวได้ว่าพระองค์ทรงเป็นมากเสียยิ่งกว่าประมุขของประเทศ เพราะนอกจากตำแหน่งประมุขแห่งบรูไนแล้ว พระองค์ยังเป็นผู้นำทางศาสนา และกษัตริย์นักการค้าอีกด้วย
สุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ มีพระนามเต็มว่า สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดีน วัดเดาละห์ (His Majesty Sultan Haji Hassanal Bolkiah Mu'izzaddin Waddaulah) สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 29 แห่งบรูไน เป็นพระราชโอรสพระองค์แรกของสุลต่าน เซอร์ มูดา โอมาร์ อาลี ไซฟุดดีน ที่ 3 (พระราชาธิบดีพระองค์ที่ 28 ) กับสมเด็จพระราชินีเป็งงีรัน อานะก์ ดามิต เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 1946 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ทรงสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมจากสถาบันวิกตอเรีย ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจากวิทยาลัยการทหารแซนด์เฮิร์สต์ ประเทศอังกฤษ โดยได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 1961 ทางด้านชีวิตครอบครัว สุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ทรงอภิเษกสมรสกับพระมเหสี 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระราชินีรายาอิสตรี เป็งงรีรัน อานะก์ ฮัจญะห์ ซาเลฮา ทรงอภิเษกเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 1965 ต่อมาทรงอภิเษกอีกครั้งกับพระมเหสีเป็งงรีรัน อิสตรี มาเรียม แต่ทรงหย่าไปเมื่อปี 2003 และ อัซรีนาซ มาซาร์ ฮาคิม อดีตผู้ประกาศข่าวช่อง 3 ของมาเลเซีย แต่ทรงหย่ากันในปี 2010 มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 12 พระองค์ สุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 1967 ภายหลังจากพระราชบิดาสละราชสมบัติ ทั้งนี้ถึงแม้ว่าจะสละราชสมบัติลงแล้ว แต่พระราชบิดาของพระองค์ก็ยังคงมีอิทธิพลในฐานะที่ปรึกษาของราชบัลลังก์ นอกจากนี้ทั้งสองพระองค์ยังคงดำเนินการสานสัมพันธ์กับอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคม เพื่อป้องกันการล่วงล้ำอำนาจธิปไตยจากรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน และฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองภายในประเทศ
ในระยะแรกที่สุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ขึ้นครองราชย์ ระหว่างที่ดำเนินการสานสัมพันธ์กับอังกฤษ ส่งผลให้อังกฤษได้รับพระบรมราชานุญาตให้รับผิดชอบกิจการด้านการต่างประเทศและการป้องกันประเทศ โดยมีบรูไนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ในขณะที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองต่างพยายามเร่งรัดให้เกิดแนวทางการปกครองตนเอง และเกิดเลือกตั้งโดยเสรีขึ้น ซึ่งอังกฤษเองก็พยายามผลักดันให้บรูไนเป็นเอกราช โดยการบังคับให้สุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ และพระบิดาลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือ ทำให้บรูไนกลายเป็นรัฐเอกราชในวันที่ 1 มกราคม 1984 จากนั้นเป็นต้นมา สุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ทรงดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองหลายตำแหน่ง อาทิ พระประมุขแห่งรัฐ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตลอดจนตำแหน่งผู้นำทางศาสนาอิสลามของบรูไนด้วย ต่อมาพระราชบิดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ลงในปี 1986 สุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ เป็นอิสระจากที่ปรึกษาการคลังชาวอังกฤษ และนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ ซึ่งมีอิทธิพลมากในสมัยพระราชบิดา พระองค์ทรงวางแผนบริหารประเทศด้วยพระองค์เองในทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงศาสนา โดยทรงให้ความสำคัญแก่การบริหารบ้านเมืองด้วยหลักศาสนาอิสลามเป็นพิเศษ
ข้อที่น่าสังเกตสำหรับบทบาทของสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ คือ แม้ว่าพระองค์จะทรงใช้พระราชอำนาจเต็มที่ในการปกครองประเทศตามรูปแบบของระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ก็ไม่เคยที่จะต้องเผชิญกับปัญหาร้ายแรงอย่างการต่อต้านจากประชาชนบรูไน อาจเป็นเพราะพระองค์ทรงมีความสามารถในการปกครองประเทศ ผนวกกับการที่ประชาชนภายในประเทศมีการดำรงชีวิตที่ดีในทุกๆ ด้าน มีสวัสดิการที่ทั่วถึง แม้ว่าจะทรงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์บ้างว่าพระองค์ทรงดำเนินนโยบายด้านการเมืองและเศรษฐกิจบางประการเพื่อตัวพระองค์เอง แต่นอกจากบริหารประเทศแล้ว สุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ยังมีบทบาทมากในฐานะที่เป็นหนึ่งในอุดมการณ์ที่เรียกว่า “ราชอาณาจักรมุสลิมแห่งมลายู” (Melayu Islam Beraja-MIB) ซึ่งกำหนดอุดมการณ์สามอย่าง ได้แก่ มลายู ศาสนาอิสลาม และพระมหากษัตริย์ ให้ประชาชนยึดถือ เป็นหลักการที่รัฐบาลพยายามสนับสนุนผ่านช่องทางต่างๆ
อย่างไรก็ตาม สุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ได้แสดงท่าทีต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญเพื่อตอบสนองแนวโน้มการเมืองสากลโดยทรงฟื้นฟูสภานิติบัญญัติขึ้นในปี 2004 ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในบรูไน จากนั้นในปี 2005 ได้มีการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งสำคัญ โดยแต่งตั้งผู้สืบทอดอำนาจในการบริหารประเทศ คือ มงกุฎราชกุมารฮัจญี อัล มูห์ทาดี บิลลาห์ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโส และเปิดโอกาสให้นักธุรกิจที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามเข้าร่วมดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งนี้พระองค์เห็นว่าการพัฒนาประเทศต่อไปจำเป็นต้องให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ
กระนั้นบทบาทในด้านกฎหมายยังคงถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมากในแง่ของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่ การที่พระองค์ทรงประกาศกลางงานการประชุมศาลแห่งบรูไน ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวันว่า บรูไนถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์ หรือประมวลข้อปฏิบัติต่างๆ ในกฎของศาสนาอิสลาม แต่ทว่ากฎหมายที่อิงตามหลักศาสนาอิสลามฉบับนี้ ได้มีผลบังคับใช้ในระดับประเทศจริงจังในเดือนเมษายน 2014 โดยจะมีการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์กับพลเมืองมุสลิมที่มีเป็นจำนวนมากถึงสองในสามของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่วนประชาชนชาวบรูไนชนกลุ่มน้อยที่นับถือพุทธ คริสต์ หรือ ความเชื่ออื่นๆ และนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นจะไม่รวมอยู่ภายใต้กฎหมายนี้
เนื่องจากบรูไนเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับสามในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย และเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ LNG อันดับสี่ของโลก จึงเป็นที่มาของความร่ำรวยของสุลต่านบรูไนมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ในขณะที่ SCB Economic Intelligence Center (EIC) ได้วิเคราะห์โอกาสและปัญหาด้านเศรษฐกิจว่าบรูไนอาจเผชิญกับปัญหาการหมดลงของน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในอีก 25 ปีข้างหน้า ดังนั้นสิ่งที่ท้าทายสำหรับสถาบันกษัตริย์บรูไนในปัจจุบัน คือ ความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและการคงไว้ซึ่งมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ที่สูง ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดแผนพัฒนาประเทศระยะยาวของทางรัฐบาลบรูไน เรียกว่า “วิสัยทัศน์บรูไน 2578” หรือ “Wawasan Brunei 2035” ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย
มนัสวี นาคสุวรรณ์
กรกฎาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
จุลนภ ศานติพงศ์ และคณะ. (2556). 17 ผู้ทรงอิธพลในอาเซียน. กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊คส์.
ดลมนรรจน์ บากา และ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน. (2557). ประวัติศาสตร์บรูไน. กรุงเทพฯ: มูลธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
Hassanal Bolkiah. Search on 20 July 2016, Retrieved from Wikipedia: https://en.wikipedia.org/