มูฮัมมาดียะฮ์ (Muhammadiyah) เป็นองค์กรอิสลามนิกายซุนนีในอินโดนีเซีย และได้ชื่อว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและอิสลามสายปฏิรูปหรือแบบสมัยใหม่ โดยมีบทบาทสำคัญในการตีความอิสลามและเป็นองค์กรช่วยเหลือทางสังคม
มูฮัมมาดียะฮ์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1912 ที่เมืองยอร์กยาการ์ตา ในสมัยที่ประเทศอินโดนีเซียยังตกเป็นอาณานิคมของดัตช์ ผู้ก่อตั้งองค์กรนี้คืออะฮ์หมัด ดะฮ์ลัน (Ahmad Dahlan) เจ้าหน้าที่ในราชสำนักสุลต่านยอร์กยาการ์ตา และเป็นนักวิชาการศาสนาที่จบการศึกษาด้านอิสลามจากเมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากอะฮ์หมัด ดะฮ์ลันมองว่า อิสลามในอินโดนีเซียยังล้าหลังและกำลังถูกแทรกซึมโดยศาสนาคริสต์ จึงทำให้เขาก่อตั้งขบวนการเคลื่อนไหวที่มุ่งเน้นปฏิรูปสังคมและศาสนาในอินโดนีเซีย โดยได้รับอิทธิพลความคิดอิสลามสายปฏิรูปอย่างลึกซึ้งจากนักวิชาการอิสลามชาวอียิปต์นามว่า มูฮัมหมัด อับดูฮ์ (Mohamad Abduh) มูฮัมมาดียะฮ์มีแนวทางที่มุ่งปฏิรูปศาสนาให้เป็นสมัยใหม่ และทำให้อิสลามบริสุทธิ์ปราศจากความเชื่ออื่นๆ เจือปน ด้วยเหตุนี้ มูฮัมมาดียะฮ์จึงให้ความสำคัญกับหลักการความเป็นเอกภาพในพระเจ้าและการธำรงไว้ซึ่งศาสนาอิสลามเคร่งครัดตามคัมภีร์
ในฐานะหัวหอกสำคัญของมุสลิมแบบสมัยใหม่ มูฮัมมาดียะห์ถือว่าเป็นหนึ่งในองค์กรมุสลิมที่มีขนาดใหญ่ทั่วโลก และมีอิทธิพลอย่างมากในสังคมอินโดนีเซียซึ่งมีประชากรมุสลิมกว่า 200 ล้านคน แม้ว่ามีชาวอินโดนีเซียประมาณ 25-30 ล้านคนที่แสดงตัวว่าเป็นสมาชิกมูฮัมมาดียะฮ์ แต่จำนวนสมาชิกดังกล่าวก็ถือว่ามีจำนวนมาก โดยเป็นรองแค่นาฮ์ดาตุล อูลามะ (Nahdlatul Ulama) องค์กรอิสลามแบบจารีตซึ่งมีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในอินโดนีเซีย แม้ว่าโดยทั่วไปทั้งสององค์กรถือหลักการศาสนาตามแบบอิสลามนิกายซุนนี่ แต่กระนั้น มูฮัมมาดียะฮ์มุ่งเน้นความสำคัญของคำภีร์อัล-กุรอ่าน และฮาดิธ (Hadith) ในฐานะธรรมนูญสูงสุดของอิสลามและเป็นฐานในการตีความศาสนาและวิถีปฏิบัติ ตรงกันข้ามกับนาฮ์ดาตุล อูลามะที่ยังคงให้ความสำคัญกับจารีตประเพณีของชาวชวา โดยไม่ปฏิเสธวิถีปฏิบัติของมุสลิมที่ยังคงมีความเชื่อก่อนการเข้ามาของอิสลาม ในขณะที่มูฮัมมาดียะฮ์ถือว่าจารีตความเชื่อของชวานั้นขัดแย้งกับศาสนาอิสลามและไม่อาจผสมร่วมกันได้
นอกจากบทบาททางด้านศาสนาแล้ว มูฮัมมาดียะฮ์เป็นองค์กรด้านสังคมสงเคราะห์ ที่ให้การช่วยเหลือด้านการศึกษาและสาธารณสุข ดังเช่นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในปี 2006 ที่เมืองยอร์กยาการ์ตา องค์กรนี้ก็ได้ใช้เครือข่ายสาธารณสุขและส่งสมาชิกของตนเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้เดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ สำหรับในด้านการศึกษานั้น มูฮัมมาดียะฮ์ได้บุกเบิกก่อตั้งโรงเรียนอิสลามสอนศาสนาตามแนวทางขององค์กร โดยกระจายตามเมืองต่างๆ ทั่วเกาะชวา นับตั้งแต่ปี 1913-1918 มีการก่อตั้งโรงเรียนอิสลามด้วยกัน 5 โรง และต่อมาในปี 1925 โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในสังกัดมูฮัมมาดียะฮ์ก็ขยายเพิ่มอีกเป็น 55 โรง และมีคลินิกรักษาคนไข้จำนวน 5 แห่ง แต่สถานการศึกษาและการรักษาพยาบาลดังกล่าว ตั้งอยู่ในเมืองยอร์กยาการ์ตาและเมืองสุราบายาบนเกาะชวา กระทั่งเมื่อมูฮัมมาดียะฮ์ขยายองค์กรไปยังเกาะอื่นๆ เช่น เกาะสุมาตรา เป็นต้น ทำให้มีสมาชิก มัสยิด โรงเรียน และจำนวนอูลามะหรือผู้รู้ศาสนาเพิ่มขึ้น ตลอดจนก่อตั้งมหาวิทยาลัยอิสลามภายใต้การบริหารของมูฮัมมาดียะฮ์ในหลายเมืองของอินโดนีเซีย ในปัจจุบัน มีสถานการศึกษาอิสลามของมูฮัมมาดียะฮ์มากกว่า 5,000 แห่งทั่วอินโดนีเซีย
สำหรับในด้านการเมืองแล้ว แม้ว่ามูฮัมมาดียะฮ์พยายามปลีกตัวออกจากการเมือง โดยไม่พยายามก่อตั้งพรรคการเมืองอิสลามเช่นองค์กรอิสลามสายจารีตที่ตั้งขึ้นมาภายหลังอย่างนาดาตุล อุลามะ แต่ก็เคยเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรและพรรคการเมืองอิสลามมัสยูมี (Masyumi) สมัยที่ญี่ปุ่นยึดครองอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองระหว่างปี 1965-1966 มูฮัมมาดียะฮ์ร่วมกับองค์กรอิสลามอื่นๆ ประกาศขุดรากถอดโคนพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI) และเข้าไปพัวพันกับการไล่ล่าประหัตประหารผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์ กลายเป็นโศกนาฏกรรมอันนองเดือดมากที่สุดในประวัติการเมืองอินโดนีเซียสมัยใหม่ ในปี 1998 หลังซูฮาร์โตลงจากอำนาจและอินโดนีเซียประกาศเข้าสู่ยุคปฏิรูป ข้อห้ามมิให้ก่อตั้งพรรคการเมืองแนวอิสลามถูกยกเลิกไป ก่อเกิดกระแสเรียกร้องจากสมาชิกให้ก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้น แม้ว่าพรรคการเมืองดังกล่าวไม่ได้รับความสำเร็จในการเลือกตั้งเท่าที่ควร แต่ก็ช่วยทำให้กระแสเรียกร้องการใช้หลักอิสลามในสังคมอินโดนีเซียเพิ่มสูงขึ้น
มูฮัมมาดียะฮ์เป็นองค์รมุสลิมแรกๆ ที่สนับสนุนให้มีการแปลและขยายความตัวบทในคัมภีร์อัล-กุรอ่านเป็นภาษาอินโดนีเซียที่ใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย ดังนั้น ทำให้มุสลิมอินโดนีเซียจำนวนมากที่ไม่เข้าใจภาษาอาหรับและวิถีปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักอิสลามเข้าใจศาสนามากขึ้น สำหรับประเทศไทย มีนักเรียนและนักศึกษาศาสนาเข้าไปศึกษาศาสนาอิสลาม ทั้งในโรงเรียนสอนศาสนาและมหาวิทยาลัยของมูฮัมมาดียะฮ์มาหลายรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นับถืออิสลามที่มีพื้นเพจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย นักเรียนและนักศึกษาเหล่านี้ มีทั้งที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลไทยและอินโดนีเซีย และจากมูฮัมมาดียะฮ์ แต่บางส่วนก็ใช้ทุนส่วนตัวมาศึกษาเล่าเรียน ทั้งนี้ เนื่องจากมีค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพไม่สูงมากนัก จึงทำให้ในแต่ละปีมีชาวมุสลิมจากไทยเข้ามาศึกษาจำนวนมาก
บัญชา ราชมณี
กรกฎาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Palmer, M. D., & Burgess, S. M. (Eds.). (2012). The Wiley-Blackwell Companion to Religion and Social Justice. Oxford: Wiley-Blackwell.
Menchik, J. (2016). Islam and Democracy in Indonesia: Tolerance without Liberalism. New York: Boston University
Mietzner, M. (2009). Military politics, Islam, and the state in Indonesia: from turbulent transition to democratic consolidation. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies.
Saleh, F. (2001). Modern Trends in Islamic Theological Discourse in 20th Century Indonesia: A Critical Study. Leiden: Brill Academic Publishers