โกลคาร์ (Golkar) เป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ของอินโดนีเซีย มีบทบาทสำคัญในรัฐบาลตั้งแต่ยุคระเบียบใหม่ภายใต้การปกครองของจอมเผด็จการซูฮาร์โต ในปัจจุบันพรรคนี้เป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโจโก วีโดโด (Joko Widodo) กล่าวได้ว่า พรรคโกลคาร์เป็นพรรคการเมืองที่ทรงพลังมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอินโดนีเซีย
โกลคาร์ เป็นคำย่อที่มาจากคำว่า Golongan Karya แปลว่าพรรคกลุ่มการทำงาน องค์กรทางการเมืองนี้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ปี 1964 หรือเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว โดยมีชื่อเดิมว่า Sekretariat Bersama Golongan Karya หรือในชื่อย่อว่า Sekber Golkar โกลคาร์ก่อตั้งโดยบรรดาข้าราชการทหารระดับสูงของกองทัพแห่งชาติอินโดนีเซีย (TNI) เพื่อต้องการให้เป็นกลุ่มการเมืองที่เข้าไปคานอำนาจกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI) ที่มีอิทธิพลเพิ่มสูงขึ้นในแนวร่วมแห่งชาติของประธานาธิบดีซูการ์โน แต่ในช่วงต้นของการก่อตั้งองค์กรนั้น โกลคาร์ไม่ค่อยมีบทบาททางการเมืองที่โดดเด่นแต่อย่างใด ต่อมาหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหารอันล้มเหลวเมือเดือนตุลาคม ปี 1965 หรือชาวอินโดนีเซียรู้จักกันในเหตุการณ์เกสตาปู (Gestapu) โกลคาร์ก็หายหน้าหายตาไปจากแวดวงการเมืองอินโดนีเซีย จนกระทั่งในปี 1971 โกลคาร์ถูกดึงเข้ามาทำหน้าที่สนับสนุนยุคระเบียบใหม่ของซูฮาร์โตและมีบทบาทในการเมืองอินโดนีเซียนับแต่นั้นมา
เนื่องจากซูฮาร์โตต้องการรักษาอำนาจตัวเองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีจากสภาประชาชนและเพื่อควบคุมสภานิติบัญญัติ ทำให้เขาจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองคอยค้ำจุนอำนาจไว้ แต่เพราะจากปูมหลังเป็นนายทหารในกองทัพ ซูฮาร์โตแทบไม่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองใดๆ นัก เขาจึงได้ให้เพื่อนสนิทคนหนึ่งคืออาลี มูร์โตโบ (Ali Murtobo) เข้าไปเปลี่ยนแปลงโกลคาร์ เพื่อให้พรรคการเมืองที่เป็นกลไกการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ ดังนั้น ภายใต้ยุคระเบียบใหม่ของซูฮาร์โต จากที่เคยเป็นเพียงองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รวมตัวขึ้นจากองค์กรต่างๆ ร่วมสองร้อยกว่าองค์กร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการและทหาร โกลคาร์ก็ได้รับการฟื้นฟูให้กลายเป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ โดยพยายามแสดงบทบาทการเมืองที่ไม่ยืนบนอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง แต่มีเป้าหมายคือการพัฒนาและความมั่นคง จากนั้นค่อยๆ แสดงตนเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล โดยกระตุ้นให้ข้าราชการทุกภาคส่วนสนับสนุนโกลคาร์ อันแสดงว่าภักดีต่อรัฐบาล
อย่างไรก็ดี กว่าครึ่งศตวรรษ โกลคาร์มีบทบาทในฐานะพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งตามวาระ ทั้งสนับสนุนซูฮาร์โตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุกๆ ห้าปี รวมทั้งเข้าไปอยู่ในสภานิติบัญญัติซึ่งโกลคาร์มักได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นเสมอ เนื่องจากความได้เปรียบหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากกองทัพ กฎหมายการเลือกตั้งที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคการเมืองคู่แข่ง หรืออนุญาตให้มีพรรคการเมืองอื่นลงเลือกตั้งเพียงสองพรรค ตลอดจนมีการจัดตั้งกลุ่มอันธพาลออกไปบังคับประชาชนเลือกโกลคาร์และก่อกวนพรรคการเมืองอื่น ตั้งแต่ลงเลือกตั้งหนแรกในปี 1971 โกลคาร์กวาดชัยชนะท่วมท้นในสภานิติบัญญัติ และสนับสนุนซูฮาร์โตเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองเมื่อปี 1973 ดังนั้น โกลคาร์จึงกลายเป็นฐานอำนาจอันสมบูรณ์แบบให้แก่ซูฮาร์โต ทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นรัฐที่ปกครองด้วยพรรคการเมืองพรรคเดียว และการผ่านกฎหมายฉบับต่างๆ นั้นสามารถทำได้อย่างง่ายได้ ปราศจากฝ่ายค้านที่มีอำนาจมากพอมาค้ำยัน แม้ว่าโกลคาร์เป็นเพียงกลไกการเลือกตั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ยุคระเบียบใหม่ของซูฮาร์โต แต่ก็นับว่าเป็นฐานการเมืองสำคัญแก่ซูฮาร์โตและกองทัพ
ตลอดยุคระเบียบใหม่โกลคาร์อยู่ภายใต้การครอบงำโดยกองทัพมาตลอด ประธานพรรคคนแล้วคนเล่าล้วนแต่เป็นนายทหารระดับสูงจากกองทัพ แต่ในช่วงท้ายๆ ของยุคระเบียบใหม่ ฮาร์โมโก (1993-1998) กลายเป็นพลเรือนคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานพรรค หลังจากซูฮาร์โตลงจากอำนาจในปี 1998 โกลคาร์พยายามปฏิรูปและปรับตัวให้เข้ากับบรรยากาศทางการเมืองแบบใหม่อย่างรวดเร็ว ในปีเดียวกันนั้น โกลคาร์ได้จัดประชุมประจำปีเพื่อเลือกตั้งประธานพรรค ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ตำแหน่งประธานพรรคมาจากการเลือกตั้ง โดยได้อัคบาร์ ตันจูง (Akbar Tanjung) เข้ามาเป็นประธาน ซึ่งเอาชนะนายทหารจากกองทัพได้ อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งสภานิติบัญญัติอย่างเป็นประชาธิปไตยครั้งแรกในปี 1999 โกลคาร์ก็พ่ายแพ้เป็นครั้งแรกให้แก่พรรคของเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี บุตรสาวของอดีตประธานาธิบดีซูการ์โด หลังจากนั้นมา โกลคาร์ไม่เคยเป็นพรรคที่ผูกขาดเก้าอี้ส่วนใหญ่ในสภานิติบัญญัติดังเช่นในยุคซูฮาร์โตอีกเลย แต่ก็มีบทบาทในรัฐบาลหลายสมัยจวบจนปัจจุบัน โดยเฉพาะยูซุฟ กัลลา (Yusuf Kalla) อดีตประธานพรรคซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีอินโดนีเซียมาถึงสองสมัย ในปัจจุบันนั้นตำแหน่งประธานพรรคของโกลคาร์คือเซทะยา โนวันโต (Setya Novanto)
สำหรับโกลคาร์นั้น แม้ถูกมองว่าเป็นเพียงองค์กรการเมืองที่เป็นกลไกการเลือกตั้งของระบบเผด็จทหาร เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การปกครอง แต่ก็เป็นมรดกทางการเมืองที่เป็นแบบอย่างแก่พรรคการเมืองในยุคหลังๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงสร้างทางการเมืองที่เป็นระบบและสามารถปฏิรูปพรรคได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ดูเหมือนโกลคาร์พยายามลดอิทธิพลกองทัพที่เป็นฐานสนับสนุนพรรคในอดีต โดยปรับเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งประธานพรรคและมีพลเรือนก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนี้เสมอมา หากเปรียบเทียบกับพรรคการเมืองไทยแล้ว คงมีแต่พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่มีความคล้ายคลึงกันในหลายแง่มุม เช่น ความยาวนานของพรรคและนโยบายอนุรักษ์นิยม การมีประวัติการก่อตั้งพรรคเพื่อคานอำนาจกับฝ่ายก้าวหน้าของปรีดี พนมยงค์ และการได้รับประโยชน์ทางการเมืองหลายสมัยจากรัฐประหารโดยกองทัพ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดก็คือหลังจากอวสานระบบเผด็จการซูฮาร์โต โกลคาร์ไม่ได้แสดงท่าทีหวนกลับไปสนับสนุนระบบเผด็จการ แต่ลงเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยตลอดมา
บัญชา ราชมณี
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Nishihara, Masashi (1972). Golkar and the Indonesian elections of 1971. Ithaca, N.Y: Modern Indonesia Project, Cornell University.
Mubahara, Ayako. (2015). The End of Personal Rule in Indonesia: Golkar and the Transformation of the Suharto Regime. Kyoto: Kyoto University Press.
Vickers, Adrian (2005). A Modern History of Indonesia. UK: Cambridge University Press.