ซูการ์โน (Sukarno) วีรบุรุษและประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย เขาเป็นผู้นำชาตินิยมอันโดดเด่นในช่วงนำอินโดนีเซียต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคมดัตช์ และได้ชื่อว่าเป็นผู้มีวาทศิลป์อันเอกอุ โดยสามารถพูดจาโน้มน้าวคนอื่นๆ ให้เชื่อตามและปลุกระดมเคลื่อนไหวประชาชนให้ออกมาต่อสู้กับดัตช์ได้
ซูการ์โน หรือนามเดิมคือกัสโน (Kasno) เกิดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ปี 1901 ที่เมืองสุราบายา สมัยอินโดนีเซียยังเป็นอาณานิคมของดัตช์หรือเนเธอแลนด์ เขาเป็นบุตรชายของครูโรงเรียนประถมและมีมารดาซึ่งมีเชื้อสายชนชั้นสูงชวา ซูการ์โนจบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเมืองบันดุงเมื่อปี 1925 ทว่าเขากลับไม่เคยทำงานตามสาขาวิชาชีพที่จบมาเลย หากแต่ความสนใจของซูการ์โนนั้นอยู่ที่การเมือง ทั้งนี้ เนื่องจากเขาเติบโตมาท่ามกลางบรรยากาศกระแสชาตินิยม ซึ่งเริ่มก่อตัวขึ้นโดยบรรดานักชาตินิยมอินโดนีเซียในช่วงแรกๆ โดยในปี 1927 ซูการ์โนก็ก้าวขึ้นมามีบทบาทโดดเด่นในการก่อตั้งองค์กรชาตินิยมที่ถืออุดมการณ์แยกศาสนาจากการเมือง หรือพรรคชาตินิยมอินโดนีเซีย เพื่อผลักดักและเรียกร้องเอกราชจากดัตช์อย่างไม่มีเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม ผลของการเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้ซูการ์โนถูกดัตช์จองจำในคุกถึงสองครั้ง คือในปี 1927 และอีกครั้งในปี 1934 เพื่อป้องกันมิให้เขาปลุกเร้ากระแสชาตินิยมในหมู่มวลชนชาวพื้นเมืองอินโดนีเซีย
ในปี 1942 ซูการ์โนถูกดัตช์เนรเทศไปยังทางตอนใต้ของเกาะสุมาตรา แต่ถูกปล่อยตัวออกมาหลังจากญี่ปุ่นบุกยึดอินโดนีเซียและขับไล่กองทัพดัตช์ออกไปได้สำเร็จ ช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครองอินโดนีเซียนั้น ซูการ์โนและคนร่วมกระบวนการชาตินิยมให้ร่วมมือกับญี่ปุ่นในการต่อต้านดัตช์ โดยแลกเปลี่ยนกับการที่ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือในการขยายกระแสชาตินิยมทั่วหมู่เกาะอินโดนีเซีย เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ซูการ์โนและมูฮัมหมัด ฮัตตา (Muhammad Hatta) ก็ประกาศเอกราชในวันที่ 17 สิงหาคม ปี 1945 โดย ซูการ์โนได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีคนแรกแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia) แม้ว่าดัตช์และกองกำลังพันธมิตรส่งทหารเพื่อเข้ามาปลดอาวุธกองทัพญี่ปุ่นและยึดอินโดนีเซียอีกครั้ง แต่กระนั้น ซูการ์โนก็สามารถนำชาวอินโดนีเซียหลากชาติพันธ์รวมกันเป็นหนึ่ง จับอาวุธขึ้นต่อต้านความพยายามดังกล่าวอย่างหนักหน่วง รวมทั้งใช้วิธีทางการทูตเพื่อเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตร จนในที่สุดดัตช์ต้องยอมถอนกำลังออกไป และรับรองเอกราชของอินโดนีเซียตามมติของสหประชาชาติที่หนุนหลังโดยสหรัฐอเมริกาในเดือนธันวาคม ปี 1949
อย่างไรก็ตาม หลังเสร็จสิ้นสงครามปลดปล่อยเอกราช สถานการณ์การเมืองแบบรัฐสภาของอินโดนีเซียวุ่นวายและไม่มั่นคงอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ในปี 1959 ซูการ์โนจึงประกาศใช้ระบอบการปกครองแบบเบ็ดเสร็จที่เรียกประชาธิปไตยแบบชี้นำ (Guided Democracy) ขึ้นมา โดยรวบอำนาจไว้ที่ประธานาธิบดีและยกเลิกรัฐสภา แต่แนวโน้มทางการเมืองของซูการ์โนค่อยๆ เอียงไปทางฝ่ายซ้ายหรือโลกคอมมิวนิสต์ที่ขยายอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้กลุ่มการเมืองต่างๆ ในอินโดนีเซียไม่พอใจท่าทีดังกล่าวของเขาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกองทัพแห่งชาติอินโดนีเซีย ซึ่งเริ่มมีบทบาทขึ้นมาทัดทานอำนาจกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI) ที่ถูกมองว่ามีอิทธิพลต่อการบริหารประเทศของซูการ์โน นอกจากนี้ การที่ซูการ์โนดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างแข็งกร้าวต่อประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝ่ายโลกเสรีที่เขาเรียกว่าพวกจักรวรรดินิยม โดยหันไปร่วมมือและขอความช่วยเหลือจากประเทศมหาอำนาจฝั่งคอมมิวนิสต์อย่างโซเวียตและจีน ก็ยิ่งกระพือความไม่พอใจและความตึงเครียดทางการเมืองในอินโดนีเซียอย่างมาก
แม้ซูการ์โนพยายามวางตัวเป็นกลางท่ามกลางกลุ่มการเมืองต่างๆ แต่ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง กระทั่งบทบาทของเขาสิ้นสุดลงเมื่อกองทัพก่อรัฐประหารและปลดเขาลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1965 หลังจากรัฐประหารอันล้มเหลวหรือที่เรียกว่าเกสตาปู (Gestapu) ในเดือนตุลาคม ปี 1965 ซึ่งมีการถกเถียงหลายกระแสว่าเป็นฝีมือของซูการ์โนที่ต้องการขจัดนายพลผู้ไม่จงรัก โดยร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเพื่อรวบอำนาจอีกครั้ง หรืออาจเป็นแผนการของกองทัพอินโดนีเซียเอง ที่ต้องการทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของซูการ์โนและพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ได้สร้างผลกระทบทางการเมืองอย่างใหญ่หลวงต่ออินโดนีเซีย พร้อมกับทิ้งรอยด่างพร้อยทางประวัติศาสตร์แก่ซูการ์โนและพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียอย่างมาก และนำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งรุนแรงสุดในประวัติศาสตร์อินโดนีเซียสมัยใหม่ เมื่อนายพลซูฮาร์โตยึดอำนาจซูการ์โนได้สำเร็จและได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่สอง ซูการ์โนก็ถูกกันออกไปจากแวดวงการเมืองของอินโดนีเซีย ปิดฉากชีวิตอันยิ่งใหญ่ของวีรบุรุษผู้กอบกู้เอกราชอย่างถาวร เขาใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ เยี่ยงคนธรรมดาสามัญจนกระทั่งเสียชีวิต โดยไร้พิธีเฉลิมฉลองไว้อาลัยใดๆ เลยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ปี 1970 ที่เมืองบอกอร์
สำหรับประวัติศาสตร์การเมืองอินโดนีเซียสมัยใหม่แล้ว คงไม่มีใครยิ่งใหญ่เกินกว่าซูการ์โน ผู้เป็นบิดาแห่งการปฏิวัติและประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย ถึงแม้เขาจะถูกวิจารณ์ว่าเพ้อฝันและล้มเหลวในการนำพาชาติเกิดใหม่นี้ไปสู่ความรุ่งเรือง แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ คือซูการ์โนเป็นผู้นำเอเชียยุคสมัยใหม่เพียงคนเดียวที่สามารถรวมผู้คนต่างชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ศาสนาและปูมหลังให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ บางทีเราอาจกล่าวได้ว่า ในทำเนียบผู้นำยุคสมัยใหม่ที่ยิ่งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ซูการ์โนคือหนึ่งในผู้นำลำดับต้นๆ ยืนตระหง่านเคียงคู่กับอดีตผู้นำประเทศในภูมิภาคนี้อย่างโฮจิมินห์ ไกสอน พรมวิหาน ปรีดีย์ พนมยงค์ หรือนายพลออง ซาน
บัญชา ราชมณี
กรกฎาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Hughes, J. ( 2003). The End of Sukarno: A Coup that Misfired: a Purge that Ran Wild. Singapore: Archipelago Press.
Mortimer, R. (2006). Indonesian Communism Under Sukarno: Ideology and Politics, 1959-1965. Singapore Equinox Publishing.
Weinstein, F. B. (2007). Indonesian Foreign Policy and the Dilemma of Dependence: From Sukarno to Soeharto. Singapore: Equinox Publishing.