ซูฮาร์โต (Suharto) เป็นประธานาธิบดีคนที่สองของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เขาก้าวขึ้นสู่อำนาจโดยการรัฐประหารโค่นล้มประธานาธิบดีซูการ์โน นับแต่นั้นมา ซูฮาร์โตปกครองประเทศอินโดนีเซียอย่างเผด็จการและเป็นประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดมากกว่า 30 ปี จนกระทั่งลงจากตำแหน่งเมื่อปี 1998
ซูฮาร์โตเกิดที่เมืองยอร์กยาการ์ตา จังหวัดชวากลาง สมัยที่อินโดนีเซียยังเป็นอาณานิคมของดัตช์ เนื่องจากบิดามารดาหย่ากันหลังจากที่เขาลืมตาดูโลกเพียงไม่กี่ปี ในช่วงวัยเด็กซูฮาร์โตจึงมีชีวิตค่อนข้างยากลำบาก โดยใช้ชีวิตไปๆมาๆ ส่วนใหญ่กับญาติๆ สลับกับบิดาและมารดาช่วงสั้นๆ เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดครองอินโดนีเซียและขับไล่เจ้าอาณานิคมดัตช์ออกไป ซูฮาร์โตได้สมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพแห่งชาติอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยกองทัพญี่ปุ่น แต่เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามอย่างไร้เงื่อนไข เขาก็เข้าร่วมกองทัพปฏิวัติ ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวอินโดนีเซียเพื่อต้อต้านดัตช์และสัมพันธมิตร ซึ่งพยายามเข้ามายึดครองอินโดนีเซียอีกครั้งหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยความสามารถในการรบอย่างยอดเยี่ยมเป็นที่ชื่นชมในกองทัพ ส่งผลให้เขาได้รับเลื่อนขั้นเป็นนายพลตรีหลังจากดัตช์ยอมถอนทหารออกไป ในขณะเดียวกันอินโดนีเซียก็ได้รับการรับรองเอกราชอย่างสมบูรณ์
หลังเหตุการณ์เกสตาปู (Gestapu) เดือนตุลาคม ปี 1965 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารนายพลระดับสูงในกองทัพและมีความพยายามก่อรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จ ในวันที่ 30 กันยายน ปี 1965 กองทัพที่นำโดยนายพลซูฮาร์โตก็ก่อรัฐประหารยึดอำนาจประธานาธิบดีซูการ์โน รัฐบาลภายใต้การนำของเขาก็เริ่มกวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียและผู้ถูกกล่าวหาอย่างนองเลือด นำไปสู่การสังหารหมู่และมีคนหายสาบสูญราว 500,000-3,000,000 คน นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่สุดในศตวรรษที่ 20 ของอินโดนีเซีย หลังจากกำจัดเสี้ยนหนามทางการเมืองอย่างราบคาบ ซูฮาร์โตได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีอินโดนีเซียในปี 1967 จากการสนับสนุนของสภาประชาชนที่ควบคุมโดยกองทัพ โดยปลดซูการ์โนออกจากตำแหน่งพร้อมกับสั่งกักบริเวณ ซูฮาร์โตประกาศว่าอินโดนีเซียเข้าสู่ยุคระเบียบใหม่ (Order Baru) แทนที่ยุคระเบียบเก่าของซูการ์โน โดยปกครองอินโดนีเซียอย่างเข็มงวดและปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง ทำให้อินโดนีเซียจึงตกอยู่ใต้อำนาจเผด็จการทหารนับแต่นั้นมา
แม้ว่ามีการการเลือกตั้งทุกๆ 4 ปี แต่พรรคโกลคาร์ (Golkar) ซึ่งสนับสนุนซูฮาร์โตและได้รับการหนุนหลังจากกองทัพก็กวาดชัยชนะทุกครั้ง ซูฮาร์โตจึงอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีเรื่อยมา เขายกเลิกนโยบายต่อต้านตะวันตก โดยเปิดรับการลงทุนจากตะวันตกจากโลกเสรีและต่อต้านคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ ซูฮาร์โตได้นำหลักปัญจศีลมาประกาศใช้อย่างจริงจังทุกระดับ กลายเป็นเครือมือสร้างความชอบธรรมและกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นทศวรรษ 1990 ฐานะของซูฮาร์โตเริ่มไม่มั่นคง เพราะกองทัพซึ่งเป็นฐานสนับสนุนหลักของซูฮาร์โต เริ่มไม่พอใจในการบริหารประเทศของเขา รวมทั้งประชาชนที่ผิดหวังจากความล้มเหลวในการแก้ปัญหาที่สะสมมานาน เช่น ความยากจน การละเมิดสิทธิมนุษยชนช การเล่นพรรคเล่นพวก การผูกขาดด้านเศรษฐกิจและการแบ่งแยกกินแดน เป็นต้น ทำให้ซูฮาร์โตมองหาพันธมิตรใหม่อย่างกลุ่มอิสลาม ที่ถูกห้ามแสดงออกทางการเมืองมาตลอดนับตั้งแต่เขาขึ้นสู่อำนาจ โดยก่อตั้งองค์กรปัญญาชนมุสลิมอินโดนีเซีย ผ่อนคลายการห้ามแสดงออกทางศาสนา และหนุนหลังกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงอย่างลับๆ ตลอดจนนำครอบครัวไปแสวงบุญที่เมกกะ
การปกครองอย่างกดขี่ ปราบปรามผู้เห็นต่างๆ อย่างรุนแรง และไร้ความสามารถในการแก้ปัญหาต่างๆ ภายในประเทศ บ่มเพาะความไม่พอใจของประชาชนอย่างมาก นอกจากนี้ การเติบโตขึ้นมาของชนชั้นกลางก็เริ่มสั่นคลอนบัลลังก์แห่งอำนาจของซูฮาร์โต เมื่อบรรดาชนชั้นกลางเริ่มมองไม่เห็นอนาคตอันสดใสภายใต้ยุคระเบียบใหม่ เหตุนี้ตลอดช่วงทศวรรษ 1990 มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยโดยกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะขบวนการนักศึกษาที่มีบทบาทอย่างโดดเด่น กระทั่งเมื่อเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1997 ลุกลามทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อให้เกิดปัญหาข้าวยากหมากแพงอย่างหนัก แต่รัฐบาลซูฮาร์โตล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤติดังกล่าว โดยเบี่ยงเบนความล้มเหลวไปยังชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ทำให้เกิดจลาจลทางเชื้อชาติขึ้นหลายแห่งในประเทศ ในขณะเดียวกันขบวนการนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวก็ออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้มีการปฏิรูป ทว่ารัฐบาลเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงจนมีนักเคลื่อนไหวหลายคนถูกทหารยิงเสียชีวิต กลายเป็นชนวนเหตุให้มีการเดินขบวนประท้วงทั่วประเทศ ในที่สุด ซูฮาร์โตก็ประกาศลงจากตำแหน่ง ปิดฉากยุคเผด็จการอันยาวนานกว่า 30 ปี
หลังจากซูฮาร์โตลงจากอำนาจ หลายฝ่ายคาดหวังอนาคตอันรุ่งเรืองของอินโดนีเซียยุคปฏิรูปที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ กองทัพอินโดนีเซียซึ่งมีบทบาททางการเมืองของอินโดนีเซียมาอย่างยาวนาน ค่อยๆ กลับเข้ากรมกองถอยห่างจากเวทีการเมือง กฎหมายหรือข้อบังคับอันเข้มงวดต่างๆ สมัยยุคระเบียบใหม่ถูกยกเลิกไปสิ้น นับแต่นั้นมา กลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ถูกซูฮาร์โตกดทับไว้ ทยอยออกมาโลกเล่นบนเวทีการเมือง โดยผ่านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี การปฏิรูปก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป ตราบใดที่มรดกยุคเผด็จการยังคงหลงเหลืออยู่ แต่ก็เป็นบททดสอบสำหรับประชาชนอินโดนีเซียในการสถาปนาระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สำหรับประเทศไทยนั้น แม้ว่ามีปัจจัยทางการเมืองแตกต่างกันหลายประการ แต่ก็คล้ายคลึงกันในแง่ที่กองทัพออกมามีบทบาททางการเมือง ซึ่งบั่นทอนความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยอย่างมาก จนปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีความหวังสำหรับการปกครองโดยประชาชนอย่างแท้จริง ในแง่นี้ อินโดนีเซียจึงกลายเป็นชาติประชาธิปไตยที่อาจเป็นเรียนในการเรียนรู้และนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยสักวันหนึ่งข้างหน้า
บัญชา ราชมณี
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Anderson, B. R. O. G. (Ed.). (2001). Violence and the State in Suharto's Indonesia. New York: Cornell University.
Elson, R. E. (2008). Suharto: A Political Biography. Cambridge: Cambridge University Press.
Jenkins, D. (2010). Suharto and His Generals: Indonesian Military Politics, 1975-1983. Singapore: Equinox Publishing.