นอกจากเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากกว่า 200 ล้านคนแล้ว อินโดนีเซียยังมีองค์อิสลามหลากหลายกลุ่มอีกด้วย หนึ่งในองค์กรอิสลามที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในอินโดนีเซียนั้น ก็คือนาฮ์ดาตุล อูลามะ (Nahdlatul Ulama) องค์กรอิสลามแบบจารีตนิกายซุนหนี่ ที่มีจำนวนสมาชิกและขนาดใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย
นาฮ์ดาตุล อูลามะ หรือในชื่อย่อ NU หมายถึงนักปราชญ์ศาสนา ก่อตั้งโดยฮัสซีม อัสจารี (Haszim Asjari) เมื่อเดือนมกราคม ปี 1927 ที่เมืองสุราบายา สมัยที่อินโดนีเซียยังตกเป็นอาณานิคมของดัตช์ องค์กรนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบโต้การเคลื่อนไหวและการขยายตัวของมูฮัมมาดียะห์ (Muhammadiyah) องค์กรอิสลามสายปฏิรูปหรือสมัยใหม่ สำหรับแนวทางอิสลามของนาฮ์ดาตุล อูลามะนั้น ดำเนินตามองค์กรอิสลามทางสายกลางระหว่างอิสลามแบบเคร่งครัดการใช้เหตุผลและอิสลามแบบเคร่งครัดในตัวบทพระคัมภีร์ นาฮ์ดาตุล อูลามะไม่เห็นด้วยต่อการตีความอิสลามของมูฮัมมาดียะห์ ที่ปฏิเสธจารีตวัฒนธรรมชวาก่อนรับอิสลาม โดยปรับให้ศาสนาอิสลามไปด้วยกันได้กับจารีตประเพณีของชาวชวา นอกจากนี้ นาฮ์ดาตุล อูลามะยังเป็นองค์กรการกุศล ซึ่งให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการรักษาพยาบาล สร้างโรงเรียน และมอบทุนการศึกษาแก่คนทั่วไป ตลอดจนก่อตั้งสถานศึกษาอิสลามทั่วอินโดนีเซียอีกด้วย
ในช่วงการยึดครองของญี่ปุ่น (1943-1945) นาฮ์ดาตุล อูลามะถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสภาที่ปรึกษามุสลิมแห่งอินโดนีเซีย หรือมัสยูมี (Masyumi) ที่จัดตั้งขึ้นโดยญี่ปุ่นเมื่อปี 1943 ทั้งนี้ ก็เพื่อควบคุมและรวมองค์กรอิสลามต่างๆ ในอินโดนีเซียให้เป็นหนึ่งเดียว ต่อมา องค์กรนี้กลายเป็นพรรคการเมืองอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในปี 1945 โดยกวาดที่นั่งในรัฐสภาถึง 57 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม นาฮ์ดาตุล อูลามะแยกตัวออกจากมัสยูมีเมื่อปี 1952 ซึ่งถูกซูการ์โนสั่งยุบในปี 1958 เพราะให้การสนับสนุนกบฏรัฐบาลปฏิวัติแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (PRPI) ที่จับอาวุธขึ้นต่อต้านรัฐบาลกลาง ช่วงที่ซูการ์โนอยู่ในอำนาจ นาฮ์ดาตุล อูลามะยืนหยัดเคียงข้างเขาเสมอมา แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางความแปลกแยกทางการเมือง เพราะบทบาทพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียในรัฐบาลซูการ์โน แต่ท้ายที่สุดนาฮ์ดาดุล อูลามะก็เปลี่ยนข้างไปอยู่ฝ่ายซูฮาร์โตที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากซูการ์โนได้สำเร็จ เมื่อซูฮาร์โตประกาศกำจัดพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย สมาชิกบางส่วนของ นาฮ์ดาตุล อูลามะได้ร่วมมือกับกองทัพออกกวาดล้างสมาชิกและผู้ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียอย่างนองเลือด
ปี 1971 นาฮ์ดาตุล อูลามะสนับสนุนการระบบรัฐสภาที่มีการเลือกตั้ง โดยร่วมกับองค์กรอิสลามอื่นๆ จัดตั้งพรรคสหพัฒนาการ (United development party) แต่ก็ได้รับอนุญาตให้มีบทบาทแค่เข้าร่วมการเลือกตั้งพอเป็นพิธีในทุกๆ ห้าปี อย่างไรก็ดี เมื่อปี 1984 นาฮ์ดาตุล อูลามะถอนตัวออกพรรคการเมืองดังกล่าว หลังจากซูฮาร์โตออกกฎหมายให้ทุกกลุ่มองค์กรในอินโดนีเซียต้องน้อมรับรับอุดมการณ์หลักของรัฐอย่างปัญจศีล (Panjasila) นาฮ์ดาตุล อูลามะผันตัวเองด้วยการอุทิศตนในเรื่องการศึกษาและสังคมสงเคราะห์ ในช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อซูฮาร์โตรู้สึกว่าเขาเริ่มสูญเสียแรงสนับสนุนจากกองทัพ ทำให้เขามองหาพันธมิตรใหม่อย่างกลุ่มอิสลามเพื่อคานอำนาจกับกองทัพ อย่างไรก็ตาม นาฮ์ดาตุล อูลามะไม่ได้เข้าร่วมอยู่ในกระบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าว อับดูร์เราะห์มาน วาฮิด (Abdurrahman Wahid) หลานชายของฮัสซีม อัสจารี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานนาฮ์ดาตุล อูลามะในขณะนั้น ก่อตั้ง Forum Demokrasi ขึ้น เพื่อตอบโต้การเคลื่อนไหวชุมชนอิสลามของซูฮาร์โต และพยายามเปลี่ยนทิศทางนาฮ์ดาตุล อูลามะ ให้มีความขันติธรรมทางศาสนาและแบ่งแยกศาสนาออกจาการเมือง
นาฮ์ดาตุล อูลามะถือได้ว่าเป็นองค์กรอิสลามขนาดใหญ่ที่สุดทั้งในอินโดนีเซียและในระดับโลก โดยมีสมาชิกมากกว่า 40 ล้านคน แม้ว่าฐานสำคัญอยู่ที่ชวาตะวันออกหรือเฉพาะแต่ในเกาะชวา แต่ก็มีความพยายามขยายอิทธิพลไปทั่วประเทศ มีการนำภาษาชวามาใช้ในการสวดและสอนอิสลามในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามอีกด้วย เพื่อให้ความรู้อิสลามสามารถเข้าถึงมุสลิมโดยทั่วไปได้ แม้นาฮ์ดาตุล อูลามะมีความขัดแย้งในการตีความศาสนากับมูฮัมมาดียะห์ แต่ทั้งสององค์กรนี้รวมไปถึงองค์กรมุสลิมกลุ่มอื่นๆ ก็ร่วมมือกันก่อตั้งสภาอูลามะ เพื่อทำหน้าที่ตีความพระบัญญัติในอัล-กุรอ่าน และให้ความรู้ศาสนาแก่มุสลิมในประเทศ ในปัจจุบัน นาฮ์ดาตุล อูลามะยังคงเผยแพร่แนวคิดอิสลามตามแนวทางของตนเอง ผ่านสาขาโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่องค์กรได้ก่อตั้งขึ้น พร้อมกับรับสมาชิกใหม่ๆ เข้าองค์กร ในขณะเดียวกัน ก็ดำเนินกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ด้วยการสนับสนุนการศึกษา สถานพยาบาล และกิจกรรมทางการเมืองอีกด้วย
สำหรับนาฮ์ดาตุล อูลามะนั้น ไม่ได้เผยแพร่อิทธิพลออกไปยังนอกประเทศมากนัก แต่ในช่วงที่ดัตช์ยังปกครองอาณานิคม มีการปราบปรามขบวนการอิสลามที่มีแนวคิดเคลื่อนไหวต่อต้านดัตช์อยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้สมาชิกบางส่วนจำเป็นต้องลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศไทย ที่พบว่ามีสมาชิกบางคนของนาฮ์ดาตุล อูลามะ ซึ่งเป็นผู้รู้ศาสนาเคยเข้ามาพำนักและเผยแพร่ศาสนาอิสลามในชุมชนอิสลามที่ตนอาศัย ตลอดจนก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามขึ้น ดังเช่นในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ผู้รู้ศาสนาสมาชิกนาฮ์ดาตุล อูลามะจากอินโดนีเซียได้เข้ามาสร้างโรงเรียนและสอนศาสนาอิสลาม กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในชุมชนมุสลิมและมีคุณูปการสำคัญในการเผยแพร่ศาสนาที่ถูกต้องแก่ชาวมุสลิมในท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ยังขาดความรู้อันเที่ยงตรงเกี่ยวกับศาสนา กล่าวได้ว่า โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามและชุมชนมุสลิมบางแห่งในภาคใต้สืบทอดความคิดอิสลามตามแบบนาฮ์ดาตุล อูลามะ
บัญชา ราชมณี
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Bush, R. (2009). Nahdlatul Ulama and the struggle for power within Islam and politics in Indonesia. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies.
Bruinessen, M. V. (Ed.). (2013). Contemporary Developments in Indonesian Islam: Explaining the Conservative Turn. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies.
Hooker, M. B. (2008). Indonesian Syariah: Defining a National School of Islamic Law. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies.