ฮัมกา (Hamka) ได้ชื่อว่าเป็นทั้งนักการศาสนา นักการเมือง และนักประพันธ์ ที่มีชื่อเสียงทั้งในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง กระทั่งได้รับการสถาปนาเป็นวีรบุรุษแห่งชาติอินโดนีเซียในปี 2011
ฮัมกา มีชื่อจริงว่า ฮัจญี อับดุล มาลิก การิม อัมรุลเลาะห์ (Haji Abdul Malik Karim Amrullah) เกิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 1908 ในหมู่บ้านโมเล็ก มานินเจา สุมาตราตะวันตก ฮัมกาจบการศึกษาสายสามัญในระดับชั้นประถมศึกษาปี 2 เมื่ออายุได้ 10 ปี ฮัมกาเลือกที่จะศึกษาความรู้ทางศาสนาเขาจึงเข้าเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาของพ่อ ในช่วงเวลาที่ศึกษาความรู้ทางศาสนานั้น ฮัมกามีความมุ่งมั่นอย่างมากในการเรียนศาสนาอิสลามและภาษาอาหรับ นอกเหนือจากการเรียนในโรงเรียนแล้วเขามักจะไปหาความรู้เพิ่มเติมจากครูสอนศาสนาที่มีชื่อเสียงของสุมาตรา เช่น เชค อะหมัด ราชิด ( Syeikh Ahmad Rasyid ) ในปี 1924 ฮัมกาได้เดินทางไปยังเกาะชวาซึ่งที่นั่นเขาได้รับความรู้จากผู้นำองค์กรอิสลามที่มีชื่อเสียง ในปีถัดมาหลังจากสะสมความรู้ด้านศาสนา ฮัมกาเริ่มทำงานด้านศาสนาอย่างจริงจังด้วยการเป็นครูสอนศาสนาที่เมืองเมดาน ต่อมาเขาได้ก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนาของตนเองขึ้นซึ่งมีทั้งการวามรู้แขนงอื่นๆ เช่น ปรัชญา ประวัติศาสตร์ วรรณคดีและรัฐศาสตร์
ฮัมกานอกจากเดินตามเส้นทางศาสนาแล้วนั้น เขายังมีบทบาทในวงการสื่อด้วยการเป็นนักหนังสื่อพิมพ์ นักเขียน ฮัมกายังเคยดำรงตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสาร เกอมา อิสลาม ในปี 1928-1932 โดยก่อนหน้านี้เขาได้หันเข้าสู่วงการการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกพรรคซาเรกัต อิสลาม ในปี 1925 ช่วงเวลาใกล้ๆ กันนั้น ฮัมกาได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรมูฮัมหมัดดิยะห์ ฮัมกาเป็นผู้นำมูฮัมหมัดดิยะห์ที่เมืองปาดังอยู่ประมาณ 1 ปี ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นที่ปรึกษาให้กับมูฮัมหมัดดิยะห์ ในยุคปฏิวัติฮัมกาได้เข้าร่วมต่อสู้กับอาณานิคมดัทช์ผ่านสุนทรพจน์และงานเขียนของเขาเองและในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ฮัมกาก็เริ่มตีพิมพ์งานเขียนชิ้นแรกของตนเองภายใต้ชื่อ Khathibul Ummah หลังยุคเอกราชฮัมกาได้รับเลือกเป็นประธานสภาของมูฮัมหมัดดิยะห์ ในขณะเดียวกันเขาก็ได้เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาให้กับพรรคมัสยูมี ในปี 1964 หลังอินโดนีเซียประกาศใช้นโยบายเผชิญหน้า (Konfrontasi) กับมาเลเซีย ฮัมกาถูกตั้งข้อหานิยมมาเลเซียเขาถูกจำคุกเป็นเวลา 2 ปี หลังจากออกจากคุกฮัมกาได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภากิจการฮัจญ์อินโดนีเซีย สถาบันวัฒนธรรมแห่งชาติอินโดนีเซีย ฮัมกาผลิตงานทั้งด้านศาสตร์เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม งานเขียนประเภทนิยาย เรื่องสั้น ผลงานด้านศาสนาที่ถือว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญของฮัมกา คือ Tafsir al-Azhar ซึ่งกลายเป็นตำราที่มีอิทธิพลทั้งในมาเลเซียและสิงคโปร์ ฮัมกาเสียชีวิตในปี 1981 แม้ว่าฮัมกาจะเสียชีวิตไปแล้วแต่ผลงานของเขายังคงมีอิทธิพลต่อการส่งเสริมศาสนาอิสลาม ชื่อเสียงของฮัมกานั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่อินโดนีเซียเพียงอย่างเดียว ฮัมกายังกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลด้านศาสนา และในฐานะนักประพันธ์ในมาเลเซียและสิงคโปร์อีกด้วย
อุมาพร พิชัยรักษ์
สิงหาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Muhammadiyah. Biografi pujangga dan ulama besar hamka. (n.d.) Retrieved from http://www.muhammadiyah.or.id/id/artikel-biografi-pujangga-ulama-besar-hamka--detail-21.html
Tokohindonesia. Buya Hamka seorang ulama, politisi dan sastrawan besar . (n.d.) Retrieved from http://www.tokohindonesia.com/biografi/article/285-ensiklopedi/1259-ulama-politisi-dan-sastrawan-besar