อธิปไตยในอาเซียน เป็นหลักการที่ถูกนำมาเป็นแนวทางที่มีลักษณะเฉพาะตัวของอาเซียน ซึ่งมีความแตกต่างจากกลุ่มประเทศอื่นๆของโลก หลักอธิปไตยในอาเซียนมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ที่การปฏิเสธการแทรกแซงอำนาจอธิปไตยของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งอาเซียนยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกมาโดยตลอด
อธิปไตยในอาเซียนจึงเผชิญกับการตั้งคำถามมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายรัฐสมาชิกของอาเซียน ซึ่งแนวทางนี้เองแสดงให้เห็นความแตกต่างกับองค์การระดับภูมิภาค เช่น สหภาพยุโรป ซึ่งมีกฎเกณฑ์สำคัญว่า ทุกประเทศต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ ละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้ ถ้าหากรัฐสมาชิกทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน สหภาพยุโรปมีอำนาจที่เข้าไปแทรกแซงในบางระดับ
ในกรณีของอาเซียน อธิปไตยในอาเซียนเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง รัฐสมาชิกมีความเกรงกลัวเรื่องการแทรกแซงกิจการภายใน โดยเฉพาะในกลุ่มรัฐสมาชิกที่ยังคงมีการปกครองในระบอบเผด็จการ โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1970-1990 รัฐบาลพม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นรัฐสมาชิกของอาเซียนด้วยเหตุผลในเรื่องอธิปไตยอาเซียนเป็นสำคัญ และในอีกหลายประเทศยังต้องเผชิญกับปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมือง เช่น การรัฐประหารในไทย ขณะที่รัฐบาลมาเลเซีย สิงคโปร์ ยังคงมีระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เต็มใบ รัฐบาลฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย แม้จะปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่ก็มีปัญหาในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง โดยภาพรวม อาเซียนมีรัฐสมาชิกที่ยังปกครองภายใต้รัฐบาลเผด็จการและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อาเซียนยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายใน ภายใต้การเคารพอธิปไตยในแต่ละรัฐสมาชิกของอาเซียน
อย่างไรก็ตามอาเซียนได้ถูกกดดันจากนานาประเทศอยู่เรื่อยมา ในการผ่อนคลายหลักอธิปไตยอาเซียน โดยอาเซียนยังตอกย้ำความเชื่อมั่นในประเด็นสิทธิมนุษยชนในทางหลักการ มีการจัดตั้งกลไกด้านสิทธิมนุษยชนขึ้นมาแต่ในทางปฏิบัติอาเซียนยังคงมียึดมั่น ในเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายใน กรณีที่เด่นชัดในเรื่องนี้คือพม่า ที่การกดดันต่อรัฐบาลทหารพม่าจากอาเซียนยังคงเป็นไปอย่างเบาบาง อาเซียนกลับเลือกสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยตามวิถีทางของพม่าเองมากกว่าเดินตามนโยบายตะวันตก
ในปัจจุบันกฎบัตรอาเซียน ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน และเคารพอธิปไตยในอาเซียนเป็นสำคัญ เหตุที่การเปลี่ยนแปลงหลักการดังกล่าวเป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากว่า อาเซียนยึดระบบการตัดสินใจแบบฉันทามติ ที่ทุกประเทศสมาชิกต้องยินยอมพร้อมใจอย่างเป็นเอกฉันท์ในการลงนามข้อตกลงที่สำคัญร่วมกัน แม้ในช่วงเวลาต่อมาจะมีข้อเสนอให้มีกลไกควบคุมตรวจสอบ การละเมิดข้อตกลงอาเซียน การละเมิดกฎบัตร หรือแม้กระทั่งการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ผลสุดท้ายข้อเสนอนี้ก็ถูกปฏิเสธไป
อิทธิพล โคตะมี
กันยายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
ประภัสสร์ เทพชาตรี. 2554. ประชาคมอาเซียน. กรุงเทพฯ: เสมาธรรม
สีดา สอนศรี และคณะ. 2558. อาเซียน: ประเด็นปัญหาและความท้าทาย. มหาสารคาม: วิทยาลัยการเมืองการ ปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม