ธงอาเซียนมีประวัติความเป็นมา ตั้งแต่ก่อนปี 1997 โดยธงอาเซียนที่เคยใช้แต่เดิมก็มีลักษณะใกล้เคียงกับธงอาเซียนในปัจจุบัน ในขณะนั้นอาเซียนมีสมาชิกเพียง 6 รัฐ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นสมาชิกก่อตั้ง และบรูไนที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกในภายหลัง สัญลักษณ์ที่ปรากฏบนผืนธงจึงเป็นรวงข้าวสีเหลืองน้ำตาล 6 รวง มัดรวมกันอยู่บนวงกลมสีเหลืองขอบสีฟ้า มีอักษร ASEAN อยู่ใต้มัดรวงข้าว และมีพื้นหลังของผืนธงเป็นสีขาว ซึ่งรวงข้าวทั้ง 6 รวงหมายถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของสมาชิกทั้ง 6 รัฐ
จนกระทั่งปี 1995 ประเทศเวียดนามได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน และต่อมาในปี 1997 ลาว พม่า และกัมพูชา ต่างก็แสดงเจตนารมณ์ที่จะเข้าเป็นสมาชิก ดังนั้น อาเซียนจึงได้ออกแบบสัญลักษณ์และธงอาเซียนขึ้นใหม่ โดยเพิ่มรวงข้าวเป็น 10 รวง ตามจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าในปีนั้นกัมพูชาจะขอเลื่อนการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเนื่องจากปัญหาภายใน แต่อาเซียนก็ได้ตัดสินใจประกาศใช้ธงอาเซียนใหม่ตามกำหนดที่วางไว้ในเดือนกรกฎาคม 1997
ธงอาเซียนที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1997 จนถึงปัจจุบัน คือสัญลักษณ์แห่งความเป็นเอกภาพ ความเป็นหนึ่งเดียว ของรัฐสมาชิก เป็นการสะท้อนถึงหลักการของอาเซียน ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นความตระหนักรู้ และความเป็นปึกแผ่น ของประชาคมอาเซียน ด้วย ธงอาเซียนเป็นตัวแทนของความมีเสถียรภาพ/ความมั่นคง สันติภาพ และพลวัต ของอาเซียน โดยสีน้ำเงิน แดง ขาว เหลือง ซึ่งเป็นองค์ประกอบของธง ก็มาจากสีหลักจากธงชาติของรัฐสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ แต่ละสีมีความหมายดังนี้
- สีน้ำเงิน แสดงถึงสันติภาพ และความมั่นคง/เสถียรภาพ
- สีแดง แสดงถึงความกล้าหาญ และพลวัต
- สีขาว แสดงถึงความบริสุทธิ์
- สีเหลือง แสดงถึงความรุ่งเรือง
โดยมัดรวงข้าว จำนวน 10 รวง ตรงกลางของผืนธง สื่อความหมายถึงความฝันของกลุ่มผู้ริเริ่มก่อตั้งอาเซียนที่ต้องการให้ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ร่วมกันด้วยมิตรภาพและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเหตุผลในการเลือกใช้รวงข้าวเป็นสัญลักษณ์ก็เนื่องมาจากข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศสมาชิก สะท้อนถึงความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของอาเซียน
ในด้านการประดับหรือใช้ธงอาเซียนนั้น นอกจากการประดับไว้ ณ สำนักเลขาธิการอาเซียน หรือสำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติในประเทศสมาชิกแล้ว รัฐสมาชิกสามารถใช้ธงอาเซียนในภารกิจทางการทูตหรือการกงสุลที่เกี่ยวข้องกับประชาคมอาเซียน โดยประดับเคียงคู่กับธงชาติของประเทศสมาชิกเป็นครั้งคราวได้ แต่ทั้งนี้ การประดับธงอาเซียนร่วมกับธงชาติของสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ จะต้องประดับธงโดยเรียงตามลำดับอักษรภาษาอังกฤษ และปิดท้ายด้วยธงอาเซียนเสมอ ดังนี้
1) บรูไน Brunei Darussalam
2) กัมพูชาKingdom of Cambodia
3) อินโดนีเซียRepublic of Indonesia
4) ลาวLao People’s Democratic Republic
5) มาเลเซีย Malaysia
6) เมียนมาร์ Republic of the Union of Myanmar
7) ฟิลิปปินส์ Republic of the Philippines
8) สิงคโปร์ Republic of Singapore
9) ไทย Kingdom of Thailand
10) เวียดนามSocialist Republic of Vietnam
11) ธงอาเซียน
ตัวอย่างโอกาสที่จะมีการประดับธงอาเซียน เช่น การประดับไว้ ณ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ที่พำนัก และยานพาหนะของเลขาธิการซึ่งใช้ในภารกิจอาเซียน การประดับไว้ ณ สถาบันหรือองค์กรตามโครงสร้างอาเซียนในประเทศสมาชิก การประชุมอาเซียนระดับต่างๆ การเฉลิมฉลองวันอาเซียน (ASEAN Day) 8 สิงหาคม ของทุกปีระหว่างการจัดกิจกรรมในภารกิจอาเซียนซึ่งจัดขึ้นในประเทศสมาชิก การแสดงนิทรรศการ รวมทั้งใช้ในการประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้และเผยแพร่ภารกิจของอาเซียนโดยประเทศที่มิได้เป็นสมาชิกอาเซียน หรือประเทศที่ สาม ก็สามารถประดับธงอาเซียนได้ในขณะจัดกิจกรรมทางการทูตหรือความร่วมกับประชาคมอาเซียน
นอกจากนี้ ยังมีธรรมเนียมการลดธงอาเซียนลงครึ่งเสาเช่นเดียวกับธงประจำชาติ เพื่อเป็นการไว้อาลัยในกรณีที่ประมุขหรือผู้นำรัฐบาลของรัฐสมาชิกถึงแก่กรรม หรือเพื่อแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียจากภัยธรรมชาติ หรือเหตุร้ายต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในรัฐสมาชิกด้วย
ภัสสร ภัทรเภตรา
กรกฎาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
“ASEAN Flag” (http://asean.org/asean/about-asean/asean-flag)