สมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asia : Asa) หรือ “อาสา” กำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1961 โดยตนกู อับดุล เราะห์มัน นายกรัฐมนตรีของมาลายาเดินทางเยือนฟิลิปปินส์เมื่อเดือนมกราคม 1959 ตามคำเชิญของประธานาธิบดีคาร์ลอส การ์เซีย และได้แถลงร่วมกันที่จะยกระดับมาตรฐานการครองชีพ ปรับปรุงสวัสดิภาพและส่งเสริมวัฒนธรรมทั้งสองฝ่าย และเชิญประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เข้าร่วมด้วย โดยข้อเสนอนี้มีเพียงประเทศไทยที่ให้การสนับสนุนและเข้าร่วมการจัดตั้งสมาคมอาสาขึ้น
ทั้งสามประเทศก่อตั้งสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นเพื่อการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม แต่ดำเนินการได้เพียง 2 ปี ก็ต้องหยุดชะงัก เนื่องจากความผกผันทางการเมืองระหว่างมาเลเซียหรือเดิมคือมลายูกับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย จนเมื่อประเทศเหล่านี้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน จึงได้มีการแสวงหาลู่ทางจัดตั้งองค์การความร่วมมือขึ้นใหม่ในภูมิภาค คือ อาเซียน
สมาคมอาสาไม่ต่างจากองค์การสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) ในแง่ของความยั่งยืน เนื่องจากซาราวักและซาบาห์ได้เข้าร่วมกับสหพันธ์มลายาเพื่อจัดตั้งเป็นสหพันธรัฐมาเลเซีย ในปี 1963 ตามข้อเสนอของอังกฤษ ซึ่งได้รับการต่อต้านจากฟิลิปปินส์ที่อ้างมาโดยตลอดว่าซาบาห์เป็นส่วนหนึ่งของตน ดังนั้นแค่เพียงสองปีหลังการก่อตั้ง ก็ได้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างฟิลิปปินส์และมาเลเซียในกรณีซาบาห์ (Sabah) เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่อ้างความเป็นเจ้าของดินแดนซาราวัก โดยอินโดนีเซียได้ดำเนินนโยบายที่เรียกว่า “การเผชิญหน้า” (Konfrontasi) และกลายเป็นการทำสงครามที่ไม่ได้มีเพียงแค่การประกาศ (undeclared war) หรือสงครามกองโจร (guerrilla war) อันเกิดอยู่หลายระลอก จนบางครั้งก่อให้เกิดการนองเลือด ในที่สุดเมื่อประธานาธิบดีซูการ์โนถูกยึดอำนาจโดยซูฮาร์โตในปี 1966 จนส่งผลให้ในปี 1967 การเผชิญหน้าที่ว่าจึงได้ยุติลงเพราะประธานาธิบดีคนใหม่ยกเลิกการดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวกับประเทศเพื่อนบ้าน สมาคมอาสาจึงกลายเป็นเหยื่อของข้อพิพาทด้านดินแดนที่มีอย่างยาวนา
หลังจากเหตุการณ์ความขัดแย้งได้ผ่านพ้นไป ความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์กับมาเลเซียจะกลับคืนเข้าสู่สภาวะปกติในระดับหนึ่ง แต่สมาคมอาสาก็ถูกมองว่าไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างประสิทธิภาพ เนื่องจากการมีสมาชิกเพียงไม่กี่ประเทศในภูมิภาคฯ และถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของสหรัฐอเมริกาในการต่อต้านการแผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคในท้ายที่สุด สมาคมอาสาก็ได้ยุติบทบาทลงในปี 1967 หลังการก่อตั้งอาเซียน
ทิวาพร จันทร์แก้ว
สิงหาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
ณรงค์ โพธิ์พฤกษานันท์. อาเซียนศึกษา. กรุงเทพฯ: แมคกรอ-ฮิล, 2556.
วรทัศน์ วัชรวสี.ประชาชาติอาเซียน. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2533.