สงครามอินโดจีน เป็นสงครามที่ก่อให้เกิดความทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสในหมู่ประชาชนของ 3 ประเทศได้แก่ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ซึ่งสงครามนี้กินเวลายาวนานนับตั้งแต่ปี 1946 จนถึงปี 1991 โดยแบ่งได้เป็น 3 ช่วงเวลาดังนี้
ช่วงที่หนึ่ง เป็นช่วงเวลาของการสู้รบระหว่างกองกำลังฝรั่งเศสที่พยายามกลับมารื้อฟื้นอำนาจหลังสงครามโลกสิ้นสุด กับกองกำลังประชาชนของชาวเวียดนามที่มีโฮจิมินห์เป็นผู้นำ ภายใต้การชี้นำของขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนาม ชนวนสงครามเกิดขึ้นมาจากข้อพิพาทในการควบคุมศุลกากรที่เมืองไฮฟองในเดือนพฤศจิกายน ปี 1946 ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นนั้น ได้ขยายลามเข้าไปในพื้นที่ของลาวและกัมพูชาด้วย สถานการณ์เช่นนี้เองได้สุมไฟสงครามเย็นให้เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ชาติมหาอำนาจต่างๆ ได้เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง โดยโซเวียตให้ความช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ขณะที่สหรัฐอเมริกาหนุนหลังรัฐบาลฝรั่งเศส สงครามอินโดจีนรอบนี้ดำเนินมาจนถึงจุดสูงสุดเมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้ในเดือนพฤษภาคม ปี 1954 บนสมรภูมิการรบที่เดียนเบียนฟู ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามในครั้งนั้นเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับการประชุมนานาชาติเรื่องอินโดจีน ที่จบลงด้วยข้อตกลงเจนีวาว่าด้วยอินโดจีน ในเดือนกรกฎาคม ปี 1954 มีผลให้แบ่งดินแดนเวียดนามชั่วคราวตามเส้นขนานที่ 17 โดยที่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามสามารถยึดพื้นที่ทางเหนือของเส้นขนาน และพื้นที่ทางใต้ก่อตั้งขึ้นเป็นสาธารณรัฐเวียดนามภายใต้รัฐบาลโงดินห์เหยี่ยม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา
ช่วงเวลาดังกล่าวทั้งลาวและกัมพูชาได้ถูกกำหนดเป็นรัฐเอกราชภายใต้รัฐบาลกษัตริย์ ยกเว้นเพียง 2 จังหวัดทางภาคเหนือของลาวที่อยู่ภายใต้การควบคุมของขบวนการประเทดลาว ซึ่งเป็นสาขาของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
ช่วงที่สอง เป็นสงครามที่สืบเนื่องจากช่วงที่หนึ่ง เริ่มต้นขึ้นในปี 1960 เมื่อมีการก่อตั้งแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติของเวียดนามใต้ ภายใต้ความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม สหรัฐอเมริกาซึ่งมุ่งต่อต้านอิทธิพลของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ได้เข้ามาสนับสนุนทั้งด้านการเงินและการทหารแก่รัฐบาลไซง่อน มีการทิ้งระเบิดทางภาคเหนือของเวียดนามพร้อมกับทำลายศูนย์กลางการเคลื่อนไหวในหลายเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ขณะที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์เวียดนามทำการสู้รบด้วยวิธีการรบแบบกองโจรอย่างเข้มแข็ง ช่วงเวลานี้ทั้งลาวและกัมพูชาได้กลายเป็นสมรภูมิรบในครั้งนี้อย่างเต็มตัว ส่งผลให้สหรัฐฯ ติดอยู่ในสงครามที่ถอนตัวไม่ขึ้น รัฐบาลวอชิงตัน ดีซีต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านจากทั้งภายในประเทศและความสูญเสียทางการทหารในหลายสมรภูมิ จนกระทั่งประธานาธิบดีลินดอน บี จอห์นสัน จำเป็นต้องเปิดการเจรจา และสหรัฐตัดสินใจถอนทหารอย่างเป็นระบบในสมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ในท้ายที่สุดการเจรจาได้บรรลุผลในปี 1973 ด้วยข้อตกลงสันติภาพปารีส และสหรัฐอเมริกาถอนทหารทั้งหมดเพื่อแลกกับการได้เชลยสงครามคืนมา
การสู้รบที่ดำเนินไปด้วยการชนะศึกในหลายครั้งของเวียดนามเหนือดังที่กล่าวมา ได้นำไปสู่การรวมประเทศอย่างเป็นทางการของเวียดนาม และก่อตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในเดือนกรกฎาคม ปี 1976
ขณะที่ในลาวเองก็ได้เกิดสนธิสัญญาในลักษณะคล้ายคลึงกันคือ ข้อตกลงเวียงจันทร์ว่าด้วยการฟื้นฟูสันติภาพและความปรองดองในลาวในปี 1973 โดยพรรคคอมมิวนิสต์ลาวได้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์และก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปี 1975 ขณะที่ในกัมพูชา รัฐบาลเจ้านโรดมสีหนุ ถูกโค่นล้มลงไป ด้วยการรัฐประหารของฝ่ายขวาที่มีสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลัง และเกิดเป็นสงครามกลางเมืองที่เวียดนามเข้ามาแทรกแซง ภาวะความโกลาหลเช่นนี้เปิดทางให้รัฐบาลเขมรแดงเข้ามามีอำนาจในเวลาต่อมา ภายใต้ชื่อรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตย
ในช่วงที่สามของสงครามอินโดจีน เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 1978 เมื่อกองทัพเวียดนามเข้ายึดครองกัมพูชา ความรุนแรงในช่วงเวลานี้เกิดขึ้น จากการเปลี่ยนดุลอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างชาติมหาอำนาจ กล่าวคือ จีนซึ่งได้หันมาร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและจีนตกต่ำลง เนื่องจากจีนเห็นว่ารัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามมีความใกล้ชิดสหภาพโซเวียตมากเกินไป ในช่วงเวลานี้เวียดนามต้องเผชิญกับปัญหายุ่งยากมากมาย อาทิ การตัดสินใจเข้าโจมตีรัฐบาลเขมรแดง(ปิด)และก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาในเดือนมกราคม 1979 ซึ่งนำไปสู่ความผิดพลาดหลายประการ นอกจากนั้นรัฐบาลที่เวียดนามจัดตั้งขึ้นมาก็ไม่ได้รับการรับรองจากนานาชาติ ยกเว้นเพียง รัฐบาลประเทศพันธมิตรของสหภาพโซเวียตเท่านั้นที่ให้การรับรอง
ขณะที่จีนเองก็ได้ทำ “สงครามสั่งสอน” เวียดนามในบริเวณภาคเหนือในปี 1979 ส่งผลให้เวียดนามต้องเผชิญกับแรงกดดันจากทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และชาติสมาชิกอาเซียนทั้งในทางเศรษฐกิจ การทหาร และการทูต นอกจากนี้เหล่าประเทศพันธมิตรในกลุ่มนี้ยังดำเนินการต่อต้านทหารเวียดนามที่ยึดครองกัมพูชา ด้วยการสนับสนุนเขมรแดงให้กลับมาเป็นหน่วยรบที่เข้มแข็งอีกครั้ง ความล้มเหลวจากการยึดครองกัมพูชาไว้ส่งผลให้เวียดนามตัดสินใจถอนทัพออกมาในปี 1989 และยอมรับการยุติปัญหาทางการเมืองโดยสหประชาชาติที่เกิดจากการประชุมนานาชาติว่าด้วยกัมพูชาที่ปารีส ในเดือนตุลาคม ปี 1991 อย่างไรก็ตาม ต่อมายังคงปรากฏสงครามภายในประเทศกัมพูชาขึ้นอยู่ประปรายในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ทว่าไม่ได้มีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์ต่อชาติมหาอำนาจเช่นในอดีตอีกต่อไป
อิทธิพล โคตะมี
กันยายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
ภูวดล ทรงประเสริฐ. 2535 .ประวัติศาสตร์อินโดจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย
ลีเฟอร์ ไมเคิล, 2548. พจนานุกรมการเมืองสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.แปลและเรียบเรียงโดย จุฬาพร เอื้อรักสกุล, บรรณาธิการโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์