สงครามเย็น เป็นสถานการณ์ตึงเครียดทางความคิดทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยกับฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ นั่นคือฝ่ายสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต เกิดขึ้นระหว่างปี 1947-1991 ซึ่งต่างฝ่ายต่างต้องการเอาชนะกัน แต่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันโดยตรง โดยมีวิธีการตอบโต้ด้วยวิธีการต่างๆ โดยไม่ใช้อาวุธต่อสู้กันโดยตรง แต่ใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อ การแทรกซึมบ่อนทำลาย การแข่งขันกันสร้างกำลังอาวุธ และแสวงหาอิทธิพลในประเทศเล็ก การทำสงครามตัวแทน การแข่งขันด้านเกียรติภูมิแม้แต่ในการแข่งขันกีฬาและอวกาศ
คำว่า สงครามเย็น เป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นนระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ปรากฏชัดเจนในปี 1947 เมื่อประธานาธิบดีแฮรี่ เอส ทรูแมน แห่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศ หลักการทรูแมน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 1947 เพราะสหรัฐอเมริกาต้องการให้ความช่วยเหลือประชาชนทั้งหลายที่กำลังต่อสู้เพื่อธำรงไว้ซึ่งเสรีภาพ นั่นหมายความว่าสหรัฐอเมริกาพร้อมที่จะสกัดกั้นแม้ว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังจะเป็นมหาอำนาจฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่างสหภาพโซเวียต
สาเหตุมาจากความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจทั้งสอง ที่ยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์และเขตอิทธิพล เพื่อครองความเป็นผู้นำของโลก โดยพยายามแสวงหาผลประโยชน์และเขตอิทธิพลในประเทศต่าง ๆ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ผู้ยิ่งใหญ่หรือผู้นำทางการเมืองของโลกในสมัยก่อน คือ อังกฤษ เยอรมัน ได้หมดอำนาจในภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
การทำสงครามตัวแทน เป็นการแทรกแซงโดยเฉพาะในประเทศเล็กที่มีความขัดแย้งและมีแนวความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันภายในอยู่แล้ว ซึ่งประเทศมหาอำนาจจะเข้าไปแทรกแซงและให้ความช่วยเหลือสนับสนุนคู่กรณีของแต่ละฝ่าย ทั้งด้านการเงิน อาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนการสนับสนุนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ และยังให้คำแนะนำต่างๆ แก่ผู้นำประเทศนั้นๆ จนทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นสงคราม เช่น สงครามเวียดนาม สงครามเกาหลี
ทิวาพร จันทร์แก้ว
สิงหาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
คึกฤทธิ์ ปราโมช. สงครามเย็น. พระนคร: บรรณาคาร, 2513
ศิริพร สุเมธารัตน์. วิถีโลก. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2552.
ธนู แก้วโอภาส. เหตุการณ์สำคัญที่สุดของโลกในศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2544.