ยุคภาวะฉุกเฉินแห่งมลายา (Malayan Emergency) เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1948- 1960 ซึ่งรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในมลายาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 1948 เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์ มลายาได้สร้างความยุ่งยากให้แก่รัฐบาลอาณานิคมและรัฐบาลสหพันธ์มลายูเป็นอย่างมาก ด้วยการนำเอาวิธีการต่างๆ ของการก่อการร้ายมาใช้ จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้นมา
หลังจากการถอนกำลังของจักรวรรดิญี่ปุ่น ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เศรษฐกิจของมาลายาได้รับความเสียหายอย่างมาก เกิดปัญหาการว่างงานและค่าจ้างที่ต่ำรวมไปถึงอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น บ่อยครั้งที่แรงงานมากมายนัดหยุดงานและรวมตัวกันเพื่อประท้วงระหว่างปี ค.ศ. 1946 - 1948 ในห้วงเวลาอันยากลำบากนั้น อังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของมลายูมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะฟื้นระบบเศรษฐกิจของแหลมมลายู ซึ่งรายได้จากการค้าดีบุกและอุตสาหกรรมยางเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบกับกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์มลายาซึ่งมุ่งโจมตีสวนยางและเหมืองดีบุก และมีความคิดที่จะก่อกวนเศรษฐกิจให้ปั่นป่วน พรรคคอมมิวนิสต์มลายาจึงได้ทำการเคลื่อนไหวไปในทางก่อการจลาจลอย่างเปิดเผย กลุ่มผู้ประท้วงได้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง ซึ่งรัฐบาลก็ได้มีมาตรการจับกุมและเนรเทศออกนอกดินแดน แต่ในทางกลับกันกลับกลายเป็นว่ากลุ่มผู้ประท้วงกลับแข็งข้อมากขึ้น และในวันที่ 16 มิถุนายน 1948 ชนวนเหตุได้ถูกจุดขึ้นเมื่อ 3 ผู้จัดการสวนชาวยุโรปได้ถูกฆ่าตายในเมืองซันกาย ซีปุด รัฐเปรัค
จากเหตุการณ์ที่กล่าวข้างต้น เป็นเหตุให้อังกฤษประกาศใช้มาตรการฉุกเฉินมาตั้งแต่ปี 1948 จากนั้นในเดือนกรกฎาคมภายใต้มาตรการฯ พรรคคอมมิวนิสต์มลายาและกลุ่มบุคคลคู่กรณีได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากร และตำรวจได้รับอำนาจในการจับกุมและกักขังบุลคลที่เป็นคอมมิวนิสต์และผู้ต้องสงสัยว่าให้การช่วยเหลือแก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้โดยไม่ต้องสอบสวน ในขณะนั้น พรรคคอมมิวนิสต์มาลายาซึ่งนำโดย จีนเป็ง ได้ถอยกลับไปยังชนบทและก่อตั้ง กองทัพปลดปล่อยชนชาติมลายา ขึ้น หรืออีกชื่อหนึ่งคือ กองทัพประชาชนปลดปล่อยมลายา ใช้การรบแบบกองโจร โดยมีเป้าหมายคือ กลุ่มอุตสาหกรรมและธุรกิจของเจ้าอาณานิคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกและยางพารา
ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1949 กองทัพปลดปล่อยชนชาติมลายา และพรรคได้ประกาศต่อสู้เพื่อจัดตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนมลายาซึ่งรวมสิงคโปร์ด้วย กองทัพปลดปล่อยชนชาติมลายาควบคุมโดยคณะกรรมการกลางทางการทหาร ที่ประกอบด้วยคณะปูลิตบูโร และบางส่วนของผู้บัญชาการทางทหารและตำรวจ สมาชิกที่มีอิทธิพลได้แก่ จินเป็ง เยืองโกว และ เลาลี โดยที่กองทัพปลดปล่อยมีทหารประมาณ 4,000 คนและเป็นหญิง 10 เปอร์เซ็น แบ่งเป็น 10 ส่วน โดย 9 ส่วนเป็นกองกำลังชาวมลายาเชื้อสายจีน และอีก 1 ส่วนเป็นของชาวมลายูและชาวมลายาเชื้อสายอินเดีย ซึ่งส่วนสุดท้ายนี้ถูกอังกฤษทำลายไปเพื่อให้พรรคนี้เป็นพรรคของชาวจีน
กองทัพอังกฤษได้จัดให้มีการตั้งถิ่นฐานใหม่และให้ตำรวจอารักขาหมู่บ้านใหม่ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1951 อังกฤษได้ใช้นโยบายปิดล้อมให้อดอาหาร ซึ่งในบริเวณที่เป็นพื้นที่จำกัดอาหารจะให้ทำอาหารกินที่บ้านเท่านั้น ห้ามมีร้านอาหารหรือการขายอาหารในที่ทำงาน ร้านค้าถูกสั่งให้จำกัดการขายอาหารโดยเฉพาะอาหารกระป๋อง การเผาหมู่บ้านที่ต้องสงสัยว่าร่วมมือกับคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป วิธีการปิดล้อมและจำกัดอาหารส่งผลสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากในปี 1953 กองทัพปลดปล่อยชนชาติมลายาต้องประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารและในขณะเดียวกันจำนวนทหารก็ลดลงไปด้วย ดังนั้นการจัดตั้งพื้นที่เพื่อปลดปล่อยประชาชนมลายาต้องหยุดชะงักลง ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ต้องกลับมาดำเนินงานในฐานะพรรคการเมือง
ในเดือนกรกฎาคม 1955 มีการเลือกตั้งทั่วไปในมลายา และตวนกู อับดุลเราะห์มาน (Tuanku Abdul Rahamn) ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 กันยายาม 1955 จีนเป็ง จึงเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อต้องการเจรจาสันติภาพ และให้ได้รับการยอมรับ จากนั้นตัวแทนของรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์ได้ร่วมเจรจากันแต่หาข้อตกลงกันไม่ได้ ฝ่ายรัฐบาลต้องการให้สลายพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ทางพรรคคอมมิวนิสต์ปฎิเสธ และในปี 1956 จีนเป็ง ได้ติดต่อกับนายกรัฐมนตรีเพื่อขอเจรจาอีกครั้ง แต่ทางนายกรัฐมนตรีตวนกูอับดุลเราะห์มานได้ปฏิเสธการเจรจา
มาเลเซียประสบปัญหากับบ่อนทำลายของขบวนการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์มลายามาเป็นเวลานาน ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงได้ 2 ปี คือในปี ค.ศ. 1951 รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ และได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากในการปราบปราม จนทำให้ผู้ก่อการร้ายต้องหนีเข้ามาหลบซ่อนอยู่ในบริเวณชายแดนประเทศไทย- มาเลเซีย ยุทธวิธีและหลักการปฏิบัติของผู้ก่อการร้ายที่อยู่ตามชายแดนไทย- มาเลเซีย ได้ยึดเอาหลักการของ เหมา เจ๋อตง มาดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพในท้องถิ่น หลักการรบแบบกองโจรนี้คือ การต่อสู้จะต้องเป็นไปอย่างยืดเยื้อ เข้าควบคุมตามชนบทรอบนอกให้ได้ และวางข่ายข่าวอย่างกว้างขวาง ในทางทฤษฎียังเน้นหนักต่อไปว่า สงครามนี้จะสำเร็จได้ก็โดยการสนับสนุนช่วยเหลือจากประชาชน มีฐานปฏิบัติการกองโจรที่ตั้งถูกหลักยุทธศาสตร์เพื่อทำการฝึกและป้องกันตัว
เมื่อรัฐบาลเห็นว่าการคุกคาม การก่อการร้ายเพิ่มขึ้น จะประกาศภาวะฉุกเฉินการปฏิบัติในขั้นนี้รัฐบาลได้จัดตั้งระบบควบคุมพิเศษ เพื่อให้การปฏิบัติการปราบปรามในทุกระดับมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการภาวะฉุกเฉิน (The Emergency Operations Council) เพื่อประสานงานกับกำลังฝ่ายปราบปรามเข้าด้วยกัน
จากมาตรการปราบปรามที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลมาเลเซีย เป็นผลให้ผู้ก่อความไม่สงบได้หลบหนีเข้ามาอาศัยอยู่ตามชายแดนไทย และได้อาศัยพื้นที่ของไทยบางส่วน คือ ที่อำเภอนาทวี กับอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา อำเภอแว้ง กับ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อรัฐบาลมาเลเซียเห็นว่าควรจะได้ยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินได้แล้ว จึงได้ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 1960 รวมเวลาที่รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบตั้งแต่ ค.ศ. 1948- 1960 รวมเป็นเวลา 12 ปี
หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา การถอยร่นเข้ามาในประเทศไทย เพื่อการรักษากองกำลังมิให้ถูกทำลาย ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1960 -1989 จนกระทั่งสถานการณ์โลกเปลี่ยน สหภาพโซเวียตล้มสลาย รวมถึงประเทศยุโรปตะวันออก พรรคคอมมิวนิสต์จีนแผ่นดินใหญ่ตัดการสนับสนุนทุกด้าน ประกอบกับแนวนโยบาย 66/23 ใช้การเมืองนำการทหาร จึงนำไปสู่การเจรจาสันติภาพ 3 ฝ่าย ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ทางการไทยและสหพันธรัฐมาเลเซีย
โดยฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ยุติการต่อสู้ด้วยกองกำลังติดอาวุธ มีการสลายกองกำลัง และทำลายอาวุธ ซึ่งเป็นข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลมาเลเซีย รัฐบาลไทย กับพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา โดยการเจรจาสันติภาพ มีอยู่ 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 เป็นการเจรจาสันติภาพ ลงวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1987 ครั้งที่ 2 เป็นการเจรจาสันติภาพ ลงวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1987 และครั้งที่ 3 การเจรจาสันติภาพ ลงวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1989 ณ โรงแรมลีกาเด้น หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ถือเป็นหยุดติการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาอย่างเป็นทางการ
นูรุลฮูดา ฮามะ
กรกฎาคม 2559