เตเวแอร์อี (TVRI) เป็นสถานีโทรทัศน์และเครือข่ายสถานีวิทยุโทรทัศน์กระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งแรกของอินโดนีเซีย และมีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศ สถานีโทรทัศน์ของรัฐแห่งนี้ผูกขาดการกระจายสัญญาณโทรทัศน์แต่เพียงผู้เดียวมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งสถานีโทรทัศน์เอกชนรายแรกได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1989
เตเวแอร์อี หรือสถานีโทรทัศน์สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Televisi Republik Indonesia) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ปี 1962 หรือกว่า 50 ปีที่แล้ว หลังจากรัฐบาลอินโดนีเซียตัดสินใจควบรวมกิจการเครือข่ายสถานีวิทยุโทรทัศน์กระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อเตรียมพร้อมจัดกีฬาอาเซียนเกมส์ (Asean Games) ปี 1962 ในปีนั้นเองคณะกรรมการเตรียมความพร้อมการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์ก็ถูกตั้งขึ้น โดยประธานาธิบดีซูการ์โนสั่งการให้สร้างอาคารถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ที่เขตเสนายัน กรุงจาการ์ตา ในที่สุด เทเวแอร์อีทดลองออกอากาศครั้งแรก โดยตรงกับช่วงการถ่ายทอดสดพิธีเฉลิมฉลองวันประกาศเอกราช หลังจากนั้น ทางสถานีได้ออกอากาศถ่ายทอดสดพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาอาเชียนเกมส์ในวันที่ 24 ตุลาคม ปี 1962 สองปีถัดมารัฐบาลอินโดนีเซียเริ่มตั้งสถานีกระจายสัญญาณตามภูมิภาคต่างๆ ในเมืองใหญ่ๆ ของประเทศ ได้แก่ เมืองยอร์กยาการ์ตา เซอมารัง เมดาน สุราบายา มากัสซาร์ มาดาโน บาตัม ปาเล็มบัง บาหลีและเมืองบาลิกปาปัน โดยใช้ดาวเทียมปาลาปา (Palapa) ถ่ายทอดสัญญาณทั่วประเทศ แต่สัญญาณก็ยังไม่ครอบคลุมทั่วหมู่เกาะอินโดนีเซีย กระทั่งช่วงทศวรรษ 1990 รัฐบาลอินโดนีเซียสามารถปรับปรุงการถ่ายทอดสัญญาณไปทั่วประเทศได้อย่างกว้างขวางขึ้น
ช่วงแรกเทเวแอร์อีออกอากาศเพียงวันละครั้งหนึ่งชั่วโมง แต่หลังจากปรับปรุงประสิทธิภาพของอุปกรณ์ทางเทคนิคและมีจำนวนบุคลากรเข้ามาดูแลเพิ่มขึ้น จึงมีการขยายความยาวในการออกอากาศมากขึ้น เตเวแอร์อีออกอากาศข่าวทั่วไป ข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ ข่าวการศึกษาและรายการความบันเทิงโดยทั้งหมดภายใต้การควบคุมดูแลจากหน่วยงานรัฐ บทบาทดังกล่าวทำให้เทเวแอร์อีกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทำหน้าที่เผยแพร่อุดมการณ์และนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐไปสู่ประชาชนในประเทศ ตลอดจนเป็นเครื่องมือควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันทรงประสิทธิภาพของรัฐอีกด้วย ในปัจจุบันนี้ เตเวแอร์อี ซาตู (TVRI 1) เป็นช่องหลักของสถานี โดยออกอากาศวันละ 10 ชั่วโมง ถ่ายทอดรายการข่าว ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ เกมส์โชว์ และรายการทางศาสนา ในขณะที่ช่องเตเวแอร์อี ดัว (TVRI 2) ออกอากาศเผยแพร่สัญญาณเช่นเดียวกับช่องเตเวแอร์อี ซาตู หากแต่จำกัดเฉพาะในเขตตัวเมืองใหญ่ๆ ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 1989 รัฐบาลสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โตอนุญาตให้เอกชนเปิดช่องสถานีโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ได้ แม้ว่าเป็นการให้สัมปทานแก่เครือญาติและพวกพ้องพันธมิตรทางธุรกิจเช่าช่องสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์เตเวแอร์อี แต่ก็นำไปสู่การแข่งขันเพื่อผลิตและสร้างสรรค์เนื้อหาประจำช่อง เพื่อดึงดูดรายได้จากการขายโฆษณา ผลของความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้เทเวแอร์อีสูญเสียตลาดผู้ชมให้แก่ช่องสถานีโทรทัศน์ของเอกชนแห่งแรกอย่าง RCTI อย่างมาก ถึงแม้สถานีโทรทัศน์เอกชนต้องจ่ายค่าสัมปทานเช่าสัญญาณและแบ่งรายได้จากการขายโฆษณาก็ตามให้แก่เทเวแอร์อี แต่ความนิยมและรายได้ของสถานีโทรทัศน์เอกชนก็ยังสูงกว่ากันมาก เนื่องจากรายได้จากการขายพื้นที่โฆษณาของเตเวแอร์อีทำได้น้อยมาก เงินสนับสนุนส่วนใหญ่นับตั้งแต่ก่อตั้งสถานีจึงมาจากงบประมาณของรัฐบาล แต่หลังได้รับแรงกดดันจากสถานีโทรทัศน์เอกชนเพื่อให้เตเวแอร์อีหารายได้จากการขายโฆษณาด้วยตัวเอง เปลี่ยนโฉมหน้าจากช่องโทรทัศน์ที่ไม่แสวงหาผลกำไรไปสู่การเป็นสถานีโทรทัศน์เชิงพาณิชย์มากขึ้น ทำให้เทเวแอร์อีจึงต้องค่อยๆ เปิดรับการขายโฆษณา ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งของแรงกดดันดังกล่าวนั้น ก็เพื่อให้สถานีโทรทัศน์ของรัฐแห่งนี้เปิดเผยรายได้และค่าใช้จ่ายอย่างโปร่งใส รวมทั้งถอดถอนการมีอภิสิทธิ์เหนือช่องโทรทัศน์เอกชนรายอื่น ท้ายที่สุด เตเวแอร์อีจำต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ โดยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน การบริหารจัดการและสร้างแรงดึงดูดจากผู้ชมในประเทศ
หลังซูฮาร์โตลงจากอำนาจเมื่อปี 1997 และการเมืองอินโดนีเซียประกาศเข้าสู่ยุคปฏิรูป นับตั้งแต่นั้นมา เตเวแอร์อีจึงเริ่มมีอำนาจในการหารายได้จากการขายโฆษณาด้วยตัวเอง แต่ก็ถูกสถานีโทรทัศน์เอกชน ออกมาแสดงความไม่พอใจถึงความไม่เป็นธรรมที่เตเวแอร์อีได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาล และได้รับส่วนแบ่งรายได้การขายโฆษณาจากช่องสถานีโทรทัศน์เอกชนที่เช่าสัญญาณอีกด้วย ทั้งนี้ ความไม่พอใจดังกล่าวก็เป็นผลพวงมาจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1997 ที่ส่งผลให้สถานีโทรทัศน์เอกชนต้องค้างชำระหนี้แก่เตเวแอร์อีจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ดี หลังสิ้นสุดรัฐบาลเผด็จการซูอาร์โต บรรดานักเคลื่อนไหว ประชาชน และสื่อมวลชนได้เรียกร้องให้รัฐเปิดเสรีภาพในการแสดงออก ทำให้การผลิตเนื้อหาไม่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดเหมือนเช่นสมัยซูฮาร์โต ตลอดจนเปิดเสรีทางด้านสื่อที่ทำให้การแข่งขันระหว่างช่องโทรทัศน์ต่างๆ มีความเป็นธรรมมากขึ้น
สมัยรัฐบาลประธานาธิบดีอับดูร์เราะห์มาน วาฮิด (Abdurrahman Wahid) เทเวแอร์อีก็ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ทั้งหมด โดยถูกยกฐานะเป็นองค์กรอิสระเพื่อป้องกันจากการแทรกจากหน่วยงานรัฐ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำงานของเตเวแอร์อีมักถูกแทรกแซงโดยอำนาจรัฐอย่างเงียบๆ อยู่บ่อยครั้ง ความเป็นไปของเทเวแอร์อีในแง่นี้ดูเหมือนสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ของไทย ซึ่งถูกแทรกแซงและเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลที่เปลี่ยนไปทุกยุคสมัย ในขณะที่สถานีโทรทัศน์เอกชนในไทยดูเหมือนมีความอิสระโดยไม่ถูกเพ่งเล็งจากหน่วยงานรัฐน้อยกว่าสถานีโทรทัศน์เอกชนของอินโดนีเซียอย่างมาก ทั้งนี้ ก็เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่บ่อยครั้ง ตลอดจนการมีรัฐบาลเผด็จการทหารก้าวขึ้นสู่อำนาจ ซึ่งมักออกกฎระเบียบควบคุมเนื้อที่ผลิตออกมาของสถานีโทรทัศน์ต่างๆ อย่างเข้มงวด ความมืดมนทางเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้สมัยเผด็จการของไทย จึงเป็นการยากที่จะให้สื่อมีเสรีภาพจริงๆ อันเป็นพื้นฐานรองรับการสร้างสรรค์เนื้อหาหรือสาระข่าวสารที่มีคุณภาพได้
บัญชา ราชมณี
ธันวาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Jackson, K. D., & Pye, L. W. (Eds.). (1978). Political Power and Communications in Indonesia. Berkeley: University of California Press.
Kitley, P. (2000). Television, Nation, and Culture in Indonesia. Ohio: Ohio University Center for International Studies.
Thomas, A. O. (2005). Imagi-Nations and Borderless Television: Media, Culture and Politics Across Asia. New Delhi: Sage Publications.