มาฟิลินโด (Maphilindo) เป็นการรวมกลุ่มประเทศซึ่งประกอบด้วยมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งฟิลิปปินส์ริเริ่มขึ้นในช่วงการนำของอดีตประธานาธิบดีมากาปากัลของฟิลิปปินส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานงานและความขัดแย้งระหว่างรัฐที่ประกอบด้วยชนเชื้อชาติมลายู เพื่อร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ และการต่อต้านรัฐจักรวรรดินิยม
ฟิลิปปินส์รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำทั้งสามประเทศขึ้น ณ กรุงมะนิลา ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 1963 ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยประธานาธิบดีซูการ์โน แห่งอินโดนีเซีย นายกรัฐมนตรีตนกู อับดุล เราะห์มาน แห่งสหพันธรัฐมลายา และประธานาธิบดีมากาปากัลแห่งฟิลิปปินส์ ผู้นำทั้งสามประเทศร่วมลงนามในปฏิญญา เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 1963 ตกลงจัดตั้งมาฟิลินโดขึ้น ปฏิญญาดังกล่าวระบุถึงวัตถุประสงค์สำคัญขององค์การ นั่นคือ การธำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ฉันพี่น้องระหว่างประเทศสมาชิกในการเป็นกลุ่มประเทศโลกมลายู และการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้า และความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมไปจนถึงต่อต้านลัทธิอาณานิคมและจักรวรรดินิยมทุกรูปแบบ ด้วยการยึดมุ่นในหลักการของความเสมอภาคและการกำหนดการปกครองด้วยตนเองของประชาชนตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ
อย่างไรก็ตาม มาฟิลินโดก็ไม่สามารถดำรงสถานะความร่วมมือที่มั่นคงถาวรไปตลอดได้ เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียกับฟิลิปปินส์เกี่ยวกับดินแดนที่เรียกว่า ซาบาห์ในเขตบอร์เนียวเหนือ ที่ทั้งฟิลิปปินส์และมาเลเซียก็อ้างสิทธิในการครอบครอง สาเหตุของความขัดแย้งเริ่มต้นมาจากการผนวกดินแดนบอร์เนียว ซาราวัก มลายา และสิงคโปร์เข้าด้วยกัน กลายเป็นสหพันธรัฐมาเลเซีย เหตุการณ์ดังกล่าวนับว่าเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างฟิลิปปินส์และมลายา โดยเฉพาะดินแดนบอร์เนียวทางเหนือ ซึ่งก็คือ ซาบาห์ อันเป็นส่วนหนึ่งที่จะถูกผนวกเข้าเป็นสหพันธรัฐมาเลเซียเป็นดินแดนที่ฟิลิปปินส์อ้างสิทธิในการครอบครอง ทั้งยังเคยยื่นประท้วงต่ออังกฤษมาแล้วเมื่อปี 1962 ในขณะที่ดินแดนส่วนนี้ยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ นอกจากนั้นผู้นำฟิลิปปินส์ยังเล็งเห็นว่า หากความพยายามในการจัดตั้งสหพันธรัฐมาเลเซียบรรลุผลตามเป้าหมาย ฟิลิปปินส์ก็จะประสบปัญหาเกี่ยวกับการเรียกร้องดินแดนส่วนนี้คืนมา ดังนั้นฟิลิปปินส์จึงปฏิเสธการรับรองสหพันธรัฐมาเลเซีย
จนในที่สุดทั้งสองประเทศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกัน ในอีกด้านหนึ่งอินโดนีเซียโดยการนำของประธานาธิบดีซูการ์โนมองการจัดตั้งสหพันธรัฐมาเลเซียว่าเป็นเครื่องมือของจักรวรรดินิยม ในขณะที่มาเลเซียก็มองว่าอินโดนีเซียยืนอยู่ข้างสาธารณรัฐประชาชนจีนและเป็นภัยต่อความมั่นคงของมาเลเซีย ในที่สุดประธานาธิบดีซูการ์โนแห่งอินโดนีเซียได้ประกาศนโยบายเผชิญหน้า (konfrontasi) เพื่อต่อต้านมาเลเซีย และลงเอยด้วยการระงับความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน ด้านมาฟิลินโดจึงทำได้เพียงแค่มีคำประกาศการก่อตั้ง ยังไม่ทันจัดตั้งสถาบันใด ๆ เพื่อการดำเนินงานเพราะล้มไปพร้อมกับการเกิดขึ้นของสหพันธรัฐมาเลเซีย
ความล้มเหลวของมาฟิลินโดเกิดขึ้นจากสถานการณ์แวดล้อมซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการรวมตัวของประเทศสมาชิก นอกจากนั้นยังเป็นที่น่าสังเกตว่า จุดอ่อนของมาฟิลินโดนั้นเกิดจากจำนวนของประเทศสมาชิกที่มีอยู่อย่างจำกัดและไม่สามารถจะเพิ่มขึ้นได้เนื่องจากเงื่อนไขเกี่ยวกับเชื้อชาติ อันมีผลให้ขาดคนกลางที่มีสำนึกและคอยผสานผลประโยชน์ร่วมกันทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทเมื่อถึงยามจำเป็น
อาจกล่าวได้ว่า มาฟิลินโดประสบกับความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ที่ไม่สามารถพัฒนาความร่วมมือที่สร้างความเข้มแข็งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ แต่กระนั้นมาฟิลินโดมีส่วนเกื้อกูลต่อการก่อตั้งสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เนื่องจากสามารถชักชวนอินโดนีเซียซึ่งเดิมมุ่งให้ความสำคัญเฉพาะกับขบวนการกลุ่มประเทศเอเชีย-แอฟริกา ให้หันมาสนใจความร่วมมือระดับภูมิภาคเป็นครั้งแรก
ทิวาพร จันทร์แก้ว
สิงหาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
ณรงค์ โพธิ์พฤกษานันท์. อาเซียนศึกษา. กรุงเทพฯ: แมคกรอ-ฮิล, 2556.