ปีนังเป็นหนึ่งในสิบสามรัฐที่ประกอบขึ้นเป็นสหพันธรัฐมาเลเซีย และเป็นเมืองที่ได้รับการสถาปนาให้เป็นที่มั่นทางการค้าของอังกฤษเมืองแรกตั้งแต่ปี 1786 อาณาเขตของรัฐปีนัง ประกอบด้วยเกาะปีนัง และส่วนแผ่นดินที่เรียกว่า เซบารัง เพไร (Seberang Parai) โดยมีสะพานปีนังซึ่งมีความยาว 13.5 กิโลเมตรเชื่อมโยงพื้นที่สองส่วนไว้ด้วยกัน ขณะที่บนเกาะปีนัง มี จอร์จ ทาวน์ (Georgetown)เป็นเมืองหลวงและเป็นจุดศูนย์กลางอันร่ำรวยด้วยประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่ได้ลงหลักปักฐาน เกิดขึ้นจากการหมายมั่นปั้นมือของอังกฤษ ประเทศผู้ครองอาณานิคมในอดีต ที่ตั้งใจส่งให้ปีนังเป็นเมืองท่าของภูมิภาค โดยให้พ่อค้าชาวจีนได้ใช้เป็นฐานในการทำมาค้าขาย และสร้างระบบการศึกษาสำหรับลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล ทั้งในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น และเมื่อสอดรับกับเมล็ดพันธุ์ระบบการศึกษาที่อังกฤษได้วางไว้ ก็ยิ่งส่งให้ปีนังเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่ชนชั้นกลางผู้ร่ำรวยของจีน ปรารถนาจะส่งลูกหลานมาเรียนวิชาความรู้ที่นี่ ปีนัง ฟรี สกูล (Penang Free School) ซึ่งก่อตั้งในปี 1816 และถือเป็นโรงเรียนระบบอังกฤษที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่อยู่นอกประเทศอังกฤษจึงเต็มไปด้วยลูกหลานชาวจีนผู้มั่งคั่งทั้งที่เดินทางมาจากจีน ฮ่องกง และไทย ส่งผลให้ความคึกคักและความเจริญของปีนังก่อนยุคสงครามโลกแซงหน้าเมืองอื่นๆ ในภูมิภาค เพราะในยุคนั้นยังไม่มีการสถาปนาสิงคโปร์ขึ้นเป็นประเทศ ขณะที่เกาะฮ่องกงก็ยังคงเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส
แต่กระนั้นความรุ่งเรืองของปีนังในยุคนั้นก็เหมือนกระจุกตัวอยู่เพียงกลุ่มพ่อค้าชาวจีนกับนักธุรกิจและผู้ปกครองชาวอังกฤษ โดยไม่ได้กระจายไปยังชาวมาเลย์ ดังนั้น เมื่อมาเลเซียได้รับอิสรภาพในปี 1957กระแสชาตินิยมก็เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนปะทุเป็นการจลาจลในปี 1969 ทำให้รัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ และเปลี่ยนมาใช้ภาษามลายูแทน หลังจากนั้นโรงเรียนทุกโรงเรียนจึงเน้นการเรียนการสอนด้วยภาษามาเลย์ และลดความสำคัญของภาษาอังกฤษให้กลายเป็นวิชาหนึ่งเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนับเป็นจุดเริ่มต้นของการชะลอตัวด้านการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศและเป็นการเปลี่ยนจุดศูนย์กลางเศรษฐกิจไปอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ จนกระทั่งต้นทศวรรษ 1990 ผลพวงของการเดินหน้าสู่การเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจของเอเชียของนายกรัฐมน ตรีมหาธีร์ มูฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) ก็ทำให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจและโดดเด่นขึ้นในภูมิภาค ปีนัง ผู้มีต้นทุนสูงทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมจึงหวนกลับมาอีกครั้ง และเมื่อความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างเชื้อชาติและศาสนาได้กลับคืนมาสู่ปีนัง ความสงบนี้จึงเป็นฐานสำคัญสำหรับธุรกิจท่องเที่ยว เพราะผู้คนสามารถรื่นรมย์กับรสชาติอาหารที่หลากหลายได้อีกครั้ง ทั้งจีนฮกเกี้ยน เครื่องเทศร้อนแรงแบบมาเลย์ หรือสไตล์ตะวันตก ร่วมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้น ปีนังได้ก่อตั้ง Penang Skills Development Center (PSDC) ขึ้นในปี 1989 เพื่อเป็นสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานที่มีหลักสูตรอบรมและฝึกฝนด้านเทคนิควิชาชีพในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการของภาคการผลิตในปีนังอย่างครบถ้วน เพื่อเป็นการผลิตบุคลากรป้อนสู่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ โดยรัฐปีนังและบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนต่างให้การสนับสนุนกิจการของ สถาบันอย่างเต็มที่ทั้งในด้านเงินสนับสนุนและความรู้ความชำนาญ
นอกจากนี้ นโยบายการคืนความเจริญสู่เขตมาเลเซียตอนเหนือ หรือแผนพัฒนา "ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ" (Northern Corridor Economic Region-NCER) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างประโยชน์แก่ประชาชนราว 4.2 ล้านคนในพื้นที่ตอนเหนือใน 4 รัฐ ได้แก่ เคดาห์ เประ ปะลิส และปีนัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนยากจนในชนบทกับคนร่ำรวยในเมือง โดยนโยบายดังกล่าวถูกประกาศขึ้นและถือเป็นนโยบายหลักที่นายกรัฐมนตรีบาดาวี ใช้รณรงค์หาเสียงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งกลางปี 2008 เพื่อเน้นหาเสียงสนับสนุนจากกลุ่มคนในชนบทอันจะเป็นการรักษาที่นั่งในสภาให้ ได้มากที่สุด ซึ่งแผนพัฒนาภาคเหนือก็ได้ถูกขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายจะใช้เม็ดเงินทั้งหมด ประมาณ 50 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างงานใหม่ได้ราวหนึ่งล้านตำแหน่งภายในปี 2020 เพื่อทำให้แรงงานรุ่นใหม่ๆ สามารถทำงานอยู่ในบ้านเกิดได้โดยไม่ต้องออกไปหางานในเขตเมืองซึ่งรัฐบาลได้ วางแผนปฏิรูปด้านการเกษตรเพื่อยกระดับการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การปรับปรุงเทคนิคการผลิต การหาตลาดสินค้า การสร้างความแข็งแกร่งในภาคการผลิตด้วยนวัตกรรม รวมถึงการวิจัยและพัฒนา เพื่อเตรียมยกระดับทักษะแรงงานในท้องถิ่นให้สามารถผลิตสินค้าที่ใช้ เทคโนโลยีขั้นสูงได้ นอกจากนี้ ยังมีแผนจะสร้างโรงแรมใหม่ๆ และพัฒนาระบบสาธารณูปโภคด้านการขนส่งที่ดีขึ้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่นี้
แม้แต่ในด้านการขนส่ง เมืองปีนังยังรับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางเพื่อให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ด้วยการสร้างศูนย์กลางการขนส่งที่เมืองบัตเตอร์เวอร์ธดัวยงบประมาณราว 588 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการขยายท่าเรือและสนามบินปีนัง ตลอดจนการสร้างสาธารณูปโภคใหม่เพื่อเชื่อมโยงทั้งการขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางรถไฟเข้าด้วยกันให้เสร็จสมบูรณ์ภายใน 15 ปี เพื่อลดสภาพการจราจรที่แออัดบนเกาะปีนัง รัฐบาลเมืองจึงสร้างรถรางเดียวที่จะวิ่งผ่านย่านกลางเมือง โดยใช้รถโดยสารที่เรียกว่า Rapid Penang จำนวน 150 คัน ซึ่งจะช่วยพัฒนาระบบรถโดยสารสาธารณะให้สะดวกสบายมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐยังมีแผนที่จะสร้าง "ปีนัง โกลบอล ซิตี้ เซ็นเตอร์" ขึ้นเป็นชุมชนต้นแบบในเรื่องของมลพิษ ดำเนินการโดยอีไควน์ แคปิตอล บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของมาเลเซีย และได้สถาปนิกชาวอเมริกันที่เชี่ยวชาญมาดูแลในส่วนของการออกแบบให้เป็นมิตร กับธรรมชาติ ซึ่งในโครงการนี้จะมีช็อปปิ้ง คอมเพล็กซ์ โรงละคร และสวนพฤกษชาติอีกด้วย ขณะที่ในส่วนของการผลักดันภาคการผลิต รัฐบาลยังมีแผนจะสร้าง "ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์" ที่จะช่วยฝึกอบรมแก่คนในปีนังและเอื้อให้เกิดการวิจัยทางด้านนี้มากขึ้น เพื่อให้ศูนย์นี้ช่วยขยายภาคอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าไปพร้อมๆ กับการพัฒนาแรงงานท้องถิ่นให้สามารถผลิตสินค้าไฮเทคที่มีมูลค่าเพิ่มได้
ปีนังได้วางอยู่บนรากฐานขององค์ความรู้และระบบการศึกษาสมัยใหม่ การหลอมรวมวัฒนธรรมและประเพณีที่แตกต่างและระบบการบริหารจัดการของภาครัฐ กำลังรอให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดและอยู่ในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง
ปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข
กันยายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
นโยบายการพัฒนารัฐปีนังและเกาะลังกาวีเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตามแผนวิสัยทัศน์ 2020 ค.ศ. 1991 - 2009 (ธันวาคม 2552) โดย ศุภการ สิริไพศาล
George Town: Rebirth of an Old Town (01 June 2012) โดย AUSTIN BUSH จาก silverkris.com