วิกฤตการณ์กัมพูชา เป็นคำอธิบายช่วงเวลาหนึ่งของการเมืองกัมพูชาที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1969-1991 ซึ่งวิกฤตการณ์ดังกล่าวเต็มไปด้วยสงคราม การสู้รบ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และความอดอยากแร้นแค้นของประชาชนชาวกัมพูชา
จุดเริ่มต้นมาจากการที่กองทัพประชาชนเวียดนาม (กองทัพเวียดนามเหนือ) พยายามป้องกันฐานที่มั่นทางตะวันออกของกัมพูชาที่มีความสำคัญทางการทหาร ซึ่งที่นั่นจะทำให้เวียดนามเหนือสามารถโจมตีเวียดนามใต้ได้ง่ายขึ้น ทว่าเมื่อการรัฐประหาร 18 มีนาคม 1970 ในกัมพูชาเกิดขึ้น ได้ส่งผลให้รัฐบาลนิยมอเมริกาและต่อต้านเวียดนามเหนือขึ้นเถลิงอำนาจ ภายใต้ชื่อสาธารณรัฐเขมร ก่อนที่รัฐบาลสาธารณรัฐเขมรจะยุติความเป็นกลางในสงครามเวียดนาม ภายใต้การนำของรัฐบาลลอนนอล ได้มีการจัดตั้งกองทหารเพื่อกวาดล้างชาวเวียดนามราว 400,000 คนเพื่อเป็นการต่อต้านเวียดนามเหนือ มีการจับชาวเวียดนามไปเข้าค่ายกักกันแล้วฆ่าทิ้งภายหลัง
กล่าวได้ว่าหลังการรัฐประหารในปี 1970 นำมาสู่วิกฤตการณ์ในกัมพูชา ขณะที่ชนชั้นกลางส่วนใหญ่และชาวกัมพูชาที่มีการศึกษามีท่าทียอมรับการรัฐประหาร เนื่องมาจากการได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐและการมีกองทหารสหรัฐเข้ามาในประเทศป้องกันการรุกคืบของพรรคคอมมิวนิสต์
ในช่วงเวลาเดียวกันเจ้านโรดมสีหนุซึ่งเคยสนับสนุนนโยบายเป็นกลางทางการเมือง ก็ได้เดินทางไปยังปักกิ่ง และประกาศผ่านทางวิทยุเรียกร้องให้ประชาชนที่สนับสนุนพระองค์ออกมาประท้วงรัฐบาลลอนนอล ผลที่ตามมาพบว่ามีผู้ประท้วงออกมาในหลายจังหวัด และที่รุนแรงที่สุดคือจังหวัดกำปงจาม ในวันที่ 29 มีนาคม ฝูงชนได้สังหารลอน นิล น้องชายของลอนนอล กล่าวได้ว่าผู้ประท้วงเรียกร้องให้เจ้านโรดมสีหนุกลับมาในพนมเปญราว 40,000 คน ก่อนที่เหตุการณ์จะสงบลง และกลายเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธ
ในช่วงเวลานี้รัฐบาลลอนนอลได้นำกัมพูชาเข้าสู่สงคราม มีความพยายามติดต่อกับนานาชาติ รวมทั้งสหประชาชาติเพื่อให้สนับสนุนรัฐบาลใหม่ กองทัพของฝ่ายรัฐบาลซึ่งเรียกว่ากองทัพแห่งชาติเขมร (FANK) มีทหารส่วนใหญ่มาจากชาวกัมพูชาในเขตเมือง ระหว่างปี 1974-1975 กองทัพของฝ่ายรัฐบาลได้เพิ่มจำนวนจาก 100,000 คนจนถึง 250,000 คน ภายใต้การสนับสนุนจากกองทัพสหรัฐ ทั้งด้านอาวุธและยุทโธปกรณ์ให้แก่กัมพูชา นอกจากนั้นยังมีการส่งเจ้าหน้าที่ 113 คน เข้ามาสนับสนุนรัฐบาลพนมเปญในปี 1971
ระหว่างปี 1972-1974 สงครามกลางเมืองกัมพูชาได้เกิดขึ้นทางเหนือและทางใต้ของเมืองหลวง สภาวะดังกล่าวบีบให้รัฐบาลสาธารณรัฐเขมรต้องต่อสู้กับกองกำลังเขมรแดงที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน ขณะที่กลยุทธ์ของเขมรแดงนั้นต้องการตัดการติดต่อในทุกทางเพื่อโดดเดี่ยวพนมเปญ ในที่สุดกองทัพฝ่ายสาธารณรัฐเขมรจึงแตกพ่าย
เขมรแดงเริ่มโจมตีพนมเปญอีกครั้งเมื่อ 1 มกราคม 1975 ทำให้การขนส่งและการคมนาคมในสาธารณรัฐเขมรถูกตัด การเก็บเกี่ยวข้าวและการจับปลาทำได้น้อยลง ประชาชนในกรุงพนมเปญเพิ่มมากขึ้นและอดยากมากขึ้นพร้อมๆกัน มีผู้ลี้ภัย 6 แสนคนก่อนสงครามได้กลายมาเป็น 2 ล้านคน หนทางที่สาธารณรัฐเขมรจะได้รับความช่วยเหลือคือการขนส่งทางแม่น้ำโขงจากเวียดนามใต้ ต่อมาเมื่อเขมรแดงควบคุมแม่น้ำทั้งหมดไว้ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ สหรัฐจึงใช้ความช่วยเหลือทางอากาศ ทหารฝ่ายสาธารณรัฐเขมรยังคงสู้ป้องกันกรุงพนมเปญ จนกระทั่งในเดือนมีนาคม พบว่ามีทหารเขมรแดงราว 40,000 สามารถคนล้อมกรุงพนมเปญไว้ได้
หลังจากการสู้รบผ่านไป 5 ปี รัฐบาลฝ่ายสาธารณรัฐเขมรพ่ายแพ้ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 1975 เขมรแดงได้ประกาศตั้งรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตย โดยมีเจ้านโรดมสีหนุเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุน และนำไปสู่สงครามกลางเมืองที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชาโดยรัฐบาลเขมรแดงในเวลาต่อมา ประมาณการกันว่ามีผู้เสียชีวิตในการสังหารหมู่ครั้งนั้นกว่า 600,000-2,000,000 คน และมีจำนวนหลายหมื่นคนที่ยังสามารถข้ามเขตแดนไปลี้ภัยในประเทศไทย คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับการเป็นโรคขาดสารอาหาร และอีกว่า 100,000 คนเสียชีวิตในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา
ความยากลำบากของประชาชนชาวกัมพูชาดูเหมือนว่าจะไม่มีที่สิ้นสุด ในปี 1979 กองทัพเวียดนามได้บุกยึดพนมเปญ และจัดตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาขึ้นมา ค่ายผู้ลี้ภัยได้กลายมาเป็นที่พักพิงของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเวียดนามหลายกลุ่ม ฝ่ายที่ใหญ่ที่สุดคือนายพลซอน ซาน ขณะที่มหาอำนาจเช่นจีนและอเมริกาสนับสนุนพรรคกัมพูชาประชาธิปไตยให้มีตำแหน่งในสหประชาชาติ ขณะที่รัฐบาลทหารไทยก็ให้การสนับสนุนด้านอาหารและเครื่องนุ่งห่ม และสนับสนุนด้านการแพทย์แก่ทหารของพรรคกัมพูชาประชาธิปไตยที่พลัดถิ่น
ต่อมามีความพยายามจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีเจ้านโรดมสีหนุ ซอนซาน และพรรคกัมพูชาประชาธิปไตยขึ้นในปี 1981 และ 1982 ทว่ามีความล้มเหลว และกองกำลังทหารเวียดนามกว่าแสนคนยังคงอยู่ในกัมพูชา ความแข็งแกร่งดังกล่าวเห็นได้จาก ในปี 1983-1985 กองทหารของเวียดนามและสาธารณรัฐกัมพูชา สามารถขับไล่กองกำลังฝ่ายผสมกลับเข้าสู่ประเทศไทย และทำลายค่ายที่พักอาศัยของฝ่ายหลังนี้ได้ ต่อจากนั้นได้มีการเกณฑ์ประชาชนชาวกัมพูชาเรือนหมื่นเข้าวางระเบิดตามแนวพรมแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งนำมาสู่การสูญเสียของผู้คนนับพันในเฉพาะกรณีนี้ อย่างไรก็ตามการปกครองของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา ที่มีเวียดนามหนุนหลังก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากนานาชาติและภาวะความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เวียดนามจำต้องถอนทัพออกจากกัมพูชาไปในปี 1989
ในปี 1991 ข้อตกลงสันติภาพก็เดินทางมาบรรลุผล ผลจากข้อตกลงดังกล่าวบังคับให้มีการถอนกำลังทหารของเวียดนามออกจากกัมพูชาทั้งหมด และให้องค์การอันแทค ซึ่งมีที่มาจากที่ประชุมสหประชาชาติได้เข้าบริหารการเปลี่ยนผ่านในกัมพูชา ในช่วงเวลานี้ผู้ลี้ภัยกว่า 360,000 คนเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนา ค่ายลี้ภัยหลายแห่งทยอยปิดตัว ลง กัมพูชาจึงกลับค่อยๆกลับเข้าสู่การมีเสถียรภาพทางการเมือง
อิทธิพล โคตะมี
กันยายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
เดวิด แชนเลอร์; บรรณาธิการแปล พรรณงาม เง่าธรรมสาร. 2540. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์