รัฐสมาชิกอาเซียน หมายถึง ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีสิทธิในการตกลงลงนามหรือเข้าร่วมกับสนธิสัญญา รวมไปถึงแถลงการณ์และข้อตกลงทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันมีรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งหมดอยู่ 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ขณะที่ปัจจุบันมีสองรัฐที่อยู่ในขั้นตอนการเจรจารับเข้าเป็นรัฐสมาชิก คือ ปาปัวนิวกินีและกับติมอร์-เลสเต
ความพยายามก่อตั้งองค์การความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปรากฏขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 1961 ถูกริเริ่มโดย 3 ประเทศ คือ รัฐบาลไทย รัฐบาลมาเลเซีย และรัฐบาลฟิลิปปินส์ ทว่าได้มีการยกเลิกไป ต่อมาในวันที่ 8 สิงหาคม ปี 1967 ได้มีการลงนามใน "ปฏิญญากรุงเทพ" อาเซียนจึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีรัฐสมาชิกเริ่มต้น 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลต่อการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค รวมไปถึงความต้องการการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ในเวลาต่อมา บรูไนดารุสซาลาม ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกลำดับที่ 6 เมื่อปี 1984 ก่อนที่เวียดนามจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกลำดับที่ 7 ในปี 1995 ขณะที่ ลาวและพม่า ได้เข้าเป็นสมาชิกพร้อมกันเมื่อปี 1997 และ กัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกล่าสุดเมื่อปี 1999 ทำให้ในปัจจุบันมีรัฐสมาชิกอาเซียนรวมทั้งหมด 10 ประเทศ
กล่าวได้ว่าการตัดสินใจเข้าร่วมมือของบรรดารัฐสมาขิกอาเซียนตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา มีความผันผวนไปตามสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้เปลี่ยนผ่านจากสภาวะแห่งความตึงเครียดและการเผชิญหน้าในยุค สงครามเย็น มาสู่ความมีเสถียรภาพและความร่วมมืออย่างในปัจจุบัน
ผลที่ตามมาก็ทำให้อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และเป็นตัวอย่างของการรวมตัวของกลุ่มประเทศที่มีพลังต่อรองในเวทีการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ความก้าวหน้าของอาเซียนมีปัจจัยสำคัญจากความไว้ใจกันระหว่างรัฐสมาชิกอาเซียน อย่างไรก็ตามรัฐสมาชิกอาเซียนก็ยังคงต้องเผชิญหน้ากับปัญหาใหม่ที่แตกต่างออกไปจากยุคสงครามเย็น เช่น ปัญหาการก่อการร้าย ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ เป็นต้น
สำหรับเกณฑ์การรับเข้าเป็นรัฐสมาชิกอาเซียน คือ รัฐสมาชิกต้องปฏิบัติตามข้อตกลงลงนามหรือเข้าร่วมกับสนธิสัญญาแถลงการณ์และความตกลงทั้งหมดในอาเซียน ที่ได้เริ่มตั้งแต่ที่ระบุไว้ในปฏิญญากรุงเทพเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967 และที่เพิ่มเติมและพัฒนาขึ้นในสนธิสัญญาแถลงการณ์และความตกลงของอาเซียนในเวลาต่อมา และเพื่อจะได้รับการยอมรับเป็นรัฐสมาชิกอาเซียน รัฐนั้นจะต้องมีสถานเอกอัครราชทูตอยู่ในทุกประเทศสมาชิกในปัจจุบันของกลุ่ม
ขณะที่สถานะของผู้สังเกตการณ์นั้น อาเซียนได้มีข้อตกลงในปี 1983 ว่าควรมอบให้เฉพาะกับรัฐที่มีศักยภาพเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนที่เป็นไปตามเกณฑ์สมาชิกภาพอาเซียน โดยมีเกณฑ์ข้อหนึ่งระบุว่า มีเพียงรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนได้ มีข้อยกเว้นในกรณีของปาปัวนิวกินี ซึ่งอยู่ในฐานะสังเกตการณ์ได้ แม้ว่าจะเป็นประเทศที่อยู่นอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากว่าการรับรองปาปัวนิวกินี นั้นมีก่อนการใช้บังคับการตัดสินใจในปี 1983 ซึ่งจำกัดให้เฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นจึงจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มภูมิภาคได้
อย่างไรก็ตามปฏิญญากรุงเทพมิได้วางเงื่อนไขให้แก่รัฐสมาชิกแต่อย่างใด นอกเหนือไปจากว่าประเทศนั้นจะต้องตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหลักความสัมพันธ์ระหว่างรัฐโดยทั่วไป ดังนั้นอาเซียนจึงไม่มีเกณฑ์การรับรัฐสมาชิกที่เกี่ยวข้องกับลักษณะของรัฐบาล ระบบและทิศทางของอุดมการณ์ นโยบายเศรษฐกิจหรือระดับการพัฒนา หลายฝ่ายได้มีการประเมินกันว่าหากมีเกณฑ์ดังกล่าวมากำหนดสมาชิกภาพของรัฐสมาชิกแล้ว องค์การความร่วมมือในภูมิภาคคงไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแนวทางที่ว่ามาได้ทำให้รัฐสมาชิกมีความหลากหลาย ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคในการพัฒนาความร่วมมือในปัจจุบัน
อิทธิพล โคตะมี
กันยายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
เวทเทอบี, โดนัลด์ อี; เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ แปล.2558. อาเซียน: ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ: แสงดาว
สีดา สอนศรีและคนอื่นๆ.2558. อาเซียน: ประเด็นปัญหาและความท้าทาย. วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม