ระเบียบโลก เป็นคำนิยามการแบ่งแยกอำนาจและหน้าที่ของตัวแสดงทางการเมืองบนเวทีโลก ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โดยที่สหรัฐอเมริกามีผู้นำสำคัญในการกำหนดระเบียบโลกใหม่ขึ้นมา สำหรับกฎเกณฑ์ของระเบียบโลก ลิขิต ธีรเวคิน (2551) เสนอว่ามีกฎเกณฑ์ใหญ่ๆอยู่ 5 ประการด้วยกัน ได้แก่
1.การปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมหาอำนาจของโลกซึ่งได้แก่ยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกันเป็นผู้กำหนด และประกาศว่าโลกต้องมีการปกครองแบบ ประชาธิปไตย ถ้าไม่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยก็จะถูกคว่ำบาตรด้วยวิธีการต่างๆ
2.ต้องมีการเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ประเทศที่ไม่มีการเคารพสิทธิมนุษยชนก็จะถูกมาตรการต่างๆ บีบคั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการการค้า
3.การค้าเสรีซึ่งจะต้องงดเว้นการขึ้นกำแพงภาษี ปล่อยให้มีการลงทุนข้ามชาติอย่างเสรี ฯลฯ
4.การรักษาสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องโลกร้อน การป้องกันมลพิษ
5.การเคารพสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะต้องเคารพทั้งลิขสิทธิ์ศิลปกรรม วรรณกรรม สิทธิบัตรยา สิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ
สำหรับกฎเกณฑ์ที่กล่าวมาจะถูกกำหนดโดยสถาบันและองค์การระหว่างประเทศหลายองค์กรที่ถูกก่อตั้งขึ้นมา ได้แก่ สหประชาชาติซึ่งมีหน้าที่ดูแลสันติภาพ รวมทั้งประเด็นความยุติธรรมระหว่างประเทศ จะทำถูกรับผิดชอบโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ ธนาคารโลกจะทำหน้าที่ให้เงินกู้เงินเพื่อการพัฒนา และมีการก่อตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) องค์การการค้าโลก (WTO)
ในกรณีสหประชาชาติ สหรัฐฯคือหนึ่งในห้าของสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง และมีอิทธิพลอย่างสูงในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงดังจะเห็นได้ในกรณีสงครามเวียดนามและสงครามอิรัก ที่สหรัฐฯไม่นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ นอกจากนี้สหรัฐฯยังมีสิทธิที่จะวีโต้ได้ในคณะมนตรีความมั่นคง ในแง่นี้แล้วการเจรจาสันติภาหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างตกอยู่ภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ ที่กำหนดขึ้นโดยประเทศมหาอำนาจทั้งสิ้น
ในแง่ของการค้าเสรี (Free Trade) ได้เป็นถูกกำหนดขึ้นให้เป็นส่วนหนึ่งของระเบียบโลกใหม่ ประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถจะแข่งขันได้อย่างเต็มที่ในลักษณะเสมอภาคกัน หลายประเทศจึงเสียเปรียบเนื่องจากอำนาจในการผลิตและระดับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่ำกว่า คำว่า การค้าเสรี (Free Trade) ซึ่งหมายถึงการค้าเสรีจึงอาจจะไม่ใช่การค้าเสรีที่ยุติธรรมได้เช่นเดียวกัน
ในด้านเศรษฐกิจสหรัฐกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจตกต่ำหรือรุ่งเรืองของเศรษฐกิจโลก ถ้าสหรัฐฯ มีปัญหาทางเศรษฐกิจก็จะส่งผลเศรษฐกิจไปทั่วโลกยกเว้นประเทศที่ไม่ติดต่อกับสหรัฐฯ โดยตรง เช่น เกาหลีเหนือหรือพม่าในช่วงการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร ในกรณีประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศจำต้องซื้อเครื่องจักรอุตสาหกรรมต้องขายสินค้าเกษตรเป็นจำนวนมหาศาล ความพยายามที่จะฉีกตัวจากการผูกพันกับเงินเหรียญดอลลาร์สหรัฐกระทำได้ยากมาก ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องไปผูกพันกับเงินสกุลแข็งอื่น เช่น เงินยูโร เป็น
ในส่วนที่เกี่ยวกับอาวุธที่มีแรงทำลายสูง เช่น อาวุธนิวเคลียร์ ก็มีกติกาสำคัญที่กำหนดขึ้นโดยมหาอำนาจ ประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น อิหร่านไม่มีสิทธิที่จะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และถ้าหากมีข่าวว่าจะทำการผลิตอาวุธดังกล่าวก็อาจจะถูกโจมตีด้วยอาวุธที่มีอานุภาพทำลายสูง หรือยกกำลังทหารเข้าไปค้นหาอาวุธดังเช่นกรณีอิรัก เป็นต้น แต่ในขณะที่ห้ามมิให้อิหร่านผลิตอาวุธนิวเคลียร์นั้น สหรัฐฯเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์มากที่สุด ตามด้วยรัสเซีย จีน ฝรั่งเศส อินเดีย ปากีสถาน เป็นต้น
ระเบียบโลก จึงมุ่งสถาปนาอำนาจและรักษาไว้ซึ่งอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะประเทศตะวันตก อย่างสหรัฐอเมริกา ในปัจจุบันแนวคิดเรื่องระเบียบโลกถูกท้าทายอย่างมากจากแนวคิดพหุนิยมทางอำนาจ (multi-power system) ที่เติบโตอย่างมากในยุคหลังสงครามเย็น และกระแสโลกาภิวัตน์ที่นำมาสู่ปัญหาใหม่ๆ เช่นปัญหาการเคลื่อนย้ายของผู้คน ปัญหาการก่อการร้าย การปะทะกันทางวัฒนธรรมและอุดมการณ์ทางศาสนา เป็นต้น
อิทธิพล โคตะมี
กันยายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
ลิขิต ธีรเวคิน.ระเบียบโลก: ใครเป็นผู้กำหนด. ผู้จัดการออนไลน์ 23 กรกฎาคม 2551, http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000086750