พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มีนาคม 1955 โดยใช้ชื่อว่า “พรรคประชาชนลาว” ทำหน้าที่เป็นองค์กรแกนนำของแนวลาวฮักซาด หรือ ขบวนการประเทศลาว ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคประชาชนปฏิวัติลาวในปี 1972 มีกำเนิดขึ้นมาจากพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนที่ก่อตั้งในปี 1930 ก่อนจะสลายตัวเพื่อให้มีการจัดตั้งพรรคภายในแต่ละประเทศ
ในปี 1946 เมื่อฝรั่งเศสกลับมายึดลาวได้อีกครั้ง ภายหลังการถอนกำลังทหารของญี่ปุ่นออกไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การต่อสู้ของขบวนการลาวอิสระได้ระดมมวลชนชาวลาวลุกขึ้นต่อสู้กับฝรั่งเศส จนกระทั่งฐานที่มั่นฝ่ายต่อต้านได้ก่อตัวขึ้นในหลายพื้นที่ อาทิ การนำของไกสอน พมวิหาน ในวันที่ 20 มกราคม 1949 ซึ่งปรากฏเป็นรูปแบบของกองทัพลาวอิสระ ที่มีลักษณะเป็นกองทัพปฏิวัติ
วันที่ 13 สิงหาคม 1950 ที่ประชุมใหญ่ของขบวนการลาวอิสระ ได้เปิดประชุมขึ้นในแขวงหัวพัน โดยกำหนดแผนและวางแนวทางปฏิวัติให้เป็นเอกภาพในการต่อสู้เพื่อเอกราช และมีส่วนในการสร้างเงื่อนไขให้แก่ความพ่ายแพ้บนสมรภูมิเดียนเบียนฟูของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส จนฝรั่งเศสจำต้องลงนามในสัญญาเจนีวา ปี 1954
ในเวลาต่อมาได้มีการจัดประชุมใหญ่ของพรรคครั้งที่ 1 ณ เขตปลดปล่อยซำเหนือ โดยมี 25 สหายเข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นผู้แทนจากสมาชิกพรรคทั่วประเทศจำนวน 420 สหาย ที่ประชุมมีมติตั้งชื่อพรรคว่า "พรรคประชาชนลาว" เพื่อสืบทอดภารกิจของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนและวีรบุรุษที่ยอมเสียสละชีวิตเพื่อชาติ เป็นตัวแทนของชนชั้นกรรมกร และเป็นตัวแทนของแรงงานชนเผ่าต่างๆทั่วประเทศ ที่ร่วมต่อสู้เพื่อเอกราช
การประชุมครั้งนั้นได้มีการเลือกตั้งคณะนำของพรรค ประกอบไปด้วย ไกสอน พมวิหาน เป็นเลขาธิการคณะ และได้มีการวางนโยบายพื้นฐานและโครงการของพรรคออกเป็น 12 ข้อ อาทิ ต่อต้านจักรวรรดินิยมและลูกสมุน จนสามารถทำการขยายมวลชนให้ร่วมมือกับกำลังฝ่ายปฏิวัติปะเทดลาวได้
วันที่ 6 มกราคม 1956 ได้มีการจัดตั้งแนวลาวฮักซาดขึ้นโดยมีผู้แทนกว่า 200 คน ซึ่งเป็นการขยายแนวร่วมให้ล้อมรอบพรรค การประชุมดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อแนวลาวอิสระเป็นแนวลาวฮักชาด พรรคจึงได้นำประชาชนลาวบรรดาชนเผ่าเข้าปลดปล่อยในหลายพื้นที่ จนสามารถเปิดให้ฝ่ายขวาในลาวลงนามในสนธิสัญญาเวียงจันทน์ ได้ในปี 1957 เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมแห่งชาติครั้งที่ 1 โดยมีผู้แทนของแนวลาวฮักชาดเข้าร่วม
ผลจากปฏิบัติตามสนธิสัญญาเวียงจันทน์ พรรคได้นำกองทหาร 2 กองพัน คือกองพันที่ 1 และ 2 เข้ารวมกับรัฐบาลผสม ขณะที่กองกำลังที่เหลือของพรรคได้เดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาของแต่ละคน เพื่อทำการเคลื่อนไหวระดมเอาประชาชนเพื่อสนับสนุนการต่อสู้ทางด้านการเมือง แนวทางนี้ส่งผลให้กองกำลังปฏิวัติแผ่ขยายกว้างออกไปอย่างรวดเร็ว
ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้สร้างความหวาดกลัวต่อการเติบใหญ่ของกองกำลังปฏิวัติ จักรวรรดินิยมสหรัฐฯและสมุนจึงหันมาใช้ความรุนแรงด้วยการใช้กำลังอาวุธ เพื่อต่อต้านกองกำลังปฏิวัติของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และเข้าแทรกแซงกิจการภายในของลาว ในปี 1958 โดยใช้กลุ่มฝ่ายขวาของลาวโค่นล้มรัฐบาลผสม ก่อนจะยุติสนธิสัญญาเวียงจันทน์ 1957 มีการจับกุมคุมขังบรรดาผู้นำแนวลาวรักชาติ เข่นฆ่านักรบปฏิวัติของพรรค และปิดล้อมสองกองพันที่เข้ารวมกับรัฐบาลผสมลาว คือ ที่เชียงขวาง และทุ่งไหหิน
ภายใต้สถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น พรรคประชาชนปฏิวัติลาวจึงเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ใหม่ ในวันที่ 18 พฤษภาคม 1959 กองพันที่สองของพรรคได้ฝ่าวงปิดล้อมของศัตรูกลับสู่ฐานที่มั่นปฏิวัติได้ จากนั้นถึงเดือนพฤษภาคม ปี 1960 บรรดาผู้นำของแนวลาวฮักซาดได้หลบหนีออกจากค่ายคุมขังกลับสู่ฐานที่มั่นปฏิวัติได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จักรวรรดินิยมอเมริกาและฝ่ายขวาในลาวจึงเพิ่มความรุนแรงในการปราบปรามกองกำลังปฏิวัติอย่างหนักหน่วงขึ้นอีก
ทว่าผลในทางตรงกันข้ามคือ กลับสร้างความโกรธแค้นให้แก่ประชาชนในพื้นที่ชนบท และสร้างความขัดแย้งภายใน จนนำมาสู่การรัฐประหารในวันที่ 9 สิงหาคม 1960 ทำให้ขบวนการปฏิวัติลาวที่ชอกช้ำจากการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองอาวุธในระยะแรก สามารถหันกลับไปปรับปรุงและขยายฐานกำลังปฏิวัติซำเหนือและเน้นการต่อสู้ด้วยอาวุธได้กลับฟื้นตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วและดำเนินการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองได้อีกครั้งหนึ่ง
ในเวลาต่อมามีการเปิดประชุมพรรคอีกครั้งในวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ 1972 ที่เมืองเวียงไซ แขวงหัวพัน โดยมีผู้แทน 125 สหาย ที่เป็นตัวแทนให้แก่สมาชิกพรรค 21,000 สหาย กองประชุมได้วางหน้าที่พื้นฐานของการปฏิวัติลาว คือการสามัคคีประชาชนลาวบรรดาเผ่าเพื่อโค่นล้มจักรวรรดินิยมผู้รุกราน คือสหรัฐอเมริกา และชนชั้นศักดินา คือรัฐบาลฝ่ายขวาของลาว ที่ประชุมใหญ่ได้คัดเลือกคณะบริหารงานศูนย์กลางพรรค มี 23 สหาย คัดเลือกกรมการเมืองมี 7 สหาย และคณะเลขาฯ มี 4 สหาย ขณะที่ไกสอน พมวิหาน ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคอีกสมัย ในกองประชุมครั้งที่ 2 ได้เปลี่ยนชื่อพรรคประชาชนลาว เป็นพรรคประชาชนปฏิวัติลาวจนถึงปัจจุบัน
ในการประชุมพรรคครั้งที่ 2 นี้เอง พรรคสามารถทำให้สหรัฐฯและรัฐบาลราชอาณาจักรจำต้องลงนามในสัญญาเวียงจันทน์ ปี 1973 เพื่อฟื้นฟูสันติภาพและสร้างความปรองดองในลาว ในวันที่ 14 กันยายน ปีเดียวกัน ได้มีข้อตกลงในอนุสัญญาว่าด้วยการสร้างตั้งรัฐบาลประสมชั่วคราวแห่งชาติ และจัดตั้งคณะมนตรีผสมการเมืองแห่งชาติ โดยลงนามกันระหว่างสองฝ่ายที่นครเวียงจันทน์ ทำให้สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อในลาวกว่า 20 ปียุติลง บรรดาผู้นำแนวลาวรักชาติได้เข้าสู่นครหลวงเวียงจันทน์และหลวงพระบาง พร้อมๆกับการลุกฮือขึ้นยึดอำนาจของประชาชนได้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ขณะที่ในเวียดนามและกัมพูชาพรรคคอมมิวนิสต์ชนะในหลายสมรภูมิ ก็ได้สร้างความฮึกเหิมให้แก่พรรค
ในวันที่ 5 สิงหาคม 1975 ประชาชนลาวได้ทำลายอำนาจการปกครองของราชอาณาจักรได้ทุกแขวง ในวันที่ 23 สิงหาคม 1975 การร่วมชุมนุมของประชาชนลาวราว 20,000 คน ณ กรุงเวียงจันทน์ ถือเป็นการเปิดตัวฝ่ายอำนาจปฏิวัติในการชี้นำประชาชน เพื่อเตรียมการลุกฮือยึดอำนาจการปกครองในทั่วประเทศ ซึ่งสำเร็จในเดือนพฤศจิกายน 1975 เปิดทางให้การโค่นล้มอำนาจการปกครองในนครเวียงจันทน์ได้เป็นผลสำเร็จ
หลังจากประกาศตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 1975 ได้มีการแต่งตั้งเลขาธิการพรรคคนแรกคือไกสอน พมวิหาร ดำรงตำแหน่งจนเสียชีวิตในปี 1992 ที่ประชุมพรรคจึงได้เลือกคำไต สีพันดอน เป็นประธานพรรค คนต่อมา ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ปี 1992-2006 และที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8 ของพรรค ได้เลือกตั้ง จูมมะลี ไซยะสอน เป็นเลขาธิการคณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และเป็นประธานประเทศคนปัจจุบัน จนถึงวันที่ 22 มกราคม 2016 กองประชุมใหญ่ครั้งที่ 10 ของพรรค ได้เลือกตั้งท่าน บุนยัง วอละจิด เป็นเลขาธิการคณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ซึ่งเป็นรองประธานประเทศลาวคนปัจจุบัน แทนที่ท่าน จูมมะลี ไซยะสอน ประธานประเทศคนปัจจุบัน
อิทธิพล โคตะมี
กันยายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
มหาบุนมี เทบสีเมือง; ไผท ภูธา แปล.2556. ความเป็นมาของชนชาติลาว. เล่ม 3, อาณาจักรลาวล้านช้างตอนปลายและการก่อตั้ง สปป.ลาว. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ
สุวิทย์ ธีรศาศวัต. 2543. ประวัติศาสตร์ลาว 1779-1975. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์