พรรคประชาชนกัมพูชา เป็นพรรคการเมืองซึ่งมีที่มาทางโครงสร้างและแนวคิดมาจากพรรคปฏิวัติประชาชนกัมพูชาที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1979 พรรคนี้มีอิทธิพลอย่างสูงในรัฐบาลผสมที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1998 และมีอำนาจสูงสุดในกัมพูชาจนถึงยุคปัจจุบัน
ความเป็นมาของพรรคเริ่มต้นขึ้นเมื่อแนวร่วมสามัคคีประชาชาติกู้ชาติกัมพูชา สามารถเอาชนะรัฐบาลเขมรแดงได้ กองทัพของเวียดนามที่ยกพลข้ามพรมแดนกัมพูชาเข้ามาตั้งแต่ 25 ธันวาคม 1978 จนสามารถยึดพนมเปญจากเขมรแดงได้ในวันที่ 7 มกราคม 1979 ได้จัดตั้งรัฐบาล "สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา" ขึ้น ในนามพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา (KPRP) โดย เฮง สัมริน เป็นประธานแห่งรัฐ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1979-1992 สมาชิกของพรรคส่วนใหญ่ล้วนเคยเป็นสมาชิกของเขมรแดงที่หนีไปเวียดนาม ภายหลังจากที่ได้เห็นนโยบายที่ทำลายระบบสังคมของกัมพูชาด้วยลิทธิเหมาและนโยบายเกลียดชังต่างชาติ บุคคลเหล่านี้มีบทยาทก่พรรคในเวลาต่อมารวมทั้งเฮง สัมรินและฮุน เซนซึ่งเคยเป็นสมาชิกเขมรแดงโซนตะวันออกใกล้แนวชายแดนกัมพูชา-เวียดนาม ต่อเขาได้เข้าร่วมกับกองทัพเวียดนามในการโค่นล้มรัฐบาลเขมรแดง
อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถขับไล่รัฐบาลเขมรแดงที่โหดร้ายออกไปได้ การครองอำนาจของรัฐบาลพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชายังคงดำเนินไปอย่างยากลำบากท่ามกลางความถดถอยของกระแสสังคมนิยมในระดับโลก ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับนานาชาติ และความล้มเหลวภายในทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารของกัมพูชา ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980
ในเวลาต่อมา จัน ซี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นทั้งกรมการเมือง และมีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาเสียชีวิตเมื่อเดือนธันวาคม 1984 ทำให้ในเดือนมกราคม 1985 สมัชชาแห่งชาติซึ่งสมาชิกทั้งหมดประกอบด้วยตัวแทนของพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชาได้เลือกฮุน เซน ซึ่งในเวลานั้นเขามีอายุ 33 ปี มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี การดำเนินการของพรรคจึงได้มีจุดยืนและแสดงออกถึงท่าทีเปลี่ยนไป
พรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชามีแนวโน้มในการผ่อนปรนให้กับการถือครองทรัพย์สินของเอกชนมากขึ้น และปรับนโยบายเชิงสังคมนิยมของพรรคให้ลดลงในช่วงเปลี่ยนผ่านมาสู่พรรคประชาชนกัมพูชา กล่าวได้ว่าสถานะของการปฏิวัติสังคมนิยมในพรรคสิ้นสุดลงในเวลาต่อมา ฮุน เซนที่เป็นนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในพรรค และยังเป็นผู้นำของพรรคที่สืบเนื่องคือพรรคประชาชนกัมพูชา
ด้วยเหตุนี้แม้ว่าจะมีที่มาจากพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนาม พรรคประชาชนชาวกัมพูชาก็ได้ทิ้งอัตลักษณ์ ความเกี่ยวพันและอุดมการณ์เกี่ยวกับลักทธิมาร์กซ์ไว้เบื้องหลัง พรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา ภายใต้การนำของฮุนเซนแปรสภาพเป็นพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ในปี 1991 และเข้าร่วมเจรจาสันติภาพกับแนวร่วมเขมรสามฝ่ายที่มีพรรคฟุนซินเปก โดยสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เขมรแดง และแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร เข้าร่วมการประชุม ผลของการเจรจาครั้งนั้นนำมาสู่การเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชาได้ในปี 1993 และเปลี่ยนผ่านประเทศกลับมาเป็น "พระราชอาณาจักรกัมพูชา"
บทบาทของพรรคประชาชนชาวกัมพูชาสูงเด่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในการประชุมสมัชชาสมัยพิเศษเมื่อวันที่ 17-18 ตุลาคม 1991 ไม่กี่วันก่อนที่จะมีการรื้อฟื้นการประชุมนานาชาติว่าด้วยกัมพูชาที่ปารีส ฝรั่งเศส พรรคประชาชนชาวกัมพูชา เป็นผู้ลงนามในการยุติปัญหาทางการเมืองที่บรรลุผลในการประชุมครั้งนี้ โดยมีข้อสรุปว่ารัฐบาลกรุงพนมเปญจะยังคงรักษาการณ์ระหว่างการเปลี่ยนผ่านโดยการเลือกตั้งทั่วไป ที่จัดโดยองค์การสหประชาชาติ ในเวลานั้นพรรคซึ่งนำโดยเจียซิม ประธานสมัชชาแห่งชาติและฮุนเซน นายกรัฐมนตรีได้ร่วมมือกับอันแทค ใช้กำลังความมั่นคงคุกคามผู้สมัครเลือกตั้งฝ่ายตรงข้าม จนได้รับการเลือกตั้งจำนวน 51 ที่นั่ง เป็นอันดับสองรองจากพรรคฟุนซินเปก ของเจ้านโรดมรณฤทธิ์ ซึ่งได้ 58 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งปี 1993
ผลการเลือกตั้งนำมาสู่การโต้แย้งของพรรคประชาชนชาวกัมพูชา ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นในปลายเดือนตุลาคมแทน โดยฮุนเซนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่สอง ต่อจากเจ้านโรดมรณฤทธิ์ และเจียซิม ได้รับตำแหน่งประธานสมัชชาแห่งชาติ
ในช่วงเวลาดังกล่าวพรรคประชาชนชาวกัมพูชา ซึ่งมีอำนาจในกองทัพ ตำรวจ และการบริหารท้องถิ่น ได้ปฏิเสธการแบ่งอำนาจให้แก่กลุ่มอื่นๆ ท่าทีดังกล่าวจึงนำความตรึงเครียดมาสู่รัฐบาลผสมอีกครั้ง ในเดือนเมษายนปี 1997 ฮุนเซน สามารถจัดการผู้แปรพักต์จากเขมรแดงให้เข้าสู่การสนับสนุนตนเองได้ จนพรรคประชาชนชาวกัมพูชามีเสียงข้างมากในสภาได้ และในเดือนกรกฎาคม 1997 การรัฐประหารก็มาถึง ฮุนเซนขับเจ้ารณฤทธิ์ออกจากตำแหน่งและควบคุมอำนาจสูงสุดทางการเมืองไว้ได้ ภายหลังการเลือกตั้งในปี 1998 รัฐบาลผสมจึงถูกจัดตั้งขึ้นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ฮุนเซนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว ขณะที่เจ้ารณฤทธิ์ดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาแห่งชาติ พรรคประชาชนชาวกัมพูชาจึงได้ขึ้นครองอำนาจอย่างโดดเด่นและมีลักษณะอำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งนั้นมาจนถึงปัจจุบัน
อิทธิพล โคตะมี
กันยายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
ไมเคิล ลีเฟอร์. จุฬาพร เอื้อรักสกุล แปลและเรียบเรียง. 2548. พจนานุกรมการเมืองสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เดวิด แชนเลอร์; บรรณาธิการแปล พรรณงาม เง่าธรรมสาร. 2540. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์