ย่างกุ้ง(Rangoon) อดีตเมืองหลวงของสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า และเมืองหลวงของเขตย่างกุ้ง ปัจจุบันนี้ย่างกุ้งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศมีประชากรกว่า 6ล้านคน นอกจากนั้นยังเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ ถึงแม้ว่ารัฐบาลทหารพม่าจะทำการย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงเนปยีดอว์ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2549 ที่ผ่านมา
ย่างกุ้ง เป็นคำผสมที่เกิดจากคำว่า “ยาน” Yan ซึ่งมีความหมายว่า ศัตรู ข้าศึก กับคำว่า “โกน”kounซึ่งมีความหมายว่า หมดไป ซึ่งสามารถแปลได้ว่า “อวสานสงครามหรือสิ้นสุดสงคราม” แต่เดิมย่างกุ้งมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ดากอน” (Dagon) ซึ่งตรงกับในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 (พ.ศ.1571-1586) โดยชาวมอญซึ่งครอบครองพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่ของพม่าในขณะนั้น ในอดีตดากอนเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ซึ่งมีศูนย์กลางคือเจดีย์ชเวดากอง ต่อมาในปีพ.ศ.2298 พระเจ้าอลองพญา ได้บุกยึดดากอน พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น ย่างกุ้ง (Yangon)แต่ถึงกระนั้นในปี พ.ศ.2367 จากสนธิสัญญายันดาโบ อังกฤษสามารถยึดเมืองย่างกุ้งได้ในสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งแรก แต่หลังจากสงคราม อังกฤษก็คืนย่างกุ้งให้แก่พม่า ในปี พ.ศ.2384
ในสงครามระหว่างอังกฤษ-พม่าครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.2395อังกฤษยึดย่างกุ้งและส่วนล่างของพม่าทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง และได้พัฒนาย่างกุ้งให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการเมืองของพม่าโดยอังกฤษ (British Burma) ปี พ.ศ. 2400 อังกฤษได้สร้างเมืองย่างกุ้งใหม่โดยวางผังเมืองเป็นรูปตารางบนที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ มีพื้นที่ทอดยาวไปทางทิศตะวันออกจรดแม่น้ำพะซุนดวง (Pazundaung Creek) ทิศตะวันตกและทิศใต้จรดแม่น้ำย่างกุ้ง ย่างกุ้งกลายเป็นเมืองหลวงของพม่าหลังจากสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2428หลังจากนั้นเป็นต้นมา ประชากรและเศรษฐกิจในย่างกุ้งเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นผลให้เกิดการขยายตัวของเมืองไปทางทิศเหนือจรด รอยัลเลค หรือทะเลสาบ กันดอจี (Kandawgyi) และทะเลสาบอินยา (Inya Lake) นอกจากนี้อังกฤษยังได้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้น หนึ่งในนั้นคือ โรงพยาบาลย่างกุ้ง (Rangoon General Hospital) และวิทยาลัย ซึ่งก็คือ มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง (Rangoon University) ในปัจจุบัน
ผลจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษส่งผลให้ ย่างกุ้งมีการพัฒนารูปแบบของผังเมืองตามฉบับของอังกฤษ อาทิเช่น มีสวนสาธารณะและทะเลสาบในเมือง อีกทั้งยังประกอบไปด้วยอาคารที่ทันสมัยและสถาปัตยกรรมไม้แบบดั้งเดิม ทำให้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ "สวนเมืองแห่งทิศตะวันออก" (the garden city of the East) นอกจากนั้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ย่างกุ้งก็มีโครงสร้างพื้นฐานที่เทียบเท่าลอนดอนเลยทีเดียว
ย่างกุ้งนับได้ว่าเป็นชื่อเมืองหลวงของประเทศพม่าที่คนไทยคุ้นชื่อนี้มากกว่าเมืองอื่นๆของพม่า เนื่องจากเป็นเมืองที่มีความร่วมสมัย ผสานกับความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยราชวงศ์คองบองมาจนถึงยุคอาณานิคมของอังกฤษจนทำให้ย่างกุ้งกลายเป็นศูนย์กลางทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2395 มาจนถึงปัจจุบันที่ถึงแม้รัฐบาลทหารจะได้ประกาศให้เนปิดอว์เป็นเมืองหลวงแล้วก็ตาม แต่ย่างกุ้งก็ยังคงเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนมาจนถึงปัจจุบัน
ชิดพล ยชุรเวชคุณากร
มิถุนายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
โครงการเอเชียศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “พม่า”. เชียงใหม่: จุลสารเอเชียศึกษา, 2537.
สุพิน ฤทธิ์เพ็ญ. “เมียงมองเมืองม่าน : สัมผัสวิถีชีวิตอันหลากหลายในมัณฑเลย์ ย่างกุ้ง และหงสาวดี”.
เชียงใหม่: นพบุรีการพิมพ์, 2549.
หม่อง ทิน อ่อง. “ประวัติศาสตร์พม่า”. กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2519.