เขียว สัมพัน เป็นผู้นำคนสำคัญของเขมรแดงและมีบทบาทนำทางความคิดในหมู่ปัญญาชนของขบวนการ นอกจากนั้นยังเป็นโฆษกคนสำคัญของเขมรแดง ระหว่างปี 1976-1979 นอกจากนั้นเขาดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาเปรซิเดียมแห่งกัมพูชาประชาธิปไตย ทั้งยังดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐของกัมพูชาขณะอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดง เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้มีอำนาจระดับสูงของเขมรแดง รองจากพอล พต
เขียว สัมพันเป็นชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน เกิดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 1931 ที่จังหวัดสวายเรียง บิดาเป็นผู้พิพากษาในท้องถิ่น ด้วยความที่เป็นคนเฉลียวฉลาดและมีผลการเรียนที่ดีจนจบการศึกษาจากวิทยาลัยสีสุวัตถิ์ จึงได้ไปศึกษาเศรษฐศาสตร์และการเมืองการปกครองที่มหาวิทยาลัยปารีส และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี 1959 โดยวิทยานิพนธ์ที่เขาเขียนขึ้นมีข้อเสนอที่ว่าด้วยเศรษฐกิจของกัมพูชา ซึ่งเน้นความเป็นอิสระจากลัทธิทุนนิยมแบบตลาด จนกระทั่งในเวลาต่อมา เขาเดินทางกลับกัมพูชาทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยพนมเปญ ในช่วงเวลานี้เขียว สัมพันได้สื่อสารความคิดด้วยการตีพิมพ์จดหมายข่าวภาษาฝรั่งเศส ชื่อ L'Observateur เพื่อเผยแพร่แนวคิดสังคมนิยม ในหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้าย จนเป็นที่จับตามองของรัฐบาลเจ้านโรดม สีหนุ ซึ่งเป็นฝ่ายขวาและต่อต้านคอมมิวนิสต์
ในปี 1962 และปี 1966 เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ด้วยความที่ได้รับความชื่นชมจากการเป็นคนที่มีความซื่อตรงทางการเมือง เขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมพรรคสังคมของเจ้าสีหนุในปี 1963 และนโยบายเศรษฐกิจของเขาได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการชาตินิยมของรัฐบาล จนกระทั่งได้รับการวางตัวให้เป็นรองหัวหน้าพรรค เพื่อคานอำนาจกับลอน นอล ซึ่งเป็นฝ่ายขวาจัด และมีเสียงข้างมากในพรรคสังคม
ภายหลังการลุกฮือของประชาชนที่จังหวัดพระตะบองในปี 1967 นำมาซึ่งการกวาดล้างผู้มีความคิดนิยมฝ่ายซ้าย เขียว สัมพันได้หลบหนีออกจากเมืองหลวงพร้อมกับเพื่อนเข้าสู่เขตป่าชนบทเพื่อร่วมกับพอลพตในการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ต่อมาเมื่อเจ้านโรดมสีหนุถูกลอน นอลและหม่อมราชวงศ์สีสุวัตถิ์ สิริมตะทำรัฐประหารในปี 1970 เจ้าสีหนุเปลี่ยนจุดยืนมาสนับสนุนการต่อสู้ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ และตั้งรัฐบาลแนวร่วมแห่งชาติกัมพูชา (GRUNK) ขึ้นมา เป็นเวลาหลายปีที่เขียว สัมพัน ไม่ปรากฏตัวในที่สาธารณะอีกเลย จนกระทั่งปี 1973
เขียว สัมพันปรากฏตัวอีกครั้งและได้เข้าร่วมกับแนวร่วมแห่งชาติกัมพูชา ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองทัพปลดปล่อยเขมรและเป็นประธานสภาเปซิเดียม ในขณะที่อำนาจที่แท้จริงนั้นอยู่ที่พอล พต และดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐต่อจากเจ้านโรดมสีหนุในปี 1976 และอยู่ในตำแหน่งนี้ท่ามกลางนโยบายกวาดล้างภายในประเทศอย่างรุนแรงของรัฐบาลเขมรแดง จนกระทั่งการบุกยึดกัมพูชาของเวียดนามในปี 1978 เขาหลบหนีไปที่ปักกิ่งและมีบทบาทสำคัญทางการฑูตให้แก่รัฐบาลที่ชื่อว่ากัมพูชาประชาธิปไตย โดยรัฐบาลนี้ยังคงมีที่นั่งในสหประชาชาติ และเมื่อมีการก่อตั้งรัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตยในปี 1982 เขาได้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดีที่ดูแลด้านการต่างประเทศ
กล่าวได้ว่าเมื่อเขมรแดงพ่ายแพ้ต่อกองทัพเวียดนามและเฮง สัมริน และออกจากอำนาจไปในปี 1979 เขียว สัมพันยังคงเป็นผู้นำอันดับสองรองจากพอล พต และได้รับเลื่อนขึ้นเป็นผู้นำเขมรแดงอย่างเป็นทางการในปี 1985 บทบาทของเขียว สัมพันในช่วงเวลานี้คือการเข้าร่วมเจรจาที่ผลสุดท้ายนำไปสู้ข้อสรุปการยุติปัญหาทางการเมืองของกัมพูชาในเวลาต่อมา ภายใต้ข้อตกลงในการประชุมนานาชาติว่าด้วยกัมพูชาในปี 1991 และในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน เขียว สัมพันเดินทางกลับกัมพูชา ในฐานะผู้แทนอาวุโสของเขมรแดงในสภาแห่งชาติสูงสุด เขาถูกฝูงชนที่จัดตั้งโดยรัฐบาลพนมเปญเข้าทำร้าย
ในเวลาต่อมามีความพยายามจัดการเลือกตั้งตามข้อตกลงปารีส เขาได้แถลงคัดค้านต่อการบังคับใช้ข้อตกลง และเดินทางออกจากพนมเปญในปี 1993 เพื่อประท้วงก่อนการเลือกตั้งที่เขมรแดงตัดสินใจคว่ำบาตร เมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ได้มาถึง ผลจากการเลือกตั้งนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลผสม บทบาทของเขียว สัมพันคือการเจรจาให้เขมรแดงมีฐานะเป็นที่ปรึกษาทว่ากลับไม่ประสบผลสำเร็จ ในเดือนกรกฎาคม ปี 1994 เขาเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเฉพาะกาลที่เขมรแดงจัดขึ้น และได้พยายามเจรจากับผู้แทนของเจ้านโรดมรณฤทธิ์ในปี 1997 แต่ไม่เป็นผล ซ้ำร้ายการเจรจาดังกล่าวนำไปสู่การก่อรัฐประหารของฮุนเซน จนกระทั่งกองกำลังเขมรแดงประกาศยอมแพ้อย่างเป็นทางการต่อฝ่ายฮุนเซน ในปี 1998 และเดินทางเข้ามอบตัวต่อรัฐบาลพนมเปญตามที่ฮุนเซนเคยให้คำมั่นสัญญาในเรื่องการนิรโทษกรรมแก่เขา
ผลในทางตรงกันข้าม เขียว สัมพันถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัวในปี 2007 เพื่อนำตัวขึ้นพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรสงคราม ที่ศาลพิเศษคดีอาชญากรสงคราม กรุงพนมเปญ ตามคำขอของสหประชาชาติ ในระหว่างการพิจารณาคดี เขียว สัมพันให้การยืนยันมาตลอดว่า ไม่เคยสั่งการในฐานะผู้นำเขมรแดงให้มีการสั่งฆ่าประชาชนชาวเขมร วันที่ 7 สิงหาคม 2014 ศาลพิเศษคดีอาชญากรสงครามของกัมพูชามีคำพิพากษาให้ เขียว สัมพัน และนวน เจีย จำคุกตลอดชีวิตในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเขมรกว่า 2 ล้านคนระหว่างปี 1975-1979
อิทธิพล โคตะมี
กรกฎาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
เขียว สัมพัน, อภิญญา ตะวันออก (แปล): ประวัติศาสตร์กัมพูชากับจุดยืนที่ผ่านมาของข้าพเจ้า. มติชนสุดสัปดาห์, ปีที่25 ฉบับที่ 1291, วันที่ 13 - 19 พฤษภาคม 2548, หน้า 45 - 46
ภูวดล ทรงประเสริฐ.2535.ประวัติศาสตร์อินโดจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย