จังหวัดอุดรธานี ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ห่างจากกรุงเทพฯ 564 กิโลเมตร มีประชากรประมาณ 1,540,000 คน ซึ่งรวมถึงชาวไทยเชื้อสายเวียดนามประมาณ 50,000 คน ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 ชาติ ในทางเศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านมูลค่าภาคเกษตรกรรม สูงสุดคือ ข้าวนาปี รองลงมาคือ ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และยางพาราตามลำดับ โดยเกษตรกรมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกยางพารา มากขึ้น
อุดรธานีเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เป็นศูนย์กลางการค้าขายสินค้าระหว่างประเทศลาว ไทย ตอนใต้ของจีน (ยูนนาน) และเวียดนาม โดยมีห้างร้านค้าปลีกขนาดใหญ่หลายแห่ง ทั้งยังมีสนามบินนานาชาติที่เชื่อมโยงกลุ่มอินโดจีน นอกจากนี้ อุดรธานียังมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การขยายตัวของเมืองอุดรธานีปรากฏให้เห็นผ่านราคาที่ดินที่ทะยานสูงขึ้น และโครงการคอนโดมิเนียมที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคนท้องถิ่นเดินทางมาทำงานในเมือง มีเริ่มกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวขนาดเล็ก
การเติบโตของจังหวัดอุดรธานีดำเนินไปภายใต้สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เริ่มตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็น ซึ่งผลักดันให้มีการก่อสร้างทางรถไฟจากขอนแก่นต่อเนื่องมายังอุดรธานี นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังให้การสนับสนุนการก่อสร้างถนนมิตรภาพ ซึ่งทั้งหมดทำให้การขนส่งสินค้าสะดวกรวดเร็ว ต่อมาในยุคสงครามเวียดนาม (1964-1974) รัฐบาลไทยได้อนุญาตให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานการบินที่อุดรธานี โดยวัตถุประสงค์ก็เพื่อลดต้นทุนในการขนส่งและลดระยะเวลาการบินของเครื่องบินทิ้งระเบิดจากไทย ไปยังเป้าหมายโจมตีในลาวและเวียดนาม ช่วงเวลาดังกล่าวมีทหารอเมริกาพำนักอยู่ที่ฐานบินอุดรธานีประมาณ 8,500 คน และมีคนไทยท้องถิ่นกว่า 10,000 คน ทำงานในฐานบินดังกล่าว ทำให้หน่วยธุรกิจและสถานบันเทิงขยายตัวโดยรอบ
จนเมื่อสิ้นสุดสงครามเวียดนาม รัฐบาลไทยได้ประกาศนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า โดยการส่งเสริมการค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของลาว ก็ส่งผลให้บริษัท กลุ่มทุนทั้งในและนอกประเทศ ตลอดจนความช่วยเหลือและการบริจาคจากประเทศต่างๆ ได้หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศลาวอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่จังหวัดหนองคายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับอุดรธานี ในปี 1989 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อุดรธานีจึงกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและส่งต่อสินค้าระหว่างลาวและไทย
ในปัจจุบัน จังหวัดอุดรธานีได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการเป็น “เมืองน่าอยู่ ศูนย์กลางอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ตามที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)มีเส้นทางเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านประกอบด้วย
- อุดรธานี-หนองคาย-นครหลวงเวียงจันทร์
- อุดรธานี-สกลนคร-นครพนม-เวียดนาม
ในส่วนการค้าชายแดน มีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าผ่านทางด่านจังหวัดหนองคาย ด่านท่าลี่ ด่านเชียงคาย จังหวัดเลย โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ไทยส่งออกไปฝั่งลาวคือ รถจักรยาน เสื้อผ้า น้ำตาลทราย เครื่องมือการเกษตร ยางพารา ผ้า สิ่งของอุปโภค-บริโภค ภาคธุรกิจในตัวเมืองอุดรธานี มีการร่วมมือกับกลุ่มทุนชั้นนำของเวียดนาม ในด้านอสังหาริมทรัพย์ การค้าปลีก การก่อสร้าง การบิน สถานบันเทิง การทำเหมืองแร่ รวมทั้งด้านการแพทย์ซึ่งจังหวัดอุกรธานีมีโรงพยาบาลเอกชนนานาชาติที่ให้บริการแก่ชาวลาวจำนวนมากในแต่ละปี
ด้านการท่องเที่ยวในประชาคมอาเซียน อุดรธานีมีจุดท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ คือ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อายุมากกว่า 4,000 ปี ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลกทางด้านวัฒนธรรม รวมทั้งยังมีทะเลบัวแดง ภูฝอยลม และมีวัด สถานปฏิบัติธรรมของพระอริยสงฆ์ที่เป็นที่นับถือของชาวไทยและชาวต่างชาติ เช่น หลวงตามหาบัว วัดป่าบ้านตาด เป็นต้น
การท่องเที่ยวของจังหวัดอุดรธานีตั้งอยู่บนความเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวอินโดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางอารยธรรม ไม่ว่าจะเป็นสายแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง-สะพานไทยลาว-นครหลวงเวียงจันทร์-เขื่อมน้ำงึม-เมืองหลวงพระบาง หรือสายอุดรธานี(หมู่บ้านโฮจิมินทร์)-สกลนคร-นครพนม-คำม่วน (ลาว) -เวียดนาม ซึ่งทุกสายนอกจากจะได้ศึกษาอัตลักษณ์ของแต่ละเมืองแล้ว ยังมีวัฒนธรรมประเพณีที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไทยกับลาว และเวียดนามได้เป็นอย่างดี
สิงหาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
แผนพัฒนาจังหวัดอุดรธานี 4 ปี (พ.ศ.2557-2560)
Thanadorn Phuttharak. “THE REGIONAL RAPID GROWTH CITY AND URBANIZATION IN THAILAND”
Faculty of Humanities and Social Sciences, Khon Kaen University, Thailand