เมืองประวัติศาสตร์อยุธยาตั้งอยู่บนเกาะเมืองอยุธยามีการศึกษาว่าได้มีการตั้งชุนชนอยู่อาศัยมาตั้งแต่ก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.1893 ทำเลที่ตั้งของอยุธยามีลักษณะเป็นเกาะรูปร่างคล้ายน้ำเต้า มีแม่น้ำล้อมรอบ 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี เป็นปราการธรรมชาติ ควบคู่กับกำแพงเมืองที่เป็นกำแพงอิฐ มีการวางผังเมืองที่มีทางเดินน้ำและทางระบายน้ำเชื่อมโยงกันทั้งเมือง เอื้ออำนวยต่อการเกษตรกรรม มีถนนดินและถนนปูอิฐ มีการสร้างสะพานข้ามคลองทั้งที่เป็นสะพานไม้และสะพานข้ามคลองหลายแห่ง โดยมีการสำรวจพบโบราณสถานทั้งภายในและภายนอกกำแพงเมืองกว่า 400 แห่ง โบราณสถานสำคัญ เช่นวัดมหาธาตุ ซึ่งมีลักษณะพระปรางค์แบบศิลปะขอม วัดพระศรีสรรเพชญ์ที่ใช้ประกอบพระราชพิธี วัดมเหยงค์ ที่มีโบสถ์ขนาดใหญ่รองรับพระสงฆ์ได้ราว 1,000 รูป วัดราชบูรณะ วิหารพระมงคลบพิตร วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม วัดใหญ่ชัยมงคล วัดพนัญเชิง วัดโลกยสุธาราม ฯลฯ อยุธยาเป็นราชธานีของไทยยาวนานกว่า 400 ปี ก่อนจะถูกโจมตีโดยกองทัพพม่า และหลังจากนั้นก็มิได้มีการสร้างเมืองขึ้นใหม่ในพื้นที่เดิม คงเหลือเฉพาะหลักฐานทางสถาปัตยกรรมเท่านั้น ในส่วนกำแพงเมืองส่วนที่เหลือได้มีการรื้อถอนอิฐเพื่อนำไปก่อสร้างกรุงเทพมหานครในเวลาต่อมา
ในยุคที่รุ่งเรืองถึงขีดสุด อยุธยามีจุดแข็งทั้งด้านการเมืองการปกครอง ระบบกฎหมาย ระบบสังคม ศาสนา และวิทยาการแขนงต่างๆ รวมทั้งด้านเทคโนโลยีการจัดการน้ำที่ก้าวหน้าและโดดเด่นแห่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้ อยุธยายังมีสถานะเป็นหนึ่งในชุมชนเมืองสากลที่มีขนาดใหญ่ทั้งในแง่ของการค้าและการฑูต ด้วยที่ตั้งที่อยู่ระหว่างอินเดียกับจีน และองค์ประกอบอื่นๆ ทำให้อยุธยาขึ้นมามีอิทธิพลในภูมิภาคแทนนครวัดที่กำลังเสื่อมถอยลง อยุธยาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าระดับภูมิภาคและระดับโลก มีการเจริญความสัมพันธ์ทางการฑูตกับชาติต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส อินเดีย ญี่ปุ่น จีน มีชาวต่างชาติจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ โปรตุเกส สเปน ฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เข้ามาอาศัยในอยุธยา บางส่วนเข้ามาเพื่อค้าขาย บางส่วนเข้ามาทำงานให้กับทางราชการ ในขณะที่บางส่วนเข้ามาเพื่อเผยแพร่ศาสนา
อิทธิพลของความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้ปรากฏให้เห็นผ่านทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ที่ผสมผสานระหว่างแบบแผนศิลปะดั้งเดิมที่ตกทอดมาจากยุคสุโขทัยและนครวัด ผนวกรวมเข้ากับรูปแบบที่หยิบยืมมาจากญี่ปุ่น อินเดีย จีน เปอร์เซีย และยุโรป
ด้วยหลักฐานทางอารยธรรมของเมืองประวัติศาสตร์อยุธยา ทำให้คณะกรรมการมรดกโลก องค์การ UNESCO ได้ประกาศให้พื้นที่แห่งนี้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ด้วยเหตุผลสำคัญคือ มีหลักฐานที่แสดงถึงยุคสมัยแห่งการพัฒนาศิลปะระดับชาติของไทยอย่างแท้จริง
ในด้านการอนุรักษ์เมืองประวัติศาสตร์อยุธยานั้น นอกเหนือจากบริเวณเขตอุทยานประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีการขยายขอบเขตเมืองมรดกโลกออกไปทั่วทั้งพื้นที่เกาะอยุธยา ซึ่งเป็นการรักษาความดั้งเดิมของเมืองและชุมชนโดยรอบไว้ นอกจากนี้ ยังมีการกระจายความร่วมมือในการอนุรักษ์ไปยังระดับท้องถิ่น และเปิดโอกาสให้กับ NGOs และกลุ่มผู้สนใจทั่วไปด้วย
ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังเมืองประวัติศาสตร์อยุธยาจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีการปั่นจักรยานชมโบราณสถานรอบเกาะซึ่งเป็นที่นิยม มีการขยายตัวของการท่องเที่ยวโดยรอบ เช่น การเปิดตลาดน้ำโบราณ การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ของโบราณต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกแห่งนี้
ความสำคัญของเมืองประวัติศาสตร์อยุธยาในฐานะมรดกโลกแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ปรากฏให้เห็นเด่นชัดจากการที่องค์การ UNESCO ประเทศไทย ร่วมกับสถาบันการศึกษาวิจัยด้านน้ำของ UNESCO ซึ่งตั้งอยู่ ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ และอีกหลายหน่วยงาน ได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่เมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้ ซึ่งสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางของไทยเมื่อปี 2554 ที่ทำให้พื้นที่ประวัติศาสตร์อยุธยาได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ภายใต้โครงการนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญจะวางรูปแบบการจัดการน้ำด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และพัฒนาแผนการป้องกันน้ำท่วมร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่น โดยสำนักงาน UNESCO ประเทศไทยได้ประกาศว่า การบรรเทาความเสี่ยงด้านภัยพิบัติถือเป็นวาระสำคัญลำดับแรกๆ ของคณะกรรมการมรดกโลก และเมืองประวัติศาสตร์อยุธยาจะเป็นเมืองมรดกโลกแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีแผนการบรรเทาปัญหาน้ำท่วม และจะเป็นตัวอย่างสำหรับเมืองมรดกโลกแห่งอื่นๆ ในภูมิภาคต่อไป
ภัสสร ภัทรเภตรา
สิงหาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
“Historic City of Ayutthaya” (http://whc.unesco.org/en/list/576)
“UNESCO launches project to develop a flood risk mitigation plan for Ayutthaya World Heritage site” (http://whc.unesco.org/en/news/1040/)
“อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา”(http://www.finearts.go.th/archae/index.php/parameters/km/item /อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา.html)